เป็นที่ยอมรับกันว่าถั่วเหลืองเป็นอาหารที่ดีมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ แต่ก็มีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับถั่วเหลืองเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน เผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตสู่สังคมเป็นวงกว้าง จนสร้างความสับสนและเกิดคำถามขึ้นมากมายว่า “ถั่วเหลืองดีจริงหรือ”
นักวิจัยเรื่องถั่วเหลืองมีความเห็นว่า งานวิจัยในอดีตจนถึงปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าข้อมูลที่ทำให้สับสนด้านลบนั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนเท่าใดนัก เช่น
เชื่อผิด จะต้องกินถั่วเหลืองมากๆ จึงจะได้ประโยชน์ที่ต้องการ
ความจริง องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจะต้องบริโภคโปรตีนถั่วเหลืองวันละ 25 กรัม ซึ่งเท่ากับอาหารถั่วเหลืองวันละ 3-4 หน่วยบริโภค โดยเฉลี่ย 1 หน่วยบริโภคเท่ากับนมถั่วเหลือง 240 มิลลิลิตร หรือเต้าหู้ 90 กรัม ซึ่งจะให้โปรตีนประมาณ 6-8 กรัมต่อหน่วยบริโภค
นอกจากนี้ ถั่วเหลืองยังมีสารไอโซฟลาโวนส์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนพืชธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต่อการทำงานของร่างกาย งานวิจัยพบว่าช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนและโรคมะเร็ง
เชื่อผิด ถั่วเหลืองทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดผิดปกติ
ความจริง สารไอโซฟลาโวนส์ในถั่วเหลืองมีผลไม่มากต่อระดับฮอร์โมนในเลือดของทั้งหญิงและชาย แม้จะมีโครงสร้างคล้ายเอสโทรเจนแต่ทำงานต่างจากเอสโทรเจนในเลือด งานวิจัยไม่พบว่าการบริโภคถั่วเหลืองจะเปลี่ยนแปลงระดับเอสทอสเทอโรน (ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย) หรือปริมาณสเปิร์ม (น้ำอสุจิ) คุณภาพของสเปิร์มหรือองคชาตของเพศชาย แต่การวิจัยกลับพบว่า ชายและหญิงที่บริโภคไอโซฟลาโวนส์จากอาหารธรรมชาติวันละ 40-70 กรัม (เท่ากับอาหารถั่วเหลือง 2-4 หน่วยบริโภคต่อวัน) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนหรือเอสโทรเจนอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มทดลอง
ผลวิจัยจำนวนมากกลับชี้ให้เห็นว่า ถั่วเหลืองช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก
เชื่อผิด ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือต้องการไม่ควรบริโภคถั่วเหลืองเพราะจะทำให้เป็นหมัน
ความจริง อาหารถั่วเหลืองไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์และปลอดภัยต่อการบริโภคระหว่างตั้งครรภ์
รายงานจากสถาบันสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในปี 2006 แนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ที่บริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำจะได้รับปริมาณสารเจนิสตีน (Genistein) ต่ำ ซึ่งสารเจนิสตีนเป็นสารในกลุ่มไอโซฟลาโวนส์และมีปริมาณสูงในถั่วเหลือง แต่ก็มีผลต่อระบบการสืบพันธุ์ของหญิงตั้งครรภ์น้อยมาก ส่วนผลที่พบว่าเป็นหมันนั้นเป็นผลจากการทดลองในสัตว์ ซึ่งใช้สารเจนิสตีนระดับสูงในการทดลอง ชาวเอเชียบริโภคถั่วเหลืองสม่ำเสมอหลายชั่วคน แต่ไม่มีรายงานว่าทำให้เป็นหมันตรงกันข้าว กลับมีลูกหลานที่มีคุณภาพสูง
เชื่อผิด กินถั่วเหลืองทำให้เป็นมะเร็งเต้านม
ความจริง แม้จะมีรายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ที่พบสารเจนิสตีน ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสารไอโซฟลาโวนส์ที่สามารถกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลองที่ขาดภูมิต้านทานและมีเซลล์มะเร็วที่ไวต่อเอสโทรเจนได้ แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันในคนที่ระบุว่าการบริโภคถั่วเหลืองกระตุ้นเซลล์มะเร็งหรือทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
การวิจัยชี้ว่า เป็นการยากที่จะนำผลการวิจัยในสัตว์ที่กินไอโซฟลาโวนส์ในปริมาณที่สูงมากมาสรุปว่าจะเกิดผลเช่นเดียวกับคน เพราะหนูผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนน้อยกว่าผู้หญิงมาก และความสามารถของสัตว์ในการสลายสารไอโซฟลาโวนส์นั้นแตกต่างจากคน ล่าสุดมีข้อมูลจากงานวิจัยโดยดอกเตอร์มาร์ค เมสซิน่า (Dr.Mark messina) แห่งมหาวิทยาลัยโลมา ลินดา (Loma Linda) สหรัฐอเมริกา รายงานว่า จากการตรวจชิ้นเนื้อเซลล์เต้านมก่อนและหลังได้รับสารไอโซฟลาโวนส์ พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญของเซลล์เนื้องอกเต้านม
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่สนับสนุนการบริโภคถั่วเหลืองคือ หญิงที่บริโภคถั่วเหลืองมีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมลดลง การบริโภคถั่วเหลืองไม่ว่าจะอายุเท่าใด จะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะได้ก็ต่อเมื่อบริโภคถั่วเหลืองในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว การกินถั่วเหลืองในวัยเด็กเพียงวันละครั้งช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเมื่อเป็นผู้ใหญ่ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการกินถั่วเหลืองในวัยผู้ใหญ่ยังไม่ชัดเจนเท่ากับในวัยเด็ก แต่งานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มชาวจีนพบว่า ผู้ที่บริโภคถั่วเหลืองมากที่สุดมีโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมน้อยที่สุด
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่หญิงชาวเอเชียมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมลดลง อัตราการเสียชีวิตมีเพียง 1/5 ของหญิงชาวตะวันตก สำหรับผู้ชายก็ได้รับประโยชน์จากการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเช่นกัน ฉะนั้นถั่วเหลืองจึงปลอดภัยสำหรับหญิงที่มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมหรือเป็นมะเร็งเต้านม งานวิจัยหลักในด้านมะเร็งของสมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า หญิงที่รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมสามารถบริโภคอาหารถั่วเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเพื่อสุขภาพตั้งแต่ 2-3 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ถึง 3 หน่วยบริโภคต่อวันได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่นำผลิตภัณฑ์เสริมในรูปแคปซูล สำหรับผู้ใช้ยา Tamoxifen รักษามะเร็งเต้านมควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาด้วย เนื่องจากงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าไอโซฟลาโวนส์ในปริมาณสูงจากแหล่งใดๆก็ตาม จะมีผลการเปลี่ยนแปลงฤทธิ์ยา Taxomifen