คู่มือเตรียมพร้อมก่อนประจำเดือนมาครั้งแรก

รู้ทุกเรื่องเบื้องต้นเกี่ยวกับประจำเดือน ตั้งแต่สัญญาณบอกว่าประจำเดือนจะมา การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และเคลียร์คำถามที่มักพบบ่อย
เผยแพร่ครั้งแรก 30 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
คู่มือเตรียมพร้อมก่อนประจำเดือนมาครั้งแรก

การมีประจำเดือนครั้งแรกเป็นสัญญาณว่าตัวคุณได้เข้าสู่ช่วงวัยที่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ซึ่งเด็กสาวแต่ละคนจะเข้าสู่ภาวะที่ว่านี้ไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์เป็นหลัก รองลงมาคือพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม รายละเอียดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่สังเกตได้ก่อนประจำเดือนมาครั้งแรก กลไกการเกิดเลือดประจำเดือน สิ่งที่ควรสังเกตเกี่ยวกับประจำเดือน ปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนมาช้าหรือเร็วกว่าคนอื่น มีดังนี้

สัญญาณเตือนก่อนประจำเดือนมา

ก่อนจะมีประจำเดือนครั้งแรกประมาณ 6-12 เดือน คุณอาจสังเกตว่ามีของเหลวในช่องคลอดหรือบนกางเกงในมากขึ้น เรียกว่า "ตกขาว" ของเหลวนี้อาจมีสีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่น และเมื่อแห้งอยู่บนกางเกงใน ของเหลวนั้นๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นคราบออกสีเหลืองอ่อน ของเหลวดังกล่าวเกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ออกมามากขึ้น จนทำให้แบคทีเรียที่ดีภายในช่องคลอดเติบโตมากขึ้น (ของเหลวที่ออกมาจะมีความเป็นกรดมากขึ้น) และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนประจำเดือนครั้งแรกมาถึง คุณอาจสังเกตว่าของเหลวเหล่านี้มีความเปลี่ยนแปลงหรือเกิดความเหนียวข้นกว่าปกติ จนมีลักษณะคล้ายกับน้ำแป้งหรือไข่ขาว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมื่อไหร่ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอ?

เป็นเรื่องปกติที่ในช่วง 2 ปีแรกรอบประจำเดือนจะมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งจำนวนวันที่มีประจำเดือน ระยะห่างของการมีประจำเดือนแต่ละครั้ง และอาการที่ประสบในแต่ละรอบประจำเดือนด้วย เช่น บางเดือนประจำเดือนอาจมาน้อยมาก และมีอยู่ไม่กี่วันก็หายไป แต่บางเดือนกลับมีประจำเดือนหลายวัน ที่เป็นอย่างนั้นเนื่องจากก่อนจะมีประจำเดือน ฮอร์โมนเจริญพันธุ์ในร่างกายของเด็กผู้หญิงซึ่งได้แก่ เอสโตรเจน (Estrogen) โปรเจสเตอโรน (Progesterone) เทสโทสเตอโรน (Testosterone) จะถูกผลิตออกมาในปริมาณที่สมดุล จนเมื่อถึงอายุประมาณ 9-15 ปี (แต่ละคนไม่เท่ากัน) ฮอร์โมนเหล่านั้นจะมีระดับขึ้นๆ ลงๆ จนกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ (Ovulation) และผนังเยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเลือดไหลออกทางช่องคลอดหรือประจำเดือน

นอกจากนี้ฮอร์โมนดังกล่าวทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นในช่วงมีรอบเดือน เช่น อาการปวด มีสิว จนอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ในช่วงปีแรกๆ ของการมีประจำเดือน ฮอร์โมนต่างๆ จะยังคงไม่ถูกปล่อยออกมาเพียงพอจะทำให้เกิดการตกไข่สำเร็จทุกครั้งในทุกรอบเดือน จึงเป็นผลให้ร่างกายมีการตกไข่เกิดขึ้นเพียงประมาณ 2 จาก 10 ครั้งต่อปี (ช่วงปีแรก) หลังจากผ่านไปประมาณ 2-3 ปี รอบเดือนของแต่ละคนจะเริ่มมาเป็นเวลาเอง

