สำหรับนักรักสุขภาพแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่บางคนก็จริงจังมากเกินไปจนถึงขั้นประโคมอาหารเหล่านี้ใส่ร่างกายโดยไม่คำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสมหรือความหลากหลายในการเลือกรับประทาน พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในสังคมต่างประเทศที่ทำให้นักโภชนาการหลายท่านต้องออกมาเตือน
HonestDocs จึงได้รวบรวมคำเตือนและคำแนะนำต่างๆเหล่านี้ไว้ในบทความนี้เพื่อให้นักรักสุขภาพทั้งหลายได้รู้เท่าทัน 5 สุดยอดอาหารที่สามารถส่งผลเสียต่อสุภาพได้ หากบริโภคมากเกินไป
1. น้ำเปล่า
หนึ่งในสุดยอดเครื่องดื่มที่ได้ชื่อว่าไม่เคยทำให้ใครผิดหวังก็คือน้ำเปล่า หลายคนเข้าใจว่ายิ่งดื่มน้ำมากก็ยิ่งดีต่อสุขภาพ แต่การดื่มน้ำที่มากเกินไปจะทำให้ปริมาณโซเดียมในเลือดถูกเจือจางลงไปได้ ซึ่งทำให้สมองทำงานผิดปกติ และผลลัพธ์ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการเสียชีวิต
บางท่านมีข้อข้องใจว่า การดื่มน้ำมากเกินไปสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือ? เพราะส่วนใหญ่แล้วคนเรามักประสบปัญหาการดื่มน้ำน้อยเสียมากกว่า คำตอบคือ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนและเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งมักเกิดขึ้นกับนักกีฬา โดยเฉพาะนักวิ่งมาราธอนที่มักเข้าใจว่าต้องทดแทนเหงื่อที่เสียไปด้วยการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
การควบคุมดูแลปริมาณน้ำเปล่าที่บริโภคนั้นควรอยู่ที่ 6 ถึง 8 แก้วต่อวัน หากไม่สะดวกที่จะคำนวณแก้วต่อแก้ว ให้สังเกตจากสีของน้ำปัสสาวะ ถ้ามีสีใสมากแทบจะทุกครั้ง แนะนำให้ดื่มน้ำให้น้อยลงเพื่อลดความเสี่ยง
2. ปลาทูน่า
ปลาทูน่าเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำและอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นมากมาย แต่กลับถูกจัดไว้ในกลุ่มอาหารที่ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เหตุผลหลักๆเลยก็คือ ปลาทูน่านั้นมีระดับสารปรอทที่สูงกว่าปลาชนิดอื่นๆมาก ซึ่งเมื่อร่างกายของเราได้รับสารปรอทมากเกินไปจะมีผลกระทบต่อการมองเห็น การได้ยิน มีการตอบสนองที่ช้าลง และทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
คำแนะนำคือ ไม่ควรรับประทานปลาทูน่ามากกว่า 5 กระป๋องต่อสัปดาห์ หรือลองสลับมารับประทานอาหารทะเลชนิดอื่นบ้าง เช่น ปลาแซลมอน หรือ กุ้ง ที่มาปริมาณสารปรอทที่น้อยกว่า
3. ส้มและมะเขือเทศ
สุดยอดอาหารบำรุงผิวอย่างส้มและมะเขือเทศก็ทำร้ายเราได้เช่นกัน เพราะมีปริมาณกรดที่ค่อนข้างสูง การบริโภคส้มและมะเขือเทศมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนในกระเพาะอาหาร และหากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานอาจนำไปสู่โรคมะเร็งหลอดอาหารได้ในที่สุด
ปริมาณการบริโภคส้มและมะเขือเทศอย่างเหมาะสมนั้นไม่ควรเกินอย่างละ 2 ผลต่อวัน
4. ถั่วเหลือง
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานเต้าหู้หรือดื่มนมถั่วเหลือง ควรควบคุมปริมาณการบริโภคอาหารกลุ่มนี้ให้ดี จริงอยู่ถั่วเหลืองช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดได้ แต่หากทานมากเกินไปจะกลายเป็นตัวขัดขวางธาตุเหล็กในร่างกายและทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
นักโภชนาการไม่ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานถั่วเหลืองที่ชัดเจนนัก แต่ทางที่ดีควรควบคุมไม่ให้เกิน 2 เสิร์ฟต่อวัน
5. ผักโขม
ผักโขมนั้นอุดมไปด้วยโปรตีน เกลือแร่ แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารอาหารประเภทลูทีน (lutein) ที่ช่วยในการบำรุงสายตาได้ดี แต่ผักโขมก็มีปริมาณออกซาเลต (oxalate) ที่สูงเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดนิ่วในไต ผักโขมจึงเป็นอาหารต้องห้ามของผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย
ปริมาณของการบริโภคผักโขมในแต่ละวันนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอย่างเช่นเจนอีกเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เราแนะนำคือหลีกเลี่ยงการรับประทานผักโขมจำเจทุกมื้ออาหาร ลองเปลี่ยนเป็นผักชนิดอื่นดูบ้างเพื่อความหลากหลายของสารอาหาร