ครีมผิวขาว ทำจากอะไร มีอันตรายไหม?

"ครีมผิวขาว มีส่วนผสมหลายอย่าง ส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติมักไม่อันตราย แต่ให้ผลไม่รวดเร็ว ส่วนครีมที่มีสารเคมีบางชนิด ช่วยให้ผิวขาวเร็วทันใจ แต่มีอันตรายแฝงอยู่! "
เผยแพร่ครั้งแรก 14 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ครีมผิวขาว ทำจากอะไร มีอันตรายไหม?

ครีมผิวขาวผลิตภัณฑ์เพื่อผิวสว่างกระจ่างใส เลือกอย่างไรถึงปลอดภัยต่อสุขภาพผิว

หลายคนคนเคยพบโฆษณา ครีมผิวขาว ที่โฆษราว่าจะช่วยเปลี่ยนสีผิวของผู้ใช้จากเดิมที่มีสีเข้ม ให้ขาวใสขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวิตามินวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 193 บาท ลดสูงสุด 90%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในความเป็นจริง คุณสามารถขาวขึ้นได้ แต่ต้องมองถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อสีผิว ซึ่งก็คือพันธุกรรมและการสัมผัสแสงแดดในแต่ละวัน

ตามปกติ สีผิวของคนเราสามารถเปลี่ยนเป็นสีที่เข้มขึ้น และเปลี่ยนกลับมาสู่สีผิวเดิมได้ตามธรรมชาติ โดยระยะเวลาการผลัดเซลล์ของผิว ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

หากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำให้ผิวขาวได้รวดเร็วกว่านั้น ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์

ครีมผิวขาวประกอบด้วยสารอะไรบ้าง?

จากที่มีการศึกษากลไกการเปลี่ยนสีผิวของมนุษย์ ทำให้เกิดการพัฒนาสารสำคัญเพื่อช่วยลดการสร้างเม็ดสีผิวหรือลดการเกิดผิวคล้ำ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลไก ดังนี้

1. ทำให้ผิวขาวขึ้นด้วยกลไกทางเคมี

เป็นการใช้สารที่มีผลต่อกระบวนการสร้างและขนส่งเม็ดสีผิว รวมถึงสารที่มีผลต่อการกำจัดเม็ดสีผิวที่หมองคล้ำให้หลุดออกจากผิวหนัง สามารถแบ่งย่อยกลไกนี้ออกได้เป็น 2 ระดับได้อีก คือ

  1. ผิวขาวระดับภายนอกเซลล์ (Extracellular level) เป็นกลไกที่มีผลต่อผิวหนังชั้นนอกสุด ลักษณะการทำงานคือการขจัดเซลล์ผิวที่หมองคล้ำออกไป ครีมผิวขาวที่อาศัยกลไกนี้มักมีส่วนประกอบของสารพวกกรดอ่อนชนิดต่างๆ ซึ่งจะช่วยขจัดเซลล์ผิวออกไป เช่น กรด AHA, BHA, กรดมะขาม(Tartaric acid) กรดซิตริก (Citric acid)
  2. ผิวขาวระดับภายในเซลล์ (Intracellular level) เป็นกลไกที่มีผลต่อกระบวนการสร้างและขนส่งเม็ดสีผิว โดยเป้าหมายหลักคือยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ที่มีผลต่อการเปลี่ยนเม็ดสีเมลานิน เมื่อยับยั้งเอนไซม์นี้ จะส่งผลไม่ให้สีผิวเปลี่ยนไปสู่ผิวที่เข้มขึ้น ตัวอย่างสารที่ใช้มากในครีมผิวขาวที่อาศัยกลไกนี้ คือ
    • อาร์บูติน (Arbutin) ผลิตได้ทั้งจากธรรมชาติจากผลไม้กลุ่มเบอร์รี และการสังเคราะห์ขึ้น เป็นสารที่มีความปลอดภัย แต่มีราคาแพงและใช้เวลานานประมาณ 3 เดือนถึงจะเห็นผลชัดเจน
    • กรดโคจิก (Kojic acid) ผลิตได้จากการหมักน้ำตาลกลูโคสกับเชื้อรา ช่วยลดเม็ดสีในชั้นผิว เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวขาวขึ้นได้รวดเร็วและไม่กลับมาคล้ำอีก แต่มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้ผิวระคายเคืองได้
    • วิตามินซีและอนุพันธ์ (Ascorbic acid) ด้วยคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซีจึงมีส่วนช่วยยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีผิวได้ แต่เนื่องจากวิตามินซีมีความคงตัวต่ำ สลายง่ายเมื่อโดนแสงแดด จึงมีการพัฒนาให้อยู่ในรูปของอนุพันธ์วิตามินซีเพื่อให้แพร่ผ่านผิวหนังได้ดี และมีความคงตัวมากขึ้น
    • สารสกัดชะเอม (Licorice extract) มีสารสำคัญคือกลาบริดีน (Glabridine) สารนี้จะทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ช่วยลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ มีการทดลองพบว่าการใช้สารนี้ทาผิวจะช่วยให้ผิวขาวขึ้นและลดการเกิดผิวอักเสบ

นอกจากนี้ยังมีสารสกัดจากธรรมชาติอีกหลายชนิดที่มีส่วนช่วยให้ผิวขาวขึ้น เช่น สารสกัดจากหม่อน(Mullberry extract) สารสกัดทับทิม (Pomegranate extract) เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวิตามินวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 193 บาท ลดสูงสุด 90%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

2. ทำให้ผิวขาวขึ้นด้วยกลไกทางกายภาพ

เป็นการปกป้องผิวจากแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต โดยวิธีที่นิยมมากที่สุดคือการใช้ครีมกันแดด หรืออาจอยู่ในรูปแบบครีมผิวขาวซึ่งผสมสารกันแดด

ครีมกันแดดแบ่งออกได้อีกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มสารที่ดูดซับรังสี UV สารกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เคลือบอยู่บนผิวหนัง และดูดซับรังสี UV เอาไว้ไม่ให้ทะลุผ่านเข้าไปทำอันตรายต่อผิวหนัง ครีมผิวขาวที่อาศัยกลไกนี้ มักมีส่วนผสมของสารแอนทรานิเลต (Anthranilate) เบนโซฟีโนน (Benzophenone) แต่สารกลุ่มนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากโครงสร้างของสารสามารถซึมเข้าสู่ผิว และทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  2. กลุ่มสารที่สะท้อนรังสี UV สารกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เคลือบผิวและสะท้อนรังสี UV ออกจากผิวหนัง เสมือนสวมเกราะป้องกันแสงแดดให้กับผิว ครีมผิวขาวที่อาศัยกลไกนี้ มักมีส่วนผสมของสารซิงก์ออกไซด์ (Zinc oxide) ไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide) หรือแมกนีเซียมออกไซด์ (Magnesium oxide)

    ในครีมกันแดดนิยมใช้สารกลุ่มนี้ เนื่องจากไม่ดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดการแพ้ได้น้อย แต่เนื่องจากอนุภาคของสารกลุ่มนี้ค่อนข้างใหญ่ ทำให้เกิดเป็นปื้นขาวเมื่อทา จึงได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดสารที่เล็กลง เพื่อให้กระจายตัวง่าย ไม่เป็นปื้นขาว และเพิ่มพื้นที่ผิวในการกระจายรังสี UV

ครีมผิวขาว ครีมผิวขาวเร่งด่วน ขาวถาวร ที่มักถูกกล่าวอ้างว่าเห็นผลจริง เห็นผลเร็ว ปลอดภัยหรือไม่?

หากเลือกใช้ครีมผิวขาวที่มีส่วนผสมเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ จะค่อนข้างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ครีมผิวขาวในท้องตลาดนั้นมีส่วนผสมหลาย อันตรายที่เกิดขึ้นได้บ่อยคือ การแพ้ส่วนผสมในผลิตภัณฑ์

อาการแพ้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล วิธีการทดสอบทำได้โดยการทาครีมบริเวณผิวที่บอบบาง เช่น ข้อพับแขน คอ หรือหลังใบหู แล้วทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หากไม่มีผื่นหรืออาการคัน เบื้องต้นสามารถใช้ครีมนั้นได้

เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากครีมผิวขาว เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ หากใช้แล้วได้ผลรวดเร็วจนน่าสงสัย ต้องระมัดระวังสารที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอางตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี 4 สาร ได้แก่

  1. อนุพันธ์ปรอท
  2. ไฮโดรควิโนน
  3. สเตียรอยด์
  4. กรดวิตามินเอ

ถึงแม้จะมีการประกาศห้าม และผิดกฎหมายหากใส่ในผลิตภัณฑ์ แต่ผู้ผลิตหลายรายยังลักลอบใส่สารเหล่านี้ลงในครีมผิวขาว เพราะทำให้ผู้ใช้มีผิวที่ขาวขึ้นรวดเร็วหลังใช้เพียงไม่กี่วัน

อันตรายจากครีมผิวขาวที่มีส่วนผสมของสารต้องห้าม ได้แก่ ทำให้เกิดอาการผิวหนังบาง อักเสบ ติดเชื้อง่าย เกิดฝ้าถาวร หากผู้ใช้ตั้งครรภ์อยู่จะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ และอาจมีอันตรายถึงชีวิตหากใช้ครีมผิวขาวที่มีความเข้มข้นสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นศภ. ชุติมณฑ์ อุดมเกียรติกูล, ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดปกป้องผิวอย่างไร? (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=38), มีนาคม 2556.
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร, ยาและเวชสำอางรักษาฝ้าชนิดใหม่ (https://www.doctor.or.th/clinic/detail/7117), 1 สิงหาคม 2551.
พล. ต. นพ. กฤษฎา ดวงอุไร, Skin whitening and depigmenting agents (http://inderm.go.th/news/journal/myfile/31895024d0966470e_p%2030-33art_Page.pdf), สิงหาคม 2552.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)