3 ข้อคิดก่อนตัดสินใจมีสัตว์เลี้ยงเมื่อลูกยังเป็นเด็กทารก

รู้ก่อนเลี้ยงสัตว์เมื่อมีเด็กทารก เพื่อให้เหมาะกับการดูแลที่ดีที่สุด
เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
3 ข้อคิดก่อนตัดสินใจมีสัตว์เลี้ยงเมื่อลูกยังเป็นเด็กทารก

การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข หรือ แมว ในช่วงที่ลูกของเรายังเป็นวัยทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบปีแรกนั้น จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราจะเอาใจใส่ให้กับสัตว์เลี้ยง, ความเหมาะสมของสัตว์เลี้ยงที่จะนำเข้ามาร่วมในครอบครัว รวมถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างสัตว์เลี้ยงกับลูกของเรา ดังนั้นก่อนที่คุณจะนำสัตว์เลี้ยงใดๆ เข้ามาอยู่ร่วมในครอบครัวซึ่งมีเด็กอ่อน หรือเด็กทารกอยู่ด้วยนั้น ต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญดังนี้

1. คุณสามารถแบ่งมาให้กับสัตว์เลี้ยงของคุณมากแค่ไหน

ปัจจัยเรื่องเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ที่คิดจะมีสัตว์เลี้ยง ยิ่งคุณต้องทำงานนอกบ้าน, ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ รวมถึงยังต้องดูแลลูกซึ่งหากลูกของคุณเเพิ่งจะออกมาดูโลกด้วยแล้ว เวลาเกือบทั้งหมดของคุณมักจะต้องทุ่มเทให้กับลูกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ลูกนอน ตอนลูกตื่น สิ่งเหล่านี้จะดึงเวลาของคุณไปเกือบทั้งหมดของวัน นี่ยังไม่รวมเวลาพักผ่อนส่วนตัวของคุณเองและคนรักที่จะต้องมีให้กันและกันด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หากคุณมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการเวลา และแบ่งเวลามาดูแลอีกหนึ่งชีวิตอย่างเจ้าสัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณได้แล้วละก็ ประเด็นนี้ก็ผ่านไปด้วยดี แต่หากคุณลองคิดแล้วเห็นว่า คุณคงไม่มีเวลามาเล่นกับมัน ให้อาหาร พูดคุย หรือพามันไปเดินเล่น ขอแนะนำว่าคุณอย่าเพิ่งนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาร่วมในครอบครัวของคุณจะดีกว่า เพราะสัตว์เลี้ยงทุกชนิดต่างก็ต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากเจ้าของเช่นกัน

2. สัตว์เลี้ยงของคุณเหมาะกับวัยของลูกของคุณหรือเปล่า

เด็กทารกแรกเกิดกับเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี ร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน ความแข็งแรง และความสนใจต่อโลกภายนอกก็ไม่เท่ากัน รวมถึงการสื่อสาร การช่วยเหลือตัวเองจากสิ่งรบกวนก็ไม่เท่ากัน หลายครั้งจึงเกิดเหตุการณ์ที่สัตว์เลี้ยงบางประเภททำร้ายเด็กในบ้าน ความผิดไม่ได้เกิดจากสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด แต่สาเหตุที่สัตว์เลี้ยงทำร้ายเด็กเล็กภายในบ้านนั้น เกิดจากสัญชาติญาณของสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดที่อาจจะเกิดความรำคาญ หรือโกรธจากสิ่งเร้าที่ลูกของเราไปทำกับเขาไว้นั้นเอง

ยกตัวอย่างเช่น สุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในบ้าน หลายครอบครัวนั้นคิดว่าสุนัขที่เราเลี้ยงมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ มันคงไม่ทำร้ายลูกของเราเด็ดขาด แต่หารู้ไม่ว่า สุนัขที่เหมาะกับบ้านที่มีเด็กเล็กหรือเด็กอ่อนนั้นมีไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้น บางสายพันธุ์ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงเมื่อในบ้านเมื่อเรามีเด็กอ่อนหรือลูกยังอยู่ในวัยทารกแรกเกิด เพราะสุนัขบางสายพันธุ์เป็นพวกที่มีความอดทนต่อสิ่งเร้าภายนอกต่ำ นอกจากนั้นสุนัขบางสายพันธุ์เป็นพวกชอบเห่า ชอบหอน จะทำให้ลูกของเราที่ยังนอนหลับไม่เป็นเวลาต้องตื่นนอนเพราะสิ่งเห่าหอนของพวกมัน

นอกจากนั้นหากผู้เลี้ยงไม่ใส่ใจในตัวสัตว์เลี้ยงให้มาก มันก็อาจจะเป็นพาหะนำพาเชื้อโรคต่างๆ เข้ามาในบ้าน และอาจจะมาถึงตัวลูกของเราได้ง่ายๆ เช่นกัน

สำหรับสุนัขที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า น่าจะเหมาะสำหรับบ้านที่มีเด็กๆ (แต่ไม่ได้ออกมาแนะนำแบบฟันธงว่ามันเหมาะสำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี) ได้แก่ สุนัขพันธุ์บีเกิ้ล (Beagle), โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever), พุดเดิ้ล (Poodle) และ ลาบาดอล (Labrador) แต่ไม่ว่าจะเป็นสุนัขสายพันธุ์ไหนก็ตาม ต้องแน่ใจว่ามันถูกฝึกให้เชืองและฟังคำสั่งของคนในบ้านแล้ว

3. บทบาทของคุณและลูกของคุณกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก

พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกได้เติบโตมาพร้อมๆ กับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เขามีนิสัยที่อ่อนโยน มีระเบียบวินัยและรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น นี่ก็เป็นข้อดีหากเราเลี้ยงลูกของเราและฝึกให้ลูกของเราเอาใจใส่และมีความรักกับสัตว์เลี้ยงของเรา แต่หากคุณเองไม่สามารถสอนหรือแนะนำลูกว่าต้องวางตัวอย่างไร ต้องปฏิบัติตัวเองอย่างไร และมีหน้าที่อย่างไรกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน สิ่งที่คุณวาดหวังว่าลูกของคุณจะเติบโตมาพร้อมกับสัตว์เลี้ยงที่น่ารักคงต้องเป็นแค่ความเพ้อฝันเท่านั้น

การจะมอบหมายให้ลูกรู้จักมอบความรัก และอ่อนโยนต่อสัตว์เลี้ยง คุณในฐานะพ่อและแม่ ต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน เพราะเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 6 ขวบปีแรก เด็กจะมองพฤติกรรมของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเป็นตัวอย่าง หากพ่อแม่มีความอ่อนโยน มอบความรักให้กับสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน เด็กก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้ตามไปด้วย และจิตใจของเขาก็จะอ่อนโยน รู้จักมอบความรักให้คนอื่นเช่นกัน

ทั้งนี้การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านที่มีเด็กอ่อนหรือเด็กในวัยแรกเกิดถึง 6 ปีแรก อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของคนในบ้านเป็นสิ่งสำคัญ หากครอบครัวไหนสามารถปรับตัวได้ แบ่งเวลาได้ชัดเจน การมีสัตว์เลี้ยงร่วมกับเด็กอ่อนก็ไม่มีปัญหาอะไร


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Daniel JD, Many Babies Healthier in Homes With Dogs, Fewer Colds, Ear Infections in Infants With Dogs (Cats Help, Too) (https://www.webmd.com/parenting/baby/news/20120709/many-babies-healthier-in-homes-with-dogs#1)
Laurie ES et al., Are Dogs an Anxious Child's Best Friend?(https://www.medscape.com/viewa...), 13 January 2016

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป