January 24, 2017 12:39
ตอบโดย
ฐิติพร ตั้งวิวัฒนาพานิช (พญ.)
เมื่อนานๆไปเราใช้งานเข่ามาก หรืออายุมากขึ้น กระดูกอ่อนที่เคยรองรับอยู่ก็กร่อนสึกไปเรื่อยๆ กระดูกชนกระดูกก็เจ็บค่ะ การชะลอการเสื่อมของข้อเข่าสามารถทำได้โดยงดเว้นท่าทางที่ต้องใช้เข่ารับน้ำหนักมาก เช่น คุกเข่า นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ ย่อเข่าเก็บของ ขึ้นบันได ยืนหรือเดินเป็นเวลานานๆติดต่อกัน หรือออกกำลังที่ต้องกระโดดเยอะ สำคัญอย่าลืมลดน้ำหนักควบคุมอาหาร เพราะยิ่งน้ำหนักมาก ข้อเข่าก็ยิ่งต้องแบกรับภาระน้ำหนักมากขึ้นไปด้วย หมั่นออกกำลังเพื่อบริหารกล้ามเนื้อและเอ็นรอบๆหัวเข่าและต้นขาให้แข็งแรงทดแทนข้อที่เสื่อมไป อาจเริ่มด้วยการใช้ถุงทราย ถุงพลาสติกถ่วงขวดน้ำมาแขวนไว้ที่ข้อเท้า แล้วนั่งเก้าอี้ ใช้ขาออกแรงยกน้ำหนักขึ้น ทำซ้ำๆทุกวัน วันละ 50 - 100 ครั้ง อาจค่อยๆเพิ่มน้ำหนักถ่วงด้วยค่ะ สำหรับการรักษานั้นเน้นไปที่การออกกำลัง กายภาพ การใช้ยาแก้ปวดชนิดกินหรือฉีดยาเข้าข้อ หากต้องการให้อาการปวดหายไปต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยแพทย์ศัลยกรรมกระดูก โดยแพทย์จะไถพื้นผิวกระดูกจริงออกแล้วใช้ซีเมนต์หล่อเป็นรูปข้อเทียมใส่เข้าไปแทน จะใช้เวลาพักฟื้นสักระยะหนึ่งหากยังอายุไม่ถึง 45 อย่าลืมไปตรวจเช็คสาเหตุอื่นๆด้วยนะคะ ถ้ามีอาการปวดข้อต่ออื่นๆร่วมด้วย อาจมีสาเหตุจากทั้งเก๊าท์ เก๊าท์เทียม รูมาตอย โรคภูมิแพ้ตัวเองต่างๆ แต่ต้องศึกษาท่าทางการออกกำลังอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของข้อเข่าค่ะ หากปวดมาก หรือน้ำหนักตัวมาก หรืออายุ 45 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น อาจจะหลีกเลี่ยงท่าออกกำลังที่ต้องใช้เข่า ท่าที่ต้องกระโดด ท่าสควอท หากอายุยังไม่เกิน 30 ปีควรเริ่มเสริมความแข็งแรงให้มวลกระดูกค่ะ ควรได้รับแคลเซียมวันละ 800 - 1500 มิลลิกรัมต่อวัน มีมากในนม นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ถั่วต่างๆ ชีส ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ ไม่ควรรับประทานเกินกว่านี้เพราะอาจทำให้ท้องผูก เกิดแคลเซียมสะสมเป็นตะกอนนิ่ว หรือสูงมากอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ค่ะ นอกจากนี้เพื่อให้แคลเซียมดูดซึมได้ดีควรได้ควบคู่กับวิตามินดีและฟอสฟอรัสค่ะ (เช่นจากเนื้อสัตว์ ถั่ว นม ไข โดยมากอาหารที่มีแคลเซียมสูงมักมีฟอสฟอรัสอยู่แล้วค่ะ) ส่วนเรื่องการดูแลกระดูกอ่อนรองข้อเข่า อาจเสริมด้วยอาหารที่มีซิงค์และวิตามินซีสูง เพราะสองตัวนี้จะช่วยเรื่องการสร้างคอลลาเจนอันเป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกายค่ะ (เนื้อเยื่อเกี่ยวพันก็คือเนื้อเยื่อจำพวกเอ็น กระดูกอ่อน ส่วนประกอบของผิวหนัง) หากอายุมากขึ้น อาจลดปริมาณการออกกำลังที่ต้องใช้ข้อเข่าเยอะลงนะคะ เพราะข้อเข่าจะเริ่มเสื่อมตามวัยอยู่แล้ว
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ถ้ายืนนานๆเป็นเวลา 9 ชม ต่อวัน ทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี จะรู้สึกปวดขาเวลากลางคืน ต้องหายามานวดตลอด ไม่ทราบว่าจะทำให้กลายเป็นโรคข้อเข่าเสื้อมไหมคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)