การผ่าตัดผูกท่อนำไข่ (Tubal Ligation) เป็นการผ่าตัดเพื่อทำหมันถาวรให้กับผู้หญิง ซึ่งจะทำโดยการผูก ตัด หรืออุดท่อนำไข่ของผู้หญิงที่เชื่อมระหว่างรังไข่กับมดลูก เพื่อยับยั้งไม่ให้อสุจิของผู้ชายเดินทางผ่านท่อนำไข่ไปสู่ไข่ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ โดยการผ่าตัดนี้ถือเป็นวิธีการทำหมันที่ใช้บ่อยที่สุดในผู้หญิง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การเตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดผูกท่อนำไข่
ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แพทย์อาจสั่งให้หยุดใช้ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้า เช่น Ibuprofen Warfarin หรือ Aspirin และอาจให้งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด นอกจากนี้ ควรแจ้งแพทย์หากสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือมีโอกาสตั้งครรภ์ในช่วงที่จะทำการผ่าตัด เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาต่อไป
วิธีการผ่าตัดผูกท่อนำไข่
การผ่าตัดผูกท่อนำไข่ จะทำโดยศัลยแพทย์ภายในโรงพยาบาล ซึ่งตามปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที หัตถการนี้สามารถทำระหว่างการผ่าตัดคลอด หลังจากการคลอดทางช่องคลอด หรือในช่วงเวลาใดก็ได้
การผ่าตัดอาจทำภายใต้การดมยาสลบ การใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือการบล็อกไขสันหลัง (Spinal block) โดยทั่วไป แพทย์จะเปิดแผล 1-2 แผลบริเวณหน้าท้อง ก่อนจะใส่แก๊ซเข้าไปเพื่อให้ช่องท้องขยายจนสามารถมองเห็นท่อนำไข่และมดลูกได้ชัดขึ้น หลังจากนั้นก็จะใส่กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อแคบๆ ซึ่งมีกล้องและไฟอยู่ภายในเข้าไปในหน้าท้อง แล้วจะใส่เครื่องมือผ่านทางกล้อง (หรือที่อีกแผลหนึ่ง) เพื่อทำการผูกท่อนำไข่ โดยจะทำการตัด ผูก หนีบ และรัด และอาจมีการใช้จี้ไฟฟ้าเพื่อช่วยปิดท่อนำไข่ ในกรณีที่ต้องการทำพร้อมกับการผ่าตัดคลอด แพทย์จะสามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องลงแผลเพิ่ม
หลังจากการผ่าตัดผูกท่อนำไข่
ผู้เข้ารับการผ่าตัด สามารถกลับบ้านในวันเดียวกับที่ผ่าตัดได้ แต่ควรมีผู้ขับรถให้ เพราะอาจมีอาการปวดท้องหรือปวดไหล่ภายหลังจากการผ่าตัด ซึ่งแพทย์อาจสั่งยาแก้ปวดหรือแจ้งชนิดของยาแก้ปวดที่สามารถไปซื้อมารับประทานเองได้ ระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักและการมีเพศสัมพันธ์ 1-2 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด
หากพบอาการดังต่อไปนี้หลังการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- มีไข้
- รู้สึกมึนศีรษะหรือจะเป็นลม
- มีการซึม เลือดออก บวม หรือแดงที่แผล
- อาเจียนหรือมีอาการคลื่นไส้ตลอดเวลา
- ปวดบริเวณที่ผ่าตัดหรือรังไข่มาก
ความเสี่ยงในการทำผ่าตัดผูกท่อนำไข่
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดผูกท่อนำไข่ ได้แก่
- หมันหลุด (ผู้หญิง 1 ใน 200 คนอาจกลับมาตั้งครรภ์ได้หลังการผ่าตัด)
- มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูก หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
- อาจมีผลกระทบต่อลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ และเส้นเลือด
- อาจมีการติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด