สะเดา พืชที่ขึ้นชื่อในเรื่องรสขม ทุกส่วนของสะเดา ทั้งใบ ดอก ราก เปลือก รวมถึงเมล็ด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในไทย อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย
สะเดามีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย และใช้เป็นยาได้ด้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss
ชื่อวงศ์ Meliacea
ชื่ออื่นๆ สะเลียม (ภาคเหนือ) กะเดา (ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสะเดา
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 20-25 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา ค่อนข้างหนา แตกเป็นร่อง ใบเป็นใบประกอบขนนก ออกเรียงสลับ ใบรูปหอก โคนใบโค้งมนไม่เท่ากัน ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอกออกเป็นช่อ ออกที่ปลายกิ่งขณะแตกใบอ่อน ดอกสีขาวนวลหรือสีเทา มักจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ในดอกมีน้ำมันหอมระเหย ทำให้มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
ผลสะเดามีลักษณะกลมรีคล้ายผลองุ่น ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองอมเขียว
เมล็ดมีลักษณะกลมรี ผิวค่อนข้างเรียบ มีรอยแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว สีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล
ในประเทศไทยพบสะเดา 3 ชนิด ได้แก่ สะเดาอินเดีย สะเดาช้าง และสะเดาไทย ทั้งสามชนิดมีความคล้ายคลึงกัน นำมาใช้ทดแทนกันได้
สรรพคุณของสะเดา
แต่ละส่วนของสะเดามีสรรพคุณดังนี้
- ใบ มีรสขมฝาดเย็น รับประทานเป็นอาหารหรือต้มดื่ม ช่วยบำรุงไฟธาตุ ขับน้ำย่อย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ไข้ แก้พยาธิ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงโลหิตและน้ำดี ช่วยลดความเครียด คลายกังวล เป็นยาระบายอ่อนๆ
น้ำคั้นจากใบสามารถนำมาเป็นยาใช้ภายอก สำหรับรักษาบาดแผล น้ำร้อนลวก ผิวหนังอักเสบ พอกฝี - ดอก มีสารกลุ่มไกลโคไซด์และสารที่มีรสขม ช่วยบำรุงธาตุ แก้พิษ ขับลม
- ก้านและก้านใบ ช่วยรักษาไข้ ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- เปลือกต้น ใช้แก้ไข้ แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องเสีย ช่วยให้เจริญอาหาร และสารสกัดจากเปลือกต้นสามารถนำมาใช้เป็นยาภานอก ทารักษาริดสีดวงทวารได้
- แก่น แก้อาเจียน ขับเสมหะ
- กระพี้ แก้ถุงน้ำดีอักเสบ
- ราก ช่วยแก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ แก้ไข้
- ยาง ใช้ดับพิษร้อนในร่างกาย
- ผล มีสารให้รสขมชื่อ บากายานิน (Bakayanin) สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาระบาย รักษาริดสีดวงทวาร
- น้ำมันจากเมล็ด เป็นสารที่ให้รสขม มีชื่อว่ามาร์โกสิกแอซิด (Margosic acid) 45% และสารนิมบิดิน (Nimbidin) ใช้เป็นยาภายนอก รักษาโรคผิวหนัง และสามาราถนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้
นอกจากนี้ทั้งส่วนเปลือก ใบ และผลของสะเดา ยังมีสารโพลีแซกคาไรด์ (Polysaccharides) และลิโมนอยด์ (Limonoids) ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอก และมะเร็ง
กินสะเดาอย่างไร กินส่วนไหนได้บ้าง?
การรับประทานสะเดาในมื้ออาหารหรือรับประทานเป็นยา ทำได้ดังนี้
- ช่อดอก นำมาลวกด้วยน้ำร้อน รับประทานกับน้ำพริกหรือน้ำปลาหวาน
- ส่วนอื่นๆ ของสะเดา ใช้ประมาณ 1 กำมือ ต้มน้ำ ประมาณ 10-15 นาที รับประทานก่อนอาหาร
ข้อควรระวังในการรับประทานสะเดา
แม้จะมีประโยชน์มาก แต่การรับประทานสะเดาอย่างไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนี้
- การรับประทานในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดท้องเสียได้
- การรับประทานปริมาณต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้ส่งผลเสียต่อตับและไตได้
หากต้องการรับประทานสะเดาเป็นยารักษาโรค ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง เพื่อกำหนดปริมาณที่เหมาะสม ให้ปลอดภัยในการใช้