April 13, 2018 16:57
ตอบโดย
จินตนา แสงโพธิ์ (เภสัชกร)
หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันไปแล้ว ไม่สามารถใช้ยาคุมรายเดือนได้นะคะ เพราะผลในการป้องกันการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นไม่ทันสำหรับป้องกันแบบฉุกเฉินได้ค่ะ
ในกรณีนี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 2 วิธี ได้แก่
1. การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน
วิธีนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับวิธีคุมกำเนิดปกติ นั่นคือ แม้รับประทานยาคุมฉุกเฉินแล้วก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 15 - 25%
ให้รับประทานโดยเร็วหลังมีเพศสัมพันธ์ อย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว แต่การใช้เร็วจะมีอัตราการตั้งครรภ์ต่ำกว่า (ใช้ภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีอัตราการตั้งครรภ์ต่ำกว่าการใช้ที่เวลา 72 - 120 ชั่วโมง)
มีจำหน่ายในประเทศไทย 2 ชนิด คือ ชนิดที่มี 2 เม็ด/แผง ได้แก่ ยี่ห้อ โพสตินอร์, มาดอนนา, แมรี่ พิงค์, นอร์แพ็ก และ เลดี้นอร์ มีตัวยา Levonorgestrel เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม (รวม 2 เม็ดเท่ากับ 1.5 มิลลิกรัม) กับชนิดที่มี 1 เม็ด/แผง ได้แก่ ยี่ห้อ เมเปิ้ล ฟอร์ท มีตัวยา Levonorgestrel เม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม
สามารถรับประทานแบบครั้งเดียวทั้งแผง (ทั้งแบบแผงละ 1 เม็ด และแบบแผงละ 2 เม็ด) ให้ได้ตัวยา 1.5 มิลลิกรัมในครั้งเดียว หรือหากใช้ยี่ห้อที่มี 2 เม็ด/แผง จะแบ่งใช้ครั้งละ 1 เม็ด จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมงก็ได้ค่ะ
ไม่ว่าจะใช้ยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อใด หรือรับประทานแบบไหน ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันค่ะ
หลังรับประทานยาอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และปวดศีรษะได้ (แต่พบได้น้อย และมักไม่รุนแรง) อีกทั้ง ภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน อาจมีปัญหาเลือดกะปริบกะปรอย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงเด่นของตัวยา อาจเกิดขึ้น หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ไม่ว่าจะพบอาการเลือดกะปริบกะปรอยหรือไม่ ไม่ได้บ่งชี้ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่นะคะ เพราะอาการดังกล่าวเป็นเพียงผลข้างเคียงจากยาเท่านั้น
ส่วนประจำเดือนก็จะมาตามรอบปกติค่ะ อาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย นั่นคือ ไม่เร็วหรือช้ากว่าวันที่คาดไว้เกิน 7 วัน
2. การใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง
วิธีนี้ต้องไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อใส่ห่วงอนามัยให้นะคะ เป็นวิธีที่ใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินได้ หากใช้ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และมีผลคุมต่อเนื่องได้นาน 3 - 10 ปี ขึ้นกับรุ่นของห่วงอนามัยที่ใช้ มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก นั่นคือ มีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.6 - 0.8% เท่านั้น
แต่การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ อาจทำให้ปวดประจำเดือน, ตกขาว และเลือดประจำเดือนออกมาก ในช่วง 2 – 3 เดือนแรกหลังใส่ แต่ก็หายเองได้ค่ะ และข้อดีอื่น ๆ คือ ไม่ทำให้เกิดปัญหาเลือดกะปริบกะปรอยหรือขาดประจำเดือนเหมือนกับการฉีดยาคุมชนิด 3 เดือน, ยาฝังคุมกำเนิด หรือการใส่ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนค่ะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หนูมีเพศสัมพันธ์เมื่อวานค่ะควรกินยาคุมแบบไหนค่ะควรกินตอนไหน
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)