เมลาโทนิน

เผยแพร่ครั้งแรก 21 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
เมลาโทนิน

การนอนหลับเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกๆ ที่จะช่วยทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตให้เป็นปกติสุขได้ แต่สาเหตุของการนอนหลับนั้นหาใช่ที่ปัจจัยภายนอกร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยภายในที่เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ผู้คนนอนหลับได้หรือไม่อีกอย่างหนึ่งก็คือ “เมลาโทนิน” 

เมลาโทนินคืออะไร

เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายหลั่งขึ้นมาจากต่อมไพเนียลที่มีขนาดเล็ก การทำงานของต่อมนี้จะขึ้นอยู่กับแสงสว่าง ดังนั้นในเวลากลางวันต่อมนี้จะไม่ทำงาน แต่จะทำงานก็ต่อเมื่อไม่มีแสงสว่างหรือเวลากลางคืน โดยขณะทำงานจะมีการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินเข้าสู่กระแสเลือดติดต่อกัน 12 ชั่วโมง ดังนั้นช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ทำให้รู้สึกง่วงนอนนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

หน้าที่และความสำคัญ

เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่มีผลกับการนอนหลับ ทำให้ร่างกายรู้สึกว่าง่วงและต้องนอนพักผ่อน ซึ่งมีความสำคัญต่อมนุษย์และสัตว์ดังนี้

  • สัตว์ เป็นตัวที่ช่วยควบคุมระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นไปตามเวลา เช่น เมื่อถึงฤดูฝนก็จะสืบพันธุ์ เมื่อถึงฤดูหนาวจะทำให้ขนของสัตว์ยาวขึ้น หรือการจำศีลเมื่อถึงช่วงหน้าร้อน
  • มนุษย์ เมื่อร่างกายหลั่งเมลาโทนินออกมาในปริมาณที่สูง จะทำให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย รวมทั้งอุณหภูมิในร่างกายก็ลดลงด้วย ทำให้รู้สึกง่วงนอนและนอนหลับได้ โดยร่างกายจะรับรู้อย่างอัตโนมัติว่าเป็นเวลาพักผ่อน แต่ถ้าเมลาโทนินมีในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลกับนาฬิกาชีวิตที่ทำให้เวลาไม่คงที่จนเกิดปัญหาในการนอนได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์เมลาโทนินขึ้นมาในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยา สามารถนำมาใช้ในผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ 

ประโยชน์ของเมลาโทนิน

  • ช่วยให้ร่างกายสามารถปรับตัวในการนอนหลับได้ขณะเปลี่ยนเขตของเวลา ซึ่งจะมีอาการนอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย อาหารไม่ย่อย หรือที่เรียกว่าอาการเจ็ทแลคนั่นเอง
  • รักษาความผิดปกติอันเกิดจากการนอนหลับผิดเวลา ผู้ที่มีอาการแบบนี้มักจะนอนดึก แต่ไม่สามารถตื่นนอนได้ง่ายๆ โดยอาจต้องใช้การปรับสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสมร่วมด้วย หากใช้เมลาโทนินก็จะช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้
  • ช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับที่เป็นความผิดปกติจากการนอนหรือเกิดจากวัยที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยๆ ถ้าใช้เมลาโทนินก็จะช่วยให้หลับง่ายและนอนได้ยาวนานขึ้น
  • เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นหรือนอนได้น้อย เมื่อใช้เมลาโทนินก็จะช่วยได้พอสมควร แต่ยังคงพบผลข้างเคียงอยู่บ้าง อย่างเช่นมีอาการชักและอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในช่วงวัยรุ่นอีกด้วย
  • ช่วยรักษาอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอัลไซเมอร์ และโรคมะเร็ง แต่ก็ยังพบผลลัพธ์ที่ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  

ผลข้างเคียงของการใช้เมลาโทนิน

อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ใช้เมลาโทนินในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากมักจะมีอาการปวดศีรษะ มวนท้อง หงุดหงิด มึนงง ง่วงนอนระหว่างวันมาก และมีอาการซึมเศร้าในระยะสั้นๆ รวมทั้งผลเสียต่ออารมณ์ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ 

ข้อควรระวังในการใช้เมลาโทนิน

  • ผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคต่างๆ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
  • สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากดภูมิคุ้มกัน และยารักษาโรคเบาหวาน การใช้เมลาโทนินอาจมีผลกระทบกับยาเหล่านี้ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
  • เมลาโทนินที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทสมุนไพร มักพบว่ายังไม่มีมาตรฐานของการผลิต ดังนั้นควรซื้อจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัย 

ถึงแม้ว่าเมลาโทนินจะเป็นตัวช่วยที่สามารถทำให้หลับได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ควรทำร่างกายให้เป็นกิจวัตรประจำวันด้วยการนอนหลับให้เป็นเวลา สร้างบรรยากาศให้น่านอนอย่างเช่นปิดไฟหรือเปิดไฟสลัวๆ ไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ออกกำลังกายช่วงเช้า และดื่มน้ำให้เพียงพอ เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เมลาโทนินอีกต่อไป


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Melatonin Sleep Aid Supplement: Effectiveness, Dosage, & Side Effects. WebMD. (https://www.webmd.com/sleep-disorders/what-is-melatonin)
Side Effects of Melatonin: What Are the Risks?. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/melatonin-side-effects)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)