อาการปกติ Vs อาการน่าเป็นห่วง เกี่ยวกับประจำเดือน

ในช่วงสองปีแรกหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นเรื่องปกติที่คุณจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ อาจอยู่ในช่วง 21-45 วัน หรืออาจมีระยะเวลาสั้นหรือยาวกว่านี้ก็ได้
  • มีประจำเดือนยาวนานกว่า 7 วัน
  • มีปริมาณเลือดประจำเดือนออกมากขนาดต้องใช้ผ้าอนามัยรองรับ 3-6 ชิ้นต่อวัน
  • มีอาการปวดท้องน้อย และ/หรือปวดหลังส่วนล่าง ระหว่างหรือหลังจากที่มีประจำเดือน

แต่หากมีอาการเหล่านี้ แนะนำว่าไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษา

  • อายุ 15 ปีแล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือน
  • มีอาการเจ็บหรือปวดรุนแรง แม้รับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ได้ผล
  • ผ่านประจำเดือนครั้งแรกมาแล้วหลายปี แต่มีรอบเดือนที่ห่างจากขอบเขตที่ควรเป็นที่ 21-45 วัน
  • มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมออย่างมาก โดยนับจากรอบเดือนที่มีประจำเดือนมาปกติอย่างน้อย 6 เดือน
  • ไม่มีประจำเดือนนานกว่า 90 วัน
  • มีขนขึ้นบนใบหน้า มีขนตามร่างกายอย่างผิดปกติ หรือผมบนศีรษะบางลง

สิ่งที่ควรสังเกตเกี่ยวกับประจำเดือน

สิ่งที่ควรสังเกตเมื่อประจำเดือนมานั้นรวมทั้งหมดตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในอนาคต เช่น ทำให้ทราบถึงช่วงเวลาการตกไข่ หรือประมาณเวลาที่จะมีประจำเดือนของตนเองได้แม่นยำขึ้น ทั้งยังช่วยให้คุณทราบถึงความปกติของตัวเอง ซึ่ง “ปกติ” ของผู้หญิงแต่ละคนนั้นก็ไม่เหมือนกัน

เมื่อก่อนการสังเกตสิ่งที่ว่านี้อาจต้องพึ่งสมุดบันทึกหรือปฏิทินส่วนตัว แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยให้สะดวกขึ้น คือแอปพลิเคชันติดตามประจำเดือน ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะบันทึกวันประจำเดือนมา สีของประจำเดือนในแต่ละวัน ความรู้สึกของตัวเอง รวมไปถึงบันทึกการมีเพศสัมพันธ์และการป้องกันได้ด้วย

ประโยชน์ของการสังเกตและติดตามประจำเดือน

รอบประจำเดือนเปรียบเหมือนสัญญาณที่ร่างกายพยายามสื่อสารออกมา เช่นเดียวกับความดันโลหิตหรือชีพจร ดังนั้นคุณจึงควรสังเกตประจำเดือนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการบางอย่างอาจแสดงถึงภาวะผิดปกติของฮอร์โมน ที่หากรู้เร็วก็สามารถรักษาให้หายได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ที่มักเป็นในวัยรุ่นได้แก่ โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome (PCOS)) และภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ทั้งสองอย่างนี้สามารถรักษาได้ง่าย ไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่อย่างใด

สำหรับผู้ที่กังวลเรื่องการตรวจภายใน การปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ไม่จำเป็นต้องถูกสั่งตรวจภายในเสมอไป อาจเป็นการพูดคุยหรือซักประวัติเท่านั้นก็ได้ หรือแม้จะต้องตรวจภายใน คุณก็จะได้รับคำแนะนำอย่างละเอียดจากแพทย์ก่อน

การมีประจำเดือนเท่ากับว่าตั้งท้องได้แล้วจริงหรือ?

จริง และและสิ่งที่ควรทราบอีกอย่างคือคุณสามารถตั้งครรภ์ได้แม้ว่าจะยังไม่เคยมีประจำเดือนครั้งแรก เนื่องจากการตกไข่และการเจริญเติบโตของผนังเยื่อบุมดลูกนั้นเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะมีประจำเดือนครั้งแรก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หากจะมีเพศสัมพันธ์จึงควรป้องกันไว้ก่อน แม้ว่าจะยังไม่มีประจำเดือนก็ตาม

เด็กสาวส่วนใหญ่มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุเท่าไร?

