หอบหืด (Asthma) คือโรคที่เกิดจากหลอดลมหดตัวตีบแคบลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุผนังหลอดลม ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบตัน โดยเฉพาะเมื่อมีสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย เมื่อกล้ามเนื้อหลอดลมหดเกร็งตัว จะทำให้หายใจลำบาก และสูดหายใจได้ไม่เต็มปอด โรคหอบหืดนั้นพบได้ในคนทุกวัย และมักแสดงอาการเมื่อสัมผัสกับมลภาวะ ฝุ่นควัน อากาศแปรปรวน หรือออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก และหากอาการกำเริบรุนแรง ก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้
อาการของโรคหอบหืด
อาการของโรคหอบหืดอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค บางคนอาจมีอาการกำเริบเป็นช่วงๆ เฉพาะเวลาได้รับสิ่งกระตุ้น หรือบางคนอาจมีอาการอย่างต่อเนื่องก็ได้ โดยอาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- หายใจลำบาก หายใจสั้นถี่ หรือเวลาหายใจมีเสียงวี้ด
- มีอาการไอเรื้อรัง โดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- เจ็บแน่นหน้าอก
- หอบเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแรง
สาเหตุของโรคหอบหืด
โรคหอบหืดเกิดจากกล้ามเนื้อหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้เกิดการหดเกร็งตัวจนตีบแคบได้ง่าย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด ได้แก่
- พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสเป็นหอบหืดได้สูง
- โรคภูมิแพ้ ผู้เป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจจะไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ อากาศเย็น ทำให้มีโอกาสแสดงอาการหอบหืดได้
- มีความเครียดสูง รวมถึงความแปรปรวนของอารมณ์ อาจทำให้จังหวะการหายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว และอาจเกิดกล้ามเนื้อหลอดลมหดเกร็งได้
- การสัมผัสกับสารเคมี เช่น ควันบุหรี่ ควันไอเสีย ยาฆ่าแมลง อาจกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหลอดลมตอบสนองผิดปกติได้
- ความผิดปกติในทางเดินหายใจ เช่น ติดเชื้อไวรัส เป็นไซนัสอักเสบ
- การออกกำลังกาย การออกแรงอย่างหนักและหักโหม อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบได้
ความรุนแรงของโรคหอบหืด
อาการของโรคหอบนั้นแบ่งได้เป็น 4 ขั้น ตามระดับความรุนแรงน้อยไปจนถึงมาก ดังนี้
ขั้นที่ 1 เป็นระดับเบื้องต้น ผู้ป่วยจะมีอาการหอบไม่เกินสัปดาห์ละครั้ง หรือไม่เกินเดือนละ 2 ครั้งในเวลากลางคืน และสมรรถภาพของปอดยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ขั้นที่ 2 ระดับความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการหอบมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง หรือมากกว่าเดือนละ 2 ครั้งในตอนกลางคืน
ขั้นที่ 3 ระดับความรุนแรงปานกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการหอบทุกวัน และหอบมากกว่าสัปดาห์ละครั้งในตอนกลางคืน จนอาการรบกวนชีวิตประจำวัน
ขั้นที่ 4 ระดับอาการรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการหอบเกือบตลอดเวลา และหอบบ่อยในตอนกลางคืน จนทำให้นอนหลับไม่ได้
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
สัญญาณอันตรายจากโรคหอบหืด
โรคหอบหืดเป็นโรคประจำตัวเรื้อรังที่จำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่หากใครที่มีอาการดังต่อไปนี้ แสดงว่าโรคหอบหืดดำเนินสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น และอาจเป็นอันตราย จึงควรรีบไปพบแพทย์
- เกิดอาการหอบบ่อยขึ้น หรือการหายใจแย่ลง หายใจได้ลำบากกว่าเดิม
- จำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาอาการบ่อยขึ้น และบางครั้งการใช้ยาก็ไม่ได้ผล
- มีอาการเหนื่อยหอบแม้ออกแรงเพียงเล็กน้อย
การรักษาโรคหอบหืด
การรักษาโรคหอบหืด จะเน้นการควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น และไม่ให้ส่งผลรบกวนชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ยารักษา ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม ยาที่ใช้ควบคุมและบรรเทาอาการหอบหืด ได้แก่
- ยาแก้อักเสบชนิดสเตียรอยด์ จะใช้ในรูปแบบยาพ่นหรือยาเม็ด ซึ่งยาชนิดนี้สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกวัย และบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับยาเม็ด หากทานเป็นประจำอาจมีผลข้างเคียงคือทำให้น้ำหนักขึ้น ฟันผุ ความดันสูง จึงมักไม่ใช้ติดต่อกันนาน แต่มักใช้ยาพ่นเข้าสู่หลอดลมซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า
- ยากลุ่ม Beta-agonist เป็นยาขยายหลอดลม ที่มักใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการเฉียบพลัน แต่ไม่ได้มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ยาชนิดนี้มีทั้งรูปแบบยาพ่น ยาน้ำ และยาเม็ด
- ยาอื่นๆ เช่น ยากลุ่มแซนทีน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ ขยายหลอดลม มักใช้ในผู้ป่วยหอบหืดเรื้อรัง รวมถึงยา Leukotriene Modifier Antagonist สำหรับบรรเทาอาการหอบ เป็นต้น
นอกจากการใช้ยาแล้ว สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการ เช่น มลภาวะ ฝุ่นควัน อากาศเย็น สารก่ออาการแพ้ สารเคมี และการออกแรงมากๆ รวมถึงหมั่นบริหารปอดและระบบหายใจ โดยการออกกำลังที่เหมาะสม เช่น การว่ายน้ำ
การป้องกันอาการหอบหืด
แม้การเกิดโรคหอบหืดจะยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ ก็สามารถควบคุมป้องกันไม่ให้อาการรุนแรง หรือกำเริบขึ้นได้ ดังนี้
- ดูแลสุขภาพไม่ให้ป่วยเป็นโรคในทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด โรคปอดบวม ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นอาการหอบหืด
- หลีกเลี่ยงสารกระตุ้น หรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ควัน ขนสัตว์ ละอองเกสร
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี และสารพิษ เช่น ควันบุหรี่ สารกำจัดศัตรูพืช
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ที่มีสารต้านการอักเสบ และดื่มน้ำสะอาดมากๆ
- รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
- ออกกำลังกายเพื่อบริหารปอดและระบบทางเดินหายใจ เช่น การว่ายน้ำ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกแรงมากๆ ซึ่งจะกระตุ้นอาการหอบได้