9 สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อย

มีประจำเดือนน้อยกว่า 4 วัน ถือว่าประจำเดือนมาน้อย สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่พฤติกรรม อุบัติเหตุ จนถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
9 สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อย

การเริ่มต้นของรอบเดือนของผู้หญิงนั้น เกิดจากการผลิตและตกของไข่จากรังไข่ที่สมบูรณ์ โดยฮอร์โมนที่เพียงพอจากรังไข่และต่อมใต้สมองจะช่วยพัฒนาเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัว พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน อันเกิดจากการปฏิสนธิของไข่ที่ตกจากฝ่ายหญิงกับอสุจิจากฝ่ายชาย แต่ถ้ารอบเดือนใดไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวก็จะหลุดลอดออกมาเป็นประจำเดือน

ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อวงจรเหล่านี้เอง จะเป็นสาเหตุที่ทำให้รอบเดือนมาผิดปกติหรือน้อยกว่าปกติได้

แค่ไหนที่เรียกว่าประจำเดือนมาน้อย?

ตามคำจำกัดความของสหพันธ์สูตินรีเวชแพทย์ระหว่างชาติ ให้คำจัดความเกี่ยวกับประจำเดือนของผู้หญิงดังนี้

ความถี่ของรอบประจำเดือน

  • ถี่ น้อยกว่า 24 วัน
  • ปกติ 24-38 วัน
  • ห่าง มากกว่า 38 วัน

ระยะเวลาของรอบประจำเดือน

  • นาน มากกว่า 8 วัน
  • ปกติ 4-8 วัน
  • สั้น น้อยกว่า 4 วัน

ภาวะผิดปกติของระยะเวลาของรอบประจำเดือนสั้นกว่า 4 วัน นั่นคือประจำเดือนมาน้อยกว่าปกตินั่นเอง

ตั้งครรภ์หรือไม่? ข้อควรพิจารณาก่อนหาสาเหตุที่ประจำเดือนมาน้อย

การที่ประจำเดือนมาน้อย เราต้องทำการแยกจากภาวะเลือดออกผิดปกติจากการตั้งครรภ์ก่อน โดยดูจากอาการที่สุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เช่น อาการแพ้ท้อง รวมถึงประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด หรืออาจทำการตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์ด้วยตนเองก่อนที่บ้าน

ถ้าไม่แน่ใจ สามารถไปทำการตรวจโดยการเจาะเลือดดูการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

หลังจากแน่ใจแล้วว่าไม่มีการตั้งครรภ์ จึงค่อยหาสาเหตุอื่นๆ ที่สามารถทำให้ประจำเดือนมาน้อยได้

9 ปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อย

ปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อยมีหลายประการ ทั้งมาจากพฤติกรรม โรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงอุบัติเหตุ ได้แก่

1. น้ำหนัก

ความผันผวนของน้ำหนักมีผลกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนซึ่งมีผลกระทบกับปริมาณของประจำเดือนสามารถส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยลง

การที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นนั้น ปริมาณไขมันในร่างกายก็เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมน และเมื่อน้ำหนักลดลง ร่างกายได้รับปริมาณแคลอรีที่จำกัด ก็ส่งผลให้เกิดความเครียด ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลได้เช่นกัน

2. ความเครียด

ความเครียดก็ส่งผลกระทบทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อยได้

3. ฮอร์โมนไทรอยด์

ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ที่ทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็สามารถส่งผลต่อภาวะสมดุลของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและรังไข่ ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณของประจำเดือนในแต่ละรอบได้

4. วิธีการคุมกำเนิด

การรับประทานยาคุมกำเนิด ใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมน การฝังยาคุม รวมทั้งการฉีดยาคุม อาจจะจะส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อย มีเลือดสีดำออกเป็นบางจุด หรือไม่มาเลย ซึ่งเป็นภาวะปกติของผู้หญิงที่ใช้ยาดังกล่าวอยู่

5. โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือ (PCOS)

โรคนี้มีสาเหตุจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายออกมาปริมาณมาก และระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ทำให้ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติหรือขาดประจำเดือนได้

6. ภาวะวัยทอง

ระยะเริ่มเข้าสู่ภาวะวัยทองเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนจากรังไข่เริ่มผลิตน้อยลง และกำลังจะหยุดผลิตเมื่อเข้าสู่วัยทอง ส่งผลให้ปริมาณประจำเดือนน้อยลง หรือระยะห่างของรอบประจำเดือนนานขึ้นได้

7. ปากมดลูกตีบ

ปากมดลูกตีบ เป็นโรคที่พบได้ยาก โดยอาจเกิดจากการผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ หรือตีบเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง ส่งผลให้เลือดค้างอยู่ในมดลูก และไหลออกมาได้น้อยลง

8. ผังผืดในโพรงมดลูก

โดยปกติผู้หญิงที่เคยขูดมดลูกจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ในผู้หญิงบางราย ระหว่างการขูดมดลูกอาจสร้างแผลเป็นที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกได้ ซึ่งเรียกว่าโรคแอสเชอร์แมน (Asherman)

ดังนั้นหากหลังขูดมดลูกแล้วประจำเดือนมาน้อย ควรไปพบสูตินรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา

9. เสียเลือดมากจากการคลอดลูก

สาเหตุที่พบได้น้อยอีกสาเหตุหนึ่ง คือการสูญเสียเลือดปริมาณมากหลังจากการคลอดบุตร การสูญเสียเลือดส่งผลกับปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงต่อมใต้สมอง ทำให้เกิดการฝ่อ และระดับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองก็จะผิดปกติไป ก่อให้เกิดโรคชีแฮน (Sheehan’s syndrome) ซึ่งส่งผลกระทบกับปริมาณประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติได้

ดังนั้นหากคุณมีรอบประจำเดือนที่ผิดปกติหรือปริมาณประจำเดือนที่เปลี่ยนแปลง ระยะเวลาที่ประจำเดือนมาน้อยกว่าเกณฑ์ข้างต้น ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ภาวะดังกล่าวไม่แนะนำให้ซื้อยาหรือทำการรักษาด้วยตนเอง


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ศ. นพ. ธีระ ทองสง, ตำรานรีเวชวิทยา, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555.
รศ. ดร. นพ. กิติรัตน์ เตชะไตรศักดิ์, ตำรานรีเวชวิทยา, ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล, 2560.
Debra Sullivan, PhD, MSN, CNE, COI Should You Be Worried if Your Period Is Light? (https://www.healthline.com/health/womens-health/why-is-my-period-so-light#outlook), 9 August 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป