กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

สิวฮอร์โมน คืออะไร? หายเองได้ไหม? มีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง?

สิวฮอร์โมนมักเกิดกับทุกเพศทุกวัย ทำให้การรักษาเป็นสิ่งสำคัญ อ่าน 8 วิธีง่ายๆในการรับมือกับสิวฮอร์โมน
เผยแพร่ครั้งแรก 22 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 26 เม.ย. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
สิวฮอร์โมน คืออะไร? หายเองได้ไหม? มีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง?

สิวฮอร์โมน เกิดจากการที่ผิวหนังตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการมีรอบเดือน การตั้งครรภ์ ช่วงวัยรุ่น วัยทอง หรือภาวะสุขภาพบางอย่าง ทำให้สิวชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย วันนี้เราจึงนำ 9 เคล็ดลับที่ปลอดภัยสำหรับการรักษาสิวฮอร์โมนมาฝากกัน 

สิวฮอร์โมนเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ฮอร์โมนมีความเชื่อมโยงกับการเกิดสิว เป็นเพราะรูขุมขนของเรามีต่อมไขมันที่ผลิตซีบัม ซึ่งเป็นน้ำมันที่ทำหน้าที่เคลือบผิวให้หล่อลื่น ช่วยไม่ให้ผิวแห้ง แต่เมื่อระดับของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่และผลิตซีบัมออกมามากขึ้น ซึ่งการมีซีบัมมากเกินไป ประกอบกับเซลล์ผิวที่ตายแล้วบนผิว จึงทำให้รูขุมขนอุดตัน และเมื่อแบคทีเรียเข้าไปข้างในรูขุมขนพร้อมกับแบ่งตัว ก็จะทำให้เกิดสิวได้ในที่สุด 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจระดับฮอร์โมนวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 382 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ใครที่มักมีปัญหาสิวฮอร์โมน?

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ในช่วงวัยหนุ่มสาว ระหว่างตั้งครรภ์ ขณะมีประจำเดือน หรือในช่วงวัยทอง การมีสิวฮอร์โมนในช่วงเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ โดยในช่วงวัยเจริญพันธ์ุหรือวัยรุ่นนั้น มักก่อให้เกิดสิวในช่วงทีโซน (T-zone) ได้แก่ บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง ส่วนในวัยผู้ใหญ่มักพบสิวฮอร์โมนบริเวณใบหน้าส่วนล่าง เช่น แก้ม คาง และแนวสันกราม นอกจากนี้ บริเวณอื่นๆ ก็อาจมีสิวฮอร์โมนขึ้นได้เช่นกัน เช่น ตามลำคอ แผ่นหลัง ไหล่ หน้าอก โดยสิวที่เกิดขึ้นอาจอยู่ในรูปสิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวผดเล็กๆ หรือสิวซีสต์ก็ได้ 

วิธีรักษาสิวฮอร์โมนด้วยวิธีธรรมชาติ

การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยวัตถุดิบทางธรรมชาติเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลอดภัยและขึ้นชื่อว่าได้ผลดี ซึ่งวันนี้เราก็ได้นำ 9 วิธีที่ทำได้ง่ายๆ มาฝากกัน

1.ล้างหน้าอย่างอ่อนโยนวันละ 2 ครั้ง

การล้างหน้าตอนเช้าและตอนกลางคืนด้วยสบู่ที่อ่อนโยนช่วยให้สิวฮอร์โมนลดลงได้ นอกจากนี้ให้ควรทำความสะอาดใบหน้าหลังออกกำลังกาย หรือหลังทำกิจกรรมมาอย่างหนัก แต่ควรล้างหน้าอย่างอ่อนโยน และหลีกเลี่ยงการขัดหน้าอย่างรุนแรงหรือการถูผิวหนักมือเกินไป ซึ่งจะทำให้ผิวระคายเคือง และทำให้สิวฮอร์โมนบนใบหน้ามีสภาพแย่ลง ทั้งนี้ไม่ควรล้างหน้าเกินวันละ 2 ครั้ง และควรใช้น้ำอุ่นล้างหน้า ไม่ใช้น้ำร้อน

2.ทาชาเขียวช่วยลดสิวฮอร์โมน

ชาเขียวมีคุณสมบัติช่วยรับมือกับผิวมันและต่อสู้กับสิวฮอร์โมน โดยมีงานวิจัยพบว่า การทาชาเขียวเป็นเวลา 15 วัน สามารถช่วยลดการผลิตซีบัมได้มากถึง 27% เนื่องจากชาเขียวจะช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตซีบัมออกมามากขึ้น ทำโดยเพียงนำน้ำชาเขียวมาทาบริเวณที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดสิวฮอร์โมน นอกจากนี้ยังมีการทดลองพบว่าการผสมชาเขียวกับสารสกัดจากดอกบัว จะให้ผลดียิ่งขึ้นกว่าการใช้ชาเขียวเพียงอย่างเดียว

