พาลูกเที่ยวไกลๆ เริ่มที่อายุเท่าไรดี?

สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อพาลูกเที่ยว ควรเริ่มพาไปเมื่ออายุเท่าไร มีความเสี่ยงอะไรต้องระวังบ้าง และคำแนะนำสำหรับการเดินทางแบบต่างๆ รถ เรือ เครื่องบิน
เผยแพร่ครั้งแรก 23 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
พาลูกเที่ยวไกลๆ เริ่มที่อายุเท่าไรดี?

ปัจจุบัน วิถีชีวิตคนเราเปลี่ยนไปจากอดีต การสื่อการและการคมนาคมที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม ก็ทำให้โลกดูเหมือนแคบลง ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็สะดวก การเที่ยวต่างประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ เพื่อจะมีโอกาสเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ ยิ่งหากเป็นพ่อแม่คนแล้วละก็ คงไม่อยากพลาดที่จะให้ลูกน้อยได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์นอกเหนือจากในห้องเรียนไปพร้อมๆ กันกับตัวเอง

พ่อแม่ที่มีประสบการณ์พาลูกไปท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่เล็กมักเผยแพร่ว่า การท่องเที่ยวมีผลกับพัฒนาการด้านสังคม เพื่อลูกจะได้มีประสบการณ์แปลกใหม่ พบผู้คนใหม่ๆ พบเจอสิ่งแปลกตา และฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น แต่ในปัจจุบันจะยังไม่มีตำราหรืองานศึกษาวิจัยใดบ่งชี้ชัดเจน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับคำถามที่ว่าควรจะพาลูกไปเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่อายุเท่าไรดีนั้น มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานและพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็ก ซึ่งอาจเป็นแนวทางช่วยคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจได้ แบ่งออกเป็นประเด็นๆ ดังนี้

  1. ความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางสุขภาพ
    เด็กเล็กนั้นยังมีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนแรก เด็กยังไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคใดๆ ได้เลย แม้จะมีภูมิคุ้มกันบางโรคจากมารดาอยู่บ้าง แต่ก็ยังเสี่ยงมาก และเป็นเดือนแห่งการจัดระบบชีวิตของลูกน้อย

    คงจะเป็นการลำบากพอสมควร หากพยายามจะพาลูกน้อยออกนอกบ้านในช่วงวัยนี้ ซึ่งไม่แนะนำ เนื่องจากไม่สะดวกในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องข้าวของมากมาย ไหนจะการหลับนอนไม่เป็นเวลา ซึ่งนอกจากไม่แนะนำให้ออกนอกบ้านแล้ว ยังควรต้องจำกัดผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยียนอีกด้วย

    เมื่อเด็กโตขึ้น อายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ วงจรชีวิตเริ่มเป็นเวลามากขึ้น ค่อยพาออกไปเที่ยวใกล้ๆ จะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ควรพาเด็กไปอยู่ในที่ชุมชนพลุกพล่าน แออัด และอย่าให้คนแปลกหน้าจับต้องตัวเด็กโดยไม่จำเป็น เพราะเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าใครมีเชื้อโรคใดแอบแฝงอยู่บ้าง

    สำหรับบางครอบครัวที่มีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานหรือเดินทางไกล เด็กอายุประมาณ 2 เดือนจะสามารถทนการโดยสารโดยเครื่องบินได้ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางตัวได้แล้ว มองในมุมของความเสี่ยงการติดเชื้อ เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีจัดว่าภาวะภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์  จึงพบอุบัติการณ์การติดเชื้อรุนแรงได้ ทั้งภาวะปอดบวมรุนแรง เยื่อหุ้มสมองอักเสบการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ RSV โรคติดต่อทางแมลง เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย โรคท้องเสียจากการเดินทาง เป็นต้น หากต้องการเดินทางจึงควรเตรียมการป้องกันให้ดี

    ในเด็กบางคนที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้อาหารบางชนิด โรคปอด โรคหัวใจ โรคลมชัก เบาหวาน หรือโรคอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเดินทาง เพื่อจัดเตรียมยาที่จำเป็นและฉุกเฉินให้ครบ เนื่องจากการเดินทางอาจทำให้โรคที่เด็กเป็นอยู่กำเริบหรือเลวร้ายลงได้ หรือถ้าเด็กมีภาวะเจ็บป่วยอยู่เดิม ยังรักษาไม่หาย เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ก็มีงานวิจัยที่แนะนำให้รักษาให้หายประมาณ 2 สัปดาห์ จึงค่อยเดินทางโดยเครื่องบิน
  2. พัฒนาการ การปรับตัว และการเรียนรู้
    หากวัตถุประสงค์ของการเดินทางนั้น คือเพื่อให้เด็กพานพบประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ลอง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกทั้งยังให้จำความได้ไปนานๆ ละก็ อายุ 3-5 ปี น่าจะเป็นวัยที่เด็กมีพัฒนาการด้านความจำเป็นอย่างดี มีพัฒนาการทางภาษาที่ดีมาก สามารถสื่อสารเข้าใจกับผู้ใหญ่ได้มากกว่าครึ่ง ตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ๆ และสนุกไปกับทริปที่ผู้ปกครองเตรียมไว้ให้ได้ รวมถึงมีกิจวัตรที่เข้าที่เข้าทาง สม่ำเสมอพอสมควร

