ก้าวร้าว ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว มีวิธีรับมือและจัดการอย่างไรบ้าง?

วิธีสังเกตว่าลูกแค่ก้าวร้าวตามวัย หรือก้าวร้าวแบบมีปัญหา พร้อมวิธีป้องกันและรับมือที่เหมาะสม
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ก้าวร้าว ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว มีวิธีรับมือและจัดการอย่างไรบ้าง?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เด็กก้าวร้าว หมายถึงเด็กที่ชอบกรี๊ด โวยวาย ทำลายข้าวของ หรือในเด็กที่โตหน่อยจะมีความก้าวร้าวทางคำพูด เช่น พูดทำร้ายจิตใจ ซึ่งถือเป็นความก้าวร้าวตามวัย
  • หากเด็กมีความก้าวเกิดขึ้นบ่อย หรือความก้าวร้าวมีความรุนแรงเกินวัย อาจเสี่ยงเป็นโรคจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิซึม โรคซึมเศร้า
  • สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งสารสื่อประสาท การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ การเลี้ยงดู เช่น ขาดการให้ความรักความผูกพัน มีเหตุการรุนแรงในครอบครัว
  • หากความก้าวร้าวไม่รุนแรง พ่อแม่อาจช่วยได้โดยสอนทักษะการแก้ปัญหา การเข้าสังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีกับลูก แต่หากลูกมีพฤติกรรมรุนแรงเกินวัย ควรปรึกษาแพทย์
  • ฉะนั้นเพื่อป้องกันปัญหาความผิดปกติที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ดูแลตัวเองให้ดีและฝากครรภ์กับแพทย์ (ดูแพ็กเกจฝากครรภ์ และคลอดบุตรได้ ที่นี่)

ลูกโวยวาย ดื้อซน ขว้างปาข้าวของเสียหายหรือโต้เถียงคุณพ่อคุณแม่อยู่เป็นประจำ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เด็กถูกมองว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดี

บางคนมีพฤติกรรมทำร้ายเพื่อน ทำข้าวของพังเสียหายเวลาไม่พอใจ ลักเล็กขโมยของ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กก้าวร้าวในสายตาของผู้พบเห็น

คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูอาจรู้สึกอับอาย กังวล และปวดหัวกับพฤติกรรมดังกล่าวได้

หากลูกของเรามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวตั้งแต่เด็กๆ และไม่ได้รับการดูแลแก้ไข เมื่อโตขึ้นอาจก่อพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่อสังคม ส่งผลกระทบด้านลบมากมายติดตามมา

แบบไหนถึงเรียกว่า เด็กก้าวร้าว?

ความก้าวร้าวที่พบในเด็กนั้นสามารถเห็นชัดเมื่อเด็กอายุประมาณ 2-3 ปี วัยนี้จะพบความก้าวร้าวทางร่างกาย เช่น เวลาไม่พอใจจะร้องกรี๊ด ขว้างปาสิ่งของ

เมื่อโตขึ้น ความก้าวร้าวทางร่างกายของเด็กจะค่อยๆ ลดลง ขณะที่ความก้าวร้าวทางคำพูดมีมากขึ้น เช่น การพูดทำร้ายใจจิตใจ ล้อเลียน นินทา ใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด

บางครั้งการแยกว่าเด็กมีความก้าวร้าวตามวัยกับความก้าวร้าวที่เป็นปัญหาทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม มีหลักในการดูว่าเมื่อไรที่ความก้าวร้าวนั้นเป็นปัญหาที่ต้องรีบจัดการแก้ไข ได้แก่

  • ความก้าวร้าวเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน
  • ความก้าวร้าวนั้นเกิดขึ้นบ่อยๆ
  • ความก้าวร้าวมีความรุนแรงเกินกว่าที่คาดว่าจะพบเจอตามระดับพัฒนาการปกติ

พฤติกรรมก้าวร้าวนั้นเป็นกลไกสัญชาตญาณที่แสดงถึงการต่อสู้เมื่อถูกคนข่มขู่รังแก หรือแสดงพละกำลังที่เรามีอยู่เพื่อเป็นการปกป้องตนเอง แต่บางครั้งก็กลายเป็นปํญหาที่รุนแรงตามมาได้

พฤติกรรมก้าวร้าวที่เป็นปัญหาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. พฤติกรรมก้าวร้าวชนิดหุนหันพลันแล่น (Impulsive หรือ Reactive aggression) เป็นพฤติกรรมที่ต้องการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น โดนเพื่อนวิ่งชนจนล้ม แล้วโกรธจึงไปชกต่อยเพื่อน
  2. พฤติกรรมก้าวร้าวชนิดไตร่ตรองล่วงหน้า (Premediatated หรือ Proactive aggression) เป็นพฤติกรรมที่ตั้งใจกระทำเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

นอกจากนี้ ปัญหาพฤติกรรมที่ก้าวร้าวอาจเป็นอาการที่แสดงถึงโรคทางจิตเวช ที่ผู้ปกครองต้องรีบให้การช่วยเหลือดูแล เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิซึม โรคซึมเศร้า เป็นต้น

ดังนั้นการจำแนกประเภทของความก้าวร้าวที่เป็นปัญหาจะนำมาซึ่งการหาสาเหตุรวมถึงวิธีการดูแลรักษาได้

ก้าวร้าว พฤติกรรมก้าวร้าว เกิดจากอะไร?

มีการศึกษาดูพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายพบว่า มีการแสดงออกที่แตกต่างกัน

เด็กผู้ชายมักแสดงความก้าวร้าวทางกายมากกว่า เช่น การพกอาวุธไปโรงเรียน ทะเลาะวิวาท ทำลายข้าวของ ส่วนเด็กผู้หญิงมีการแสดงความก้าวร้าวผ่านทางการใช้วาจา พูดล่อเลียน นินทา ไม่ให้เข้ากลุ่มหรือรังแกข่มแหงทางสื่ออิเล็กทรอรนิกส์ เป็นส่วนมาก

สาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นเป็นผลจากปัจจัยทางชีวภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ไม่มีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวโดยตรง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเด็กก้าวร้าว ได้แก่

1. ปัจจัยจากสารสื่อประสาท ฮอร์โมนระบบประสาท และโครงสร้างกายวิภาคของสมอง

เด็กจะมีความก้าวร้าวมากขึ้นได้ หากมีภาวะต่อไปนี้

  • มีระดับสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) สูง และระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ต่ำ
  • ได้รับบาดเจ็บหรือมีความผิดปกติบริเวณสมองส่วนพรีฟรอนทอลคอร์เท็กซ์ (Prefrontal cortex) หรือระบบลิมบิก (Limbic system) ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมยั้บยั้งตนเอง และการกระตุ้นทางอารมณ์ด้านความตื่นเต้น ความกลัว และความก้าวร้าว
  • มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นปริมาณมาก

2. ปัจจัยทางพันธุกรรม

กลุ่มอาการทางพันธุกรรมบางอย่างมีความสัมพันธ์กับความก้าวร้าว เช่น กลุ่มอาการ Cri du Chat, Fragile X syndrome, Angelman, Cornelia de Lange, Prader-Willi syndrome เป็นต้น

3. ปัจจัยทางจิต สังคม และสิ่งแวดล้อม

สิ่งต่อไปนี้มีผลทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้นได้

    • มารดาได้รับสารพิษขณะตั้งครรภ์ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
    • เด็กขาดความรักความผูกพันที่มั่นคงในช่วง 2 ปีแรกของชีวิต
    • เด็กถูกทอดทิ้งหรือถูกทารุณกรรม
    • มีเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็ก เช่น โดนทำร้ายร่างกาย มีการสูญเสียบุคคลที่รักโดยปราศจากคนช่วยดูแล
    • พื้นฐานอารมณ์ของเด็กเอง เช่น เป็นคนมีพลังเยอะ ว่อกแว่กง่าย ปรับตัวยาก โดนกระตุ้นจากสิ่งเร้ารอบตัวง่าย

4. ปัจจัยจากครอบครัว

ปัจจัยจากครอบครัว การเลี้ยงดู ก็มีผลให้เด็กก้าวร้าวได้ เช่น

    • พ่อแม่ขาดความรู้ มีระดับการศึกษาน้อย
    • แม่ตั้งครรภ์อายุน้อย มีบุตรจำนวนมาก
    • ครอบครัวมีปัญหาระหว่างกัน มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
    • เด็กถูกทำโทษด้วยการตี
    • พ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยวิธีตอบโต้ ใช้อำนาจ คำสั่ง และไม่ชัดเจน

5. ปัจจัยจากโรคอื่นๆ

เด็กก้าวร้าว บางครั้งอาจเกิดจากปัญหาทางด้านจิตเวชที่ส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น โรคสมาธิสั้น ดื้อต่อต้าน มีอารมณ์หงุดหงิดระเบิดอารมณ์บ่อยๆ โรควิตกกังวล โรคออทิซึม

ผลกระทบของพฤติกรรมก้าวร้าว มีอะไรบ้าง?

หากปล่อยให้เด็กมีความก้าวร้าวที่รุนแรง เมื่อโตขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับโรคจิตเวชในผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น ประสบปัญหาต่างๆ ในชีวิต มีทักษะการจัดการและการแก้ปัญหาที่ลดลง ขาดความควบคุมยั้บยั้งตนเอง เสี่ยงต่อพฤติกรรมที่ส่งกระทบด้านลบต่อตนเอง เช่น มีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น ใช้สารเสพติด ติดสุรา มีผลการเรียนที่ตกต่ำ ตกงาน พบการบาดเจ็บทางร่างกายเพิ่มมากขึ้น

เมื่อมีคู่สมรสอาจเกิดปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ มีความล้มเหลวในชีวิตคู่ นอกจากนี้ยังอาจก่ออาชญากรรมและทำผิดกฏหมาย ฆ่าผู้อื่นได้

วิธีการปรับพฤติกรรมก้าวร้าว รับมือปัญหาลูกก้าวร้าว

การปรับพฤติกรรมก้าวร้าว จัดการกับปัญหาลูกก้าวร้าวนั้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรพิจารณาว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นเป็นแค่พฤติกรรมก้าวร้าวตามพัฒนาการปกติ หรือเริ่มเป็นปัญหาที่ต้องรีบให้การแก้ไขดูแล

หากพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกยังเป็นไปตามพัฒนาการปกติ ไม่รุนแรง และไม่ได้เกิดบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูสามารถปรับการเลี้ยงดูโดยฝึกการจัดการพฤติกรรม (Parent management therapy) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทำให้ผลของการกระทำดีขึ้น เช่น

  • การใช้แรงเสริมทางบวกสำหรับพฤติกรรมที่เหมาะสม
  • เพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (ต้องเป็นพฤติกรรมที่ไม่รุนแรง หากเป็นพฤติกรรมที่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบจัดการทันที)
  • สอนให้ลูกมีทักษะการแก้ปัญหาทางสังคม
  • ฝึกทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น
  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก

หากพฤติกรรมก้าวร้าวหรือความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นที่โรงเรียนร่วมด้วย ควรพูดคุยกับทางโรงเรียนเพื่อช่วยวางแผนการดูแลรักษาร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม หากพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดตั้งแต่วัยเด็กเล็ก และผู้เลี้ยงดูสามารถควบคุมพฤติกรรมและจัดการกับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เด็กเติบโตเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่มีใช้รุนแรงต่อไป

เมื่อใดควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม?

สัญญาณเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินและให้การดูแลรักษาทันที

  1. พฤติกรรมก้าวร้าวเกิดเป็นระยะเวลานาน เป็นบ่อยๆ มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
  2. มีปัญหาการทำร้ายร่างกาย ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น
  3. เกิดความไม่ปลอดภัยในครอบครัว
  4. มีการกระทำผิดกฏหมาย เช่น ลักขโมย ทำลายทรัพย์สินเสียหาย

หากพบว่าการให้การช่วยเหลือโดยปรับพฤติกรรมไม่ทำให้พฤติกรรมก้าวร้าวลดลง แพทย์สามารถรักษาโดยการใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้

ดูแพ็กเกจฝากครรภ์ และคลอดบุตร เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Nelson Textbook of Pediatrics, Disruptive, impulse control, and conduct disorder
พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก, พฤติกรรมก้าวร้าว

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)