การมีขนขึ้นตามใบหน้าหรือร่างกายถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่หากคุณสังเกตว่ามีขนขึ้นตามใบหน้ามากกว่าที่เคย และทำให้คุณรู้สึกอับอายหรือเจ็บเมื่อถอนออก การมีขนขึ้นตามบริเวณใบหน้า หน้าอก คอ หรือหน้าท้องมากเกินไป เรียกว่า ภาวะขนดก หรือ Hirsutism ซึ่งมันสามารถบ่งบอกได้ว่าคุณมีฮอร์โมนเพศชายอย่างแอนโดรเจนมากกว่าปกติ สำหรับสาเหตุที่ทำให้คุณตกอยู่ในภาวะดังกล่าวมีดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ผู้หญิงบางคนมีขนมากขึ้นในช่วงวัยหนุ่มสาว ช่วงตั้งครรภ์ หรือเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากผ่านพ้นช่วงวัยทอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายนั่นเอง ซึ่งเกิดจากการที่ฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณตั้งครรภ์ ระดับของเทสโทสเตอโรนในเลือดจะเพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะขนดก แต่ปัญหาจะคลี่คลายหลังจากที่คุณคลอดลูก เทสโทสเตอโรนจะกลับคืนสู่ระดับปกติ สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทอง รังไข่จะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมาน้อยลง ในขณะที่เทสโทสเตอโรนจะยังคงถูกผลิตออกมา ส่งผลให้มีลักษณะเป็นเพศชายมากขึ้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
2. ยา
ยาบางชนิดอย่างยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ หรือยาคุมกำเนิดที่มีโปรเจสเตอโรนอาจทำให้ระดับของฮอร์โมนผันผวน และกระตุ้นให้เกิดภาวะขนดก สำหรับยาชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น โปรเจสติน เทสโทสเตอโรน ไบมาโตโพรสต์ หรือไซโคลสปอริน
3. ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดภาวะขนดกในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวคือ การตกอยู่ในภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือที่เรียกว่า Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) ซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับของแอนโดรเจนที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดซีสต์ที่รังไข่ และทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
4. โรคอ้วน
โรคอ้วนมีความเชื่อมโยงกับระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่มากขึ้นในผู้หญิง และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะขนดก โดยเฉพาะการมีไขมันสะสมที่หน้าท้องมากเกินไป สามารถทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน หากมีอินซูลินในเลือดสูง มันก็อาจไปเพิ่มการผลิตแอนโดรเจนได้ในที่สุด
5. โรคที่เกี่ยวกับฮอร์โมน
การทำงานที่ผิดปกติของต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมองที่ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพศชายออกมามากเกินไปก็สามารถทำให้คุณมีขนดกเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมหมวกไต: ทำให้การผลิตฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ
- เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง: เป็นเนื้องอกที่ไม่มีเซลล์มะเร็งที่จะไปหลั่งโปรแลคติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแอนโดรเจน
- โรคคูชชิ่ง: เกิดจากเนื้องอกในต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง
6. เนื้องอก
เนื้องอกสามารถส่งผลต่อต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง นอกจากนี้เนื้องอกบางชนิดที่อยู่บริเวณปอด รังไข่ หรือทางเดินอาหารสามารถเพิ่มการหลั่งแอนโดรเจน และทำให้เกิดภาวะขนดก ในบางครั้งเนื้องอกที่ปรากฏในต่อมใต้สมองสามารถทำให้ขนดก หากคุณสังเกตว่ามีขนขึ้นมากมายแบบฉับพลัน คุณควรไปพบแพทย์ค่ะ
7. พันธุกรรมหรือไม่ทราบสาเหตุ
ในบางกรณีภาวะขนดกเกิดจากพันธุกรรม หากคุณมีขนตามใบหน้า หรือขนแบบผู้ชายแม้ว่ารอบเดือน และระดับของแอนโดรเจนไม่ได้ผิดปกติ และไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่เรากล่าวไปข้างต้น บางทีคุณอาจตกอยู่ในภาวะขนดกโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีผู้ป่วยที่มีขนดกกว่า 20% ที่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว ในกรณีนี้เส้นขนจะเริ่มงอกหลังช่วงวัยหนุ่มสาว และจะมีพัฒนาการที่ช้าลง
อย่างไรก็ตาม เราสามารถรักษาภาวะขนดกโดยทานยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ แว็กซ์ขน โกนขน หรือทำเลเซอร์ ถ้าคุณมีขนขึ้นดกแบบฉับพลันและรวดเร็ว โดยเกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์หรือเดือน มีกล้ามเนื้อที่เหมือนกับผู้ชาย มีเสียงทุ้ม ประจำเดือนไม่มา คุณก็ควรไปพบแพทย์ค่ะ
ที่มา: https://www.curejoy.com/content/causes-facial-hair-in-women-hirsutism/?utm_source= Popular&utm_ medium=FCM&utm_campaign=Push