    เด็กส่วนใหญ่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง เช่น แต่งตัว เข้าห้องน้ำเองได้ สามารถควบคุมอารมณ์และมีวินัยต่อตัวเองมากขึ้น ส่วนการปรับตัวนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคน ซึ่งพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงมักจะทราบได้ดีที่สุด

    ในเด็กที่เลี้ยงง่าย ก็มักจะปรับตัวได้ง่าย ส่วนในเด็กที่ใช้เวลามากกว่า ก็ไม่ควรพยายามไปปรับเปลี่ยนอะไรมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กเกิดภาวะเครียดได้ง่าย เช่น หากเด็กไม่เคยไปไหนไกลๆ แต่ต้องเดินทางไกล ใช้เวลานานๆ อาจลองเดินทางเปลี่ยนสถานที่ใกล้ๆ แล้วดูการตอบสนองของเด็กดูก่อน หรือควรเลือกเวลาทำกิจกรรมให้ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของเด็กมากที่สุด เช่น เลือกบินช่วงกลางคืนใกล้กับเวลานอน หรือมีการหยุดพักเป็นระยะ เป็นต้น
  3. ความปลอดภัยในการเดินทาง
    การโดยสารโดยเครื่องบิน ถือว่าปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบกับการคมนาคมแบบอื่น จริงๆ แล้ว ทารกที่แข็งแรงดีสามารถโดยสารเครื่องบินได้ตั้งแต่อายุ 7 วัน โดยมีใบรับรองแพทย์ แต่ก็ไม่ได้แนะนำ เนื่องจากมีความเสี่ยงอื่นๆ ข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว และยังทนต่อภาวะออกซิเจนต่ำไม่ได้ดี รอให้อายุ 2 เดือนขึ้นไปค่อยออกเดินทางจะเหมาะกว่า และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของทางสายการบินอย่างเคร่งครัด

    ทางสายการบินมักจะมีบริการพิเศษให้แก่เด็กเล็กโดยเฉพาะ เช่น มี Bassinet หรือเปลเด็ก ให้ทารก โดยมีข้อจำกัดคือ เด็กจะต้องอายุไม่เกิน 6 เดือน จะมีเกณฑ์กำหนดน้ำหนักและความยาวของเด็กที่ให้ขึ้นบินได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละสายการบิน และหากเด็กมีอายุหรือขนาดถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี ก็สามารถนำเบาะที่นั่งนิรภัยในรถยนต์ (Carseat) ซึ่งได้มาตรฐานของสากล ขึ้นเครื่องด้วยได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และเพื่อความมั่นใจ ควรตรวจเช็กรุ่นที่ใช้ได้กับทางสายการบิน ก่อนการเดินทางทุกครั้ง

    เด็กเล็กอาจมีปัญหาปวดหู งอแง ขณะเครื่องบินขึ้นหรือลง ให้แก้ปัญหาโดยให้เด็กดูดนมหรือน้ำ หากเด็กโตหน่อยก็ให้เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือกลืนน้ำลายบ่อยๆ ได้เหมือนผู้ใหญ่ การรับประทานยาอื่นๆ สำหรับกรณีนี้ไม่จำเป็น ส่วนในเด็กที่มีอาการเมาเครื่องบิน การรับประทานยาป้องกันก่อนเครื่องขึ้นประมาณ 30 นาที  จะสามารถลดความรุนแรงได้

ส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ หากว่าต้องการท่องเที่ยวเดินทางด้วยวิธีนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเบาะที่นั่งนิรภัย หรือที่เรียกว่า คาร์ซีท (Carseat) ซึ่งใช้ได้จนถึงอายุ 12 ปี หรือจนกว่าจะคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ได้

ผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กนั่งคาร์ซีทตั้งแต่เล็กๆ โดยให้ติดตั้งที่เบาะหลังคนขับ ซึ่งมีความจำเป็นมากและต้องเลือกให้เหมาะสมกับอายุและขนาดตัวของเด็ก คาร์ซีทมีหลายรุ่น การใช้คาร์ซีทที่ได้มาตรฐานจะช่วยลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเด็กได้อย่างมาก

นอกจากนี้ ควรตรวจสอบประตูรถด้านที่เด็กนั่งทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ว่าไม่สามารถเปิดหน้าต่างและประตูรถจากด้านในได้ หากเดินทางไกลมากควรหยุดพักเป็นระยะ เช่น ทุก 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เด็กเหนื่อยล้าเกินไป

สำหรับการท่องเที่ยวโดยจักรยานและจักรยานยนต์ ต้องเตรียมหมวกกันน็อคให้เด็กทุกครั้ง แม้จะเป็นระยะทางใกล้ๆ ก็ตาม 

การเดินทางทางน้ำ หรือใช้เรือโดยสารซึ่งมีการทำกิจกรรมทางน้ำ เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากที่สุด และการจมน้ำเป็นสาเหตุของการสูญเสียเด็กที่อยู่ในระดับต้นๆ ดังนั้นในเด็กเล็กแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำจะดีที่สุด แต่หากมีความจำเป็น ต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง และผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้คลาดสายตาตลอดการเดินทาง

ควรเตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องเดินทางไกลๆ หรือเที่ยวต่างประเทศ?

เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นการพาเด็กเดินทางไกลๆ นั้นจึงควรเตรียมตัวดังนี้

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมักพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานกันอยู่บ้างแล้ว แต่ในบางประเทศอาจมีโรคระบาดแปลกๆ บางโรค สามารถป้องกันโดยวัคซีนได้ แพทย์ก็อาจพิจารณาเพิ่มวัคซีนเสริม เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไทฟอยด์ ตับอักเสบเอ ไข้กาฬหลังแอ่น ไข้เหลือง

    ทั้งนี้ หากต้องเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง หรือที่คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยว ประมาณ 4 สัปดาห์ก่อนออกเดินทางเป็นอย่างน้อย เพื่อได้รับการป้องกันโรคอย่างถูกต้อง
  • ยาประจำตัว เด็กบางคนอาจมีโรคประจำตัว จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อจัดเตรียมยาประจำและยาฉุกเฉินที่จำเป็น และอาจต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อจะได้นำยาขึ้นเครื่องบินได้ นอกจากนี้ยาแก้เมารถ เมาเรือ และยากันแมลง ก็ควรเตรียมไปให้พร้อม
  • เลือกเที่ยวบินให้เวลาเหมาะสม ควรเลือกเที่ยวบินให้ใกล้เคียงกับเวลานอนของเด็กให้ได้มากที่สุด เพื่อง่ายต่อการปรับตัวเรื่องความแตกต่างของเขตเวลา และลดการเกิดเจ็ตแล็ก (Jet lag)
  • เตรียมอุปกรณ์กันแดด ได้แก่ ครีมกันแดด หมวก ร่ม  เนื่องจากเด็กผิวบางซึ่งไวต่อแสงแดด อาจเกิดภาวะผิวไหม้แดดได้ง่าย จึงควรจัดเตรียมอุปกรณ์กันแดดไว้ให้พร้อม ซึ่งปัจจุบันมีครีมกันแดดที่สามารถทาได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ใช้ทาก่อนออกแดด 2 ชั่วโมง และทาซ้ำบ่อยๆ หากต้องออกแดดจัด  
  • เตรียมการป้องกันเด็กพลัดหลง  สำหรับผู้ปกครองที่อาจไปกับเด็กคนเดียว เป็นเรื่องสำคัญควรมีเอกสารแสดงตัวตนของเด็กและผู้ปกครอง ป้ายชื่อ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของผู้ปกครองที่ตัวเด็ก หรือหากเป็นเด็กโตให้สอนเด็กไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้า รวมถึงต้องทำอย่างไร เมื่อเกิดการพลัดหลงกัน หรืออาจให้พกนกหวีดเผื่อฉุกเฉิน เป็นต้น 
  • เลือกที่พักที่ปลอดภัย ก่อนเลือกที่พักควรทราบข้อมูลอย่างละเอียด ว่ามีความเสี่ยงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เช่น ตกจากที่สูง ใกล้แหล่งน้ำ อยู่ในป่า เสี่ยงต่อสัตว์มีพิษ

โดยสรุป ผู้ปกครองสามารถพาเด็กเล็กที่ออกเดินทางได้ ที่อายุ 2 เดือนขึ้นไปเป็นอย่างน้อย และยิ่งพาไปตั้งแต่อายุน้อยเท่าไรยิ่งต้องดูแลสุขภาพให้ดี หากเตรียมการอย่างรัดกุมแล้ว การเดินทางก็จะกลายเป็นทริปที่เด็กและครอบครัวได้สนุกสนานกับประสบการณ์ใหม่ๆ และเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างที่ตั้งใจไว้แน่นอน


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
คู่มือสําหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอนวัยเด็กเล็ก 0-3 ปี ,ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
Pre-Travel Health Preparation of Pediatric International Travelers: Analysis From the Global TravEpiNet Consortium , Journal of the Pediatric Infectious Diseases Society, Volume 2, Issue 4, December 2013, Pages 327–334, https://doi.org/10.1093/jpids/pit023, https://academic.oup.com/jpids/article/2/4/327/911163
Michelle S. Weinberg, Nicholas Weinberg, Susan A. Maloney, Traveling Safely with Infants & Children (https://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2020/family-travel/traveling-safely-with-infants-and-children)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)