3.เช็ดหน้าด้วยน้ำมันยูคาลิปตัส

น้ำมันยูคาลิปตัสสามารถนำมาใช้รักษาสิวได้ มีงานวิจัยที่ทดลองกับสัตว์พบว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทำให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น และทำให้ซีบัมถูกผลิตออกมามากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันก็พบว่าน้ำมันยูคาลิปตัสช่วยลดขนาดของต่อมไขมัน ส่งผลให้รูขุมขนอุดตันน้อยลง แถมยังต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวอย่าง Propionibacterium acnes สำหรับวิธีใช้นั้น ให้หยดน้ำมันชนิดนี้ 3-4 หยดลงในน้ำครึ่งถ้วย และนำมาเช็ดบริเวณที่มีสิว หรือจะนำมาพ่นที่ใบหน้าก็ได้

4.ใช้อบเชยและน้ำผึ้ง

ทั้งน้ำผึ้งและอบเชยต่างมีฤทธิ์ช่วยต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวอย่าง Staphylococcus epidermidis และ Propionibacterium acnes และยังมีงานวิจัยพบว่า อบเชยและน้ำผึ้งจะช่วยรักษาสิวฮอร์โมนได้ดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น อบเชยยังมีสรรพคุณช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่เป็นสาเหตุให้ซีบัมถูกผลิตออกมามากขึ้น และอาจช่วยควบคุมสมดุลของความมันได้ โดยคุณสามารถทาน้ำผึ้งและอบเชยลงบนสิว ปล่อยทิ้งไว้ 15-20 นาที แล้วค่อยล้างออก ทำเพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจระดับฮอร์โมนวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 382 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

5.ใช้น้ำมะนาว

น้ำมะนาวเป็นสูตรยอดนิยมสำหรับควบคุมความมันของผิว ซึ่งก็มีงานวิจัยพบว่า น้ำมะนาวสามารถช่วยต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวได้อย่างเห็นผลชัดเจน ดังนั้นใครที่กำลังมีปัญหาสิว ให้ลองทาน้ำมะนาวบริเวณที่เกิดสิวดู จะช่วยให้สิวฮอร์โมนหายเร็วขึ้น

6.นำขมิ้นมาทาผิว

ขมิ้นถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดสิวมาช้านานแล้ว และมีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากขมิ้นสามารถช่วยยับยั้งเอนไซม์ 5α-reductase และลดการผลิตซีบัม ทั้งยังช่วยยับยั้งการอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุสิว ทำได้โดยนำผงขมิ้นมาผสมกับน้ำเพียงเล็กน้อย ทาบริเวณที่มีปัญหาสิวฮอร์โมน และล้างออกเมื่อแห้ง

7.มาสก์หน้าด้วยอะโวคาโด

มีการศึกษาพบว่าน้ำมันหรือสีผึ้งที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากอะโวคาโดจะไปช่วยยับยั้งเอนไซม์ 5-α reductase ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับจำนวนของสิวหัวหนองและสิวที่เป็นตุ่ม โดยแนะนำให้นำเนื้ออะโวคาโดที่สุกแล้วมาทาบริเวณที่มีแนวโน้มว่าจะมีสิววันละ 2 ครั้ง แล้วล้างออกเมื่อแห้ง

8.ใช้มาสก์โคลนและน้ำมันโจโจ้บา

น้ำมันโจโจ้บาและมาสก์โคลนมีคุณสมบัติช่วยรับมือกับสิวฮอร์โมน โดยมีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การทามาส์กสูตรนี้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ช่วยลดรอยสิวโดยเฉลี่ย 54% เพราะโคลนจะช่วยทำให้ความมันบนใบหน้าลดลง ในขณะที่น้ำมันโจโจ้บามีสารต้านการอักเสบและสารต้านแบคทีเรีย

9. ใช้น้ำส้มสายชูที่หมักจากแอปเปิล

หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แอปเปิลไซเดอร์ งานวิจัยบางงานพบว่า น้ำส้มสายชูชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยลดการเกิดสิวฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี โดยช่วยต้านแบคทีเรียและไวรัส รวมถึงมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย P. acnes ที่เป็นสาเหตุของสิว รวมทั้งช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียได้ด้วย ช่วยป้องกันรอยแผลเป็นจากสิวฮอร์โมนไปในตัว นอกจากนี้ยังอาจช่วยขับน้ำมันส่วนเกินออกจากผิวหน้าได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวทั้งสิ้น

ไม่ว่าสิวฮอร์โมนจะเกิดขึ้นในช่วงใดหรือเกิดจากสาเหตุใด ก็สร้างความรู้สึกกังวลและบั่นทอนความมั่นใจได้ทั้งนั้น หากลองใช้วิธีตามข้างต้นแล้ว แต่สิวยังคงไม่หายไป หรือไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น การไปพบแพทย์ผิวหนังก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Markus MacGill, Hormonal acne: What you need to know (https://www.medicalnewstoday.com/articles/313084.php), 23 July 2018.
Kristeen Cherney, Hormonal Acne: Traditional Treatments, Natural Remedies, and More (https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/hormonal-acne) 14 April 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป