ยานัตถุ์เป็นยาแผนโบราณ มีการใช้ยานัตถุ์กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนชนชั้นสูง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงของประเทศจีน มีการจดบันทึกว่าจักรพรรดิสะสมขวดยานัตถุ์ซึ่งมีลักษณะเป็นขวดแก้วตกแต่งอย่างสวยงามเป็นจำนวนมาก ถือว่ายุคนั้นเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของยานัตถุ์เลยก็ว่าได้ ส่วนในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานที่มาของยานัตถุ์อย่างชัดเจน เพียงมีบันทึกว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชาวเปอร์เซียนำยาสูบคล้ายยานัตถุ์เข้ามาเผยแพร่ และคนไทยสูบยานี้กันโดยทั่วไป
ยานัตถุ์คือยาอะไร?
ยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประชาชนสามารถซื้อมารับประทานได้ด้วยตนเอง เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและมีความปลอดภัยสูง หากใช้ตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า
ยานัตถุ์ใช้รักษาอาการอะไร?
จริงๆ แล้วผงยานัตถุ์ใช้รักษาอาการเกี่ยวกับอวัยวะทางเดินหายใจตั้งแต่ศีรษะเป็นต้นไป สรรพคุณของยานัตถุ์คือแก้อาการปวดศีรษะ บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ทำให้จมูกโล่ง หายใจสะดวก แก้ไมเกรน แก้ภูมิแพ้อากาศ และรักษาอาการโรคริดสีดวงจมูกได้ รสชาติยานัตถุ์คล้ายกับวาซาบิของประเทศญี่ปุ่น เมื่อนัดยาเข้าไปในจมูกจะทำให้หายใจโล่งขึ้น บรรเทาอาการปวดศีรษะ ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจได้
ส่วนที่มีผู้สงสัยว่ายานัตถุ์ใช้แก้ฝี แก้หิด ได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เรื่องยานัตถุ์กับฝีและหิตเป็นเพียงคำคล้องจองเท่านั้น ส่วนประกอบหลักของยานัตถุ์ทั่วไปจะประกอบด้วยยาฉุน พิมเสน โกฐสอ โกฐหัวบัว โกฐเชียง อบเชย และปูนแดง ผู้ผลิตบางรายอาจจะเพิ่มหรือลดยาสมุนไพรบางตัวก็ได้ ตามสูตรและจุดประสงค์ของการรักษาโดยเฉพาะ
ราคายานัตถุ์ในท้องตลาดประมาณขวดละไม่เกิน 50 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพการผลิตและชนิดของสมุนไพรที่ใช้เป้นส่วนประกอบ
สรรพคุณของส่วนประกอบหลักในยานัตถุ์
ส่วนประกอบหลักในยานัตถุ์มีสรรพคุณดังต่อไปนี้
- โกฐสอ เนื้อในมีน้ำมันหอมระเหยกลิ่นหอม การศึกษาฤทธืทางเภสัชวิทยาพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้เป็นยาบรรเทาอาการไข้หวัด คัดจมูก แก้ริดสีดวงจมูก ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและลม หรือในกลุ่มของยาหอมนั่นเอง
- โกฐหัวบัว กลิ่นหอมฉุน และมีน้ำมันหอมระเหยบริเวณเหง้า ช่วยต้านการอักเสบได้ ช่วยขับลม แก้ลมเบื้องสูง หรือลมที่ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะ เป็นส่วนประกอบหนึ่งในตำรับยาหอม จากบัญชียาหลักสมุนไพร
- โกฐเชียง หรือรากตังกุย กลิ่นหอมฉุน เป็นสมุนไพรรสขมร้อน มีน้ำมันระเหยช่วยแก้อาการวิงเวียน แก้ลม แก้หอบ และแก้ริดสีดวงจมูกได้
- อบเชย กลิ่นหอม ช่วยต้านการอักเสบ แก้อาการอ่อนเพลีย แก้หวัดคัดจมูก และแก้อาการปวดศีรษะได้
- พิมเสน มีกลิ่นหอมเย็น ใช้เป็นยากระตุ้นระบบทางดินหายใจ ทำให้หายใจสะดวกขึ้น แก้ลมวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย
- ยาฉุน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ยาสูบ” ส่วนใบที่นำมาทำยาช่วยระงับประสาท ทำให้นอนหลับง่าย ช่วยแก้หอบหืด
- ปูนแดง ได้จากการนำเปลือกหอยมาบดเป็นผงขาว ผสมกับขมิ้น ช่วยลดอาการอักเสบและอาการปวดได้
อุปกรณ์และวิธีการนัดยา
อุปกรณ์หลักๆ สำหรับนัดยา ประกอบไปด้วย กล้องยานัตถุ์ มีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) ปลายข้างหนึ่งมีขนาดเล็กสำหรับสอดทางรูจมูก อีกข้างมีขนาดใหญ่ไว้สอดเข้าทางปาก วิธีการนัดยา คือ เทผงยาใส่มือพอประมาณ เกลี่ยให้ผงยากระจาย ไม่จับตัวกันเป็นก้อน จากนั้นใช้กล้องยานัตถุ์ด้านรูใหญ่ตักผงยาเข้าไป และสอดรูดังกล่าวเข้าทางปาก ให้รูเล็กอีกด้านเข้าทางจมูก สูดหายใจเข้าช้าๆ ยานัตถุ์จะค่อยๆ เข้าไปในระบบทางเดินหายใจช้าๆ
ข้อควรระวังในการใช้ยานัตถุ์
- ไม่ควรใช้ผงยานัตถุ์ในปริมาณมาก เนื่องจากสมุนไพรส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นสมุนไพรร้อน อาจเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจและเกิดอาการสำลักได้ ที่สำคัญคือควรปฏิบัติตามฉลากยาข้างขวดยาอย่างเคร่งครัด
- หากมีการอักเสบในทางดินหายใจ เช่น จมูกบวม แดง มีอาการปวด หรือมีแผล ไม่ควรใช้ยานัตถุ์
- การใช้ยานัตถุ์เป็นเวลานานอาจเกิดการสะสมผงยาในโพรงจมูก จนกลายเป็นสิ่งสกปรกและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้นเมื่อนัดยาแล้ว ควรใช้น้ำเกลือล้างจมูกหรือใช้สำลีก้านก็ได้เช่นเดียวกัน
- เลือกซื้อยานัดที่มีฉลากยาและเลขทะเบียนตำรับยากำกับชัดเจน มีการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยในการใช้สมุนไพร เนื่องจากตำรับยานัตถุ์มีส่วนประกอบของยาสูบ อาจทำให้เกิดการเสพติดยานัตถุ์ และเป็นอันตรายต่อร่างกายภายหลังได้