"บริจาคอวัยวะ ระวังชาติหน้าไม่ครบ 32 นะ" เป็นประโยคที่หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านๆ หรือได้ยินมากับหูตัวเองเมื่อบอกผู้สูงอายุในบ้านว่าจะบริจาคอวัยวะให้ผู้อื่น ซึ่งความจริงควรถือว่าเป็นการทำบุญใหญ่ด้วยการต่อชีวิตให้ผู้อื่นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ร่างกายจะสูญสลายกลายเป็นเถ้าถ่าน โดยร่างกายของผู้บริจาค 1 คน สามารถบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยได้มากถึง 7 อวัยวะ ได้แก่
- หัวใจ
- ปอด 2 ข้าง
- ไต 2 ข้าง
- ตับ
- ตับอ่อน
นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถนำเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูก เส้นเอ็น และกระจกตา ไปปลูกถ่ายได้อีกด้วย โดยอวัยวะที่ได้รับการนำไปปลูกถ่ายมากที่สุด ได้แก่ ไต ตับ และหัวใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อยากบริจาคอวัยวะ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
หากมีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- มีอายุไม่เกิน 60 ปี (รายละเอียดขึ้นอยู่กับอวัยวะที่บริจาค หากเป็นหัวใจ ผู้บริจาคต้องมีอายุไม่เกิน 50 ปี แต่ถ้าเป็นตับ ผู้บริจาคอาจมีอายุได้มากถึง 75 ปี เป็นต้น)
- ไม่ได้เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต และโรคติดสุราเรื้อรัง
- ปราศจากเชื้อที่สามารถถ่ายทอดในการปลูกถ่ายอวัยวะได้ เช่น เชื้อ HIV หรือเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
บริจาคอวัยวะที่ใดได้บ้าง สามารถดำเนินการจากที่บ้านได้หรือไม่?
หากตรวจสอบแล้วว่าตนเองสามารถบริจาคอวัยวะได้ ขั้นตอนต่อไปคือการกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ซึ่งแบบฟอร์มนี้สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ http://www.organdonate.in.th/ หรือโทรศัพท์ไปที่สายด่วนศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย 1666 เพื่อขอให้ส่งแบบฟอร์มมาให้ทางไปรษณีย์ หลังจากกรอกแบบฟอร์มเสร็จ ให้ส่งไปรษณีย์กลับไปที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
เมื่อศูนย์บริจาคอวัยวะได้รับข้อมูลแล้ว จะมีการส่งบัตรประจำตัวผู้บริจาคอวัยวะกลับมาให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้ สำหรับผู้ที่ไม่อยากรอบัตรนาน หรือกลัวว่าไปรษณีย์จะทำเอกสารตกหล่น สามารถเดินทางไปกรอกแบบฟอร์มพร้อมรอรับบัตรประจำตัวผู้บริจาคอวัยวะทันที ตามสถานที่เหล่านี้
- ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สภากาชาดไทย
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นต้น
- สำนักเหล่ากาชาดทุกจังหวัด
- หน่วยรับบริจาคอวัยวะเคลื่อนที่
อวัยวะแต่ละชิ้น จะนำไปปลูกถ่ายให้ใคร และอย่างไร?
นอกเหนือจากการตัดสินใจของผู้บริจาคอวัยวะ สิ่งที่ยากเย็นไม่แพ้กัน คือกระบวนการเก็บรักษาอวัยวะของผู้บริจาคเพื่อนำไปปลูกถ่าย ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรให้มีความลงตัว และเป็นธรรมที่สุด
แต่ละอวัยวะมีวิธีการเก็บรักษา และการนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยดังต่อไปนี้
- หัวใจและปอด ทั้งหัวใจและปอด สามารถเก็บรักษาเพื่อนำไปปลูกถ่ายได้ภายใน 4-5 ชั่วโมง โดยจะต้องเก็บไว้ในภาชนะบรรจุน้ำแข็งเพื่อรักษาเนื้อเยื่อตลอดเวลาจนกว่าจะนำไปปลูกถ่าย ส่วนปอดจะต้องมีการให้ออกซิเจนเหมือนยังทำงานตามปกติ เพื่อรักษาอวัยวะให้คงสภาพมากที่สุด ส่วนมากมักจะนำไปปลูกถ่ายในผู้ที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวรุนแรง ผู้ที่เป็นโรคปอดระยะสุดท้าย ทั้งจากปอดเองและเกิดจากหัวใจ รวมถึงโรคหัวใจพิการที่เกิดจากปอด
- ไต สามารถเก็บรักษาในภาชนะบรรจุน้ำแข็งได้นาน 24-48 ชั่วโมง มักจะนำไปปลูกถ่ายในผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง
- ตับและตับอ่อน สามารถเก็บรักษาในภาชนะบรรจุน้ำแข็งได้นาน 12 ชั่วโมง แต่หากเก็บรักษาในน้ำยาพิเศษ จะสามารถเก็บได้นานถึง 18 ชั่วโมง มักนำไปปลูกถ่ายในผู้ที่เป็นโรคตับระยะสุดท้าย เช่น ตับแข็งจากสุรา ตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบี และตับวายเฉียบพลัน ส่วนตับอ่อนจะนำไปปลูกถ่ายในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือปลูกถ่ายร่วมกับไต หากผู้ป่วยมีอาการของโรคไตวายระยะสุดท้าย
เมื่อผู้บริจาคอวัยวะเสียชีวิตลง ญาติควรทำอย่างไร?
อวัยวะที่คุณบริจาคจะสามารถนำไปปลูกถ่ายต่อได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายเท่านั้น ภาวะสมองตายนี้ หมายถึงภาวะที่สมองสูญเสียการทำงานอย่างถาวร ผู้ป่วยจะยังมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ แต่ไม่มีโอกาสที่จะกลับมามีชีวิตได้อีก ส่วนมากมักเกิดจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะเลือดออกในสมอง และการได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ตามปกติผู้ที่มีภาวะสมองตายมักจะรับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ขอรับบริจาคอวัยวะตามที่ได้มีการแสดงความจำนงเอาไว้ โดยญาติจะต้องเป็นผู้ลงชื่อยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทีมแพทย์จึงจะสามารถนำอวัยวะของผู้เสียชีวิตไปใช้ต่อได้ หากญาติไม่ยินยอม หรือไม่ลงชื่อ การบริจาคจะเป็นโมฆะทันที
ส่วนกรณีเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล และหากญาติรับทราบว่าผู้เสียชีวิตได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเอาไว้ สามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วนศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย 1666 เพื่อให้ทีมแพทย์เดินทางมาตรวจร่างกายของผู้เสียชีวิตและพิจารณาว่าสามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากว่าสามารถทำได้ แพทย์จะรีบผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะภายในออกจากร่างผู้เสียชีวิตภายใน 2-4 ชั่วโมง พร้อมตกแต่งร่างกายให้คงสภาพเดิมเพื่อให้ญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนาตามปกติ
นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีผู้ลงทะเบียนรอรับอวัยวะกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย 6,245 คน แต่มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 376 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก แม้จำนวนของผู้บริจาคอวัยวะในช่วงเวลาเดียวกันจะมีมากถึง 42,264 คน แต่ด้วยเงื่อนไขของการเสียชีวิตที่ต้องเกิดจากภาวะสมองตายเท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถนำอวัยวะมาปลูกถ่ายได้ตามที่ตั้งใจ
ดังนั้น HonestDocs จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านมาร่วมกันบริจาคอวัยวะเพื่อต่อชีวิตให้ผู้ป่วยทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตกับคนที่รักอีกครั้ง และถือเป็นการทำทานปรมัตถบารมี หรือการสละชีวิต (อวัยวะ) เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ซึ่งเป็นบารมีระดับสูงสุดที่น้อยคนจะสามารถทำได้