ประจำเดือนครั้งแรกมักจะเริ่มขึ้นเมื่อเด็กสาวอยู่ในช่วงอายุ 9-15 ปี ซึ่งจะเกิดหลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ คือเริ่มมีลักษณะของวัยแรกรุ่นหรือเป็นสาว เช่น มีหน้าอก มีขนขึ้นที่รักแร้ ไปแล้วประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึงไม่เกิน 3 ปี 

อายุเฉลี่ยของเด็กสาวที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกอยู่ที่ 12-13 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นก่อนหรือล่าช้ากว่านั้นได้ อีกทั้งประจำเดือนครั้งแรกก็มักจะผันแปรกันออกไปแต่ละประเทศ เชื้อชาติ พันธุกรรม และแหล่งที่อยู่อาศัยอีกด้วย

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อายุเฉลี่ยของเด็กสาวที่มีประจำเดือนครั้งแรกนั้นค่อยๆ เด็กลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการเข้าถึงอาหารที่หลากหลายมากขึ้น เรื่องสุขอนามัย และยังมีปัจจัยนอกเหนือจากนี้ ได้แก่ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีภาวะอ้วน การปนเปื้อนสารเคมีในสิ่งแวดล้อม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ปัจจัยที่ทำให้มีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว

นอกจากพันธุกรรมแล้ว อาหารก็มีบทบาทต่อการมีประจำเดือนครั้งแรกเช่นกัน โดยผู้ที่มีดัชนีมวลกายสูง (Body Mass Index: BMI) จะมีโอกาสมีประจำเดือนครั้งแรกเร็วกว่ากลุ่มตรงกันข้าม หรือแม้แต่ค่า BMI สมัยที่คนคนนั้นยังเป็นทารกก็มีส่วนเช่นกัน 

ประจำเดือนมักจะเกิดขึ้นเร็วในกลุ่มผู้ที่ชอบทานโปรตีนจากสัตว์ และชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและ/หรือน้ำตาลสูง ซึ่งการเข้าสู่วัยที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อยสามารถส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในช่วงอายุมากได้ จึงเป็นสาเหตุให้ควรดูแลด้านโภชนาการและคงระดับน้ำหนักของเด็กสาวให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

การสัมผัสถูกสารเคมีตามสภาพแวดล้อมตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือตั้งแต่ช่วงที่เป็นทารกเองก็มีส่วนทำให้มีประจำเดือนครั้งแรกเร็วกว่ากำหนดเช่นกัน โดยสารเคมีนั้นอาจรวมไปถึง DDT และสารเคมีกำจัดแมลงรบกวนบางประเภท เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้มีประจำเดือนครั้งแรกช้า

การมีประจำเดือนครั้งแรกช้ามักเกิดกับผู้ที่มีรูปร่างผอม หรือมี BMI ต่ำ โดยค่า BMI ที่ต่ำนั้นอาจเป็นผลมาจากพันธุกรรมหรือภาวะทางการแพทย์ต่างๆ ที่ทำให้น้ำหนักลดหรือมีพลังงานต่ำก็ได้ อย่างเช่นโรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) หรือภาวะทางระบบทางเดินอาหารต่างๆ

ภาวะมีประจำเดือนช้ามักจะพบในเด็กสาววัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บกพร่องทางโภชนาการที่สำคัญ หรือมีนิสัยเลือกกิน รวมไปถึงกลุ่มสาวที่ชอบออกกำลังกายอย่างหนักเป็นประจำ โดยเฉพาะกีฬาที่เสริมสร้างขนาดของร่างกายอย่างบัลเล่ห์ ยิมนาสติก วิ่งระยะไกล โดยปัจจัยด้านโภชนาการและการออกกำลังกายมักทำให้มีประจำเดือนล่าช้าออกไปประมาณ 1 ปีโดยเฉลี่ย

นอกจากนี้ ประจำเดือนครั้งแรกอาจเกิดขึ้นล่าช้าเนื่องจากประสบการณ์ทางจิตวิทยาที่ประสบตั้งแต่เด็ก หรือการสัมผัสถูกสารพิษตามธรรมชาติอย่างปรอทก็ได้

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ด้านบนได้บอกไปแล้วว่า “ปกติ” ของผู้หญิงแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นเด็กสาวบางคนอาจประจำเดือนมาล่าช้าทั้งที่ไม่ได้ผิดปกติอะไรเลย แต่เพื่อความแน่ใจว่าการล่าช้านั้นปกติหรือไม่ ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สมาคมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นไทย, หนุ่มสาวก่อนวัย (http://thaipedendo.org/news/หนุ่มสาวก่อนวัย/)
ศ.พญ.สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เด็กตัวเตี้ย (https://meded.psu.ac.th/binla/class05/388_551/Short_stature/index1.html)
ผู้หญิงวัยแรกรุ่น, เอกสารเผยแพร่ความรู้, อนุกรรมการสุขภาพวัยรุ่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และชมรมสุขภาพวัยรุ่น (http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20170410104908.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป