กรุ๊ปเลือดคืออะไร...ทำไมถึงสำคัญ?

กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือดที่แบ่งออกโดยระบบ ABO จะประกอบด้วยหมู่เลือด A B AB และ O การรู้หมู่เลือดจำเป็นมากสำหรับการรักษาที่ต้องมีการให้เลือด
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
กรุ๊ปเลือดคืออะไร...ทำไมถึงสำคัญ?

ในอดีต มีการถ่ายเลือดในการรักษารักษาโรค ปรากฏว่าคนไข้ส่วนมากจะเสียชีวิต ผลการถ่ายเลือดไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการ จนกระทั่ง Karl Landsteiner นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรียได้พบความลับของ หมู่เลือด หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า กรุ๊ปเลือด ทำให้ข้อสงสัยเรื่องการถ่ายเลือดหมดสิ้นไป

กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือดคืออะไร?

หมู่เลือด เป็นการจัดกลุ่มตามโปรตีนที่ปรากฏอยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง (Antigen) แอนติเจนเหล่านี้เป็นตัวแสดงให้เห็นถึงชนิดของเม็ดเลือดแดงที่สร้างมาแต่กำเนิด

ร่างกายจะยอมรับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีแอนติเจนตรงกับร่างกาย และหากมีเม็ดเลือดแดงที่มีแอนติเจนแปลกปลอม ร่างกายจะเข้าทำลายเม็ดเลือดแดงนั้น

แอนติเจนที่เกาะที่ผิวเพื่อแสดงตัวตนของเม็ดเลือดมีมากมายหลายระบบ ขึ้นอยู่กับจะจำแนกโดยใช้โปรตีนใด

ระบบการจำแนกหมู่เลือดที่รู้จักกันแพร่หลายคือ หมู่เลือดระบบ ABO ที่คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner)  ค้นพบ มียีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนนี้บนโครโมโซมคู่ที่ 9 เมื่อยีนมีความผันแปรตามบุคคล หมู่เลือดก็ผันแปรตามไปด้วย เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของบุคคลนั้น

ระบบจำแนกหมู่เลือดอื่นที่มีใช้ เช่น ดัฟฟี (Duffy) รีซัส (Rhesus)

กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือดระบบ ABO

หมู่เลือดในระบบ ABO นี้สามารถจัดหมู่ออกได้เป็น 4 หมู่คือ A, B, AB และ O ใช้แอนติเจนที่อยู่บนเม็ดเลือดแดงเป็นตัวเรียกชื่อ

เมื่อร่างกายมีแอนติเจนใดบนผิวเม็ดเลือดแดง ร่างกายจะสร้างโปรตีนเพื่อมาจับทำลายเม็ดเลือดแปลกปลอม (Antibody)

สำหรับในระบบหมู่เลือด ABO นี้ หากร่างกายสร้างแอนติเจนใด ก็จะสร้างแอนติบอดีฝั่งตรงข้ามออกมา โดยสร้างทันทีพร้อมการสร้างเม็ดเลือด

หมู่เลือดอื่นๆ อาจจะต้องได้รับเลือดแปลกปลอมเข้าไปก่อน จึงกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีต่อหมู่เลือดนั้น

การแจกแจงชนิดหมู่เลือด ABO ตามแอนติเจนและแอนติบอดี มีดังนี้

  • กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือด A มีแอนติเจน A อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด ร่างกายจะสร้างแอนติบอดี B ออกมาในน้ำเลือด
  • กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือด B มีแอนติเจน B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด ร่างกายจะสร้างแอนติบอดี A ออกมาในน้ำเลือด
  • กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือด AB มีทั้งแอนติเจน A และแอนติเจน B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด ร่างกายจะไม่สร้างแอนติบอดีชนิดใดออกมาเลย
  • กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือด O ไม่มีแอนติเจน A และ B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด ร่างกายจะสร้างทั้งแอนติบอดี A และแอนติบอดี B ออกมาในน้ำเลือด

เมื่อใดก็ตามที่มีแอนติเจนและแอนติบอดีชนิดเดียวกัน ทั้งคู่จะจับตัวกันและตกตะกอน ทำให้เม็ดเลือดแดงนั้นใช้ไม่ได้และแตกสลาย

สิ่งนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นหากให้เลือดผิดหมู่ เช่น หากเรามีหมู่เลือด B ซึ่งจะมีแอนติบอดี A ในน้ำเลือด หากได้รับเลือดหมู่ A แอนติเจนและแอนติบอดีจะตรงกัน เข้าจับตัวทำปฏิกิริยาและตกตะกอนทันที เป็นที่มาของภาวะเม็ดเลือดแดงแตก

สำหรับหมู่เลือด AB ที่ไม่มีแอนติบอดีใดเลยในน้ำเลือด ในทางทฤษฎีสามารถรับเลือดได้ทุกหมู่ ไม่มีทางตกตะกอน แต่ในทางปฏิบัติจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะอาจมีการปนเปื้อนได้บ้างตามความหลากหลายและการกลายพันธุ์

ในทางปฏิบัติ เมื่อต้องมีการให้-รับเลือด แพทย์จึงให้เลือดตรงหมู่กัน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาเม็ดเลือดแดงตกตะกอนและแตกออก

ส่วนหมู่เลือด O นั้นจะต้องให้ตรงหมู่เสมอ เนื่องจากมีแอนติบอดีทั้ง A และ B หากมีเม็ดเลือดแดงแปลกปลอมหมู่อื่นเข้ามาจะถูกทำลายทันที

ความสำคัญของหมู่เลือดในทางการแพทย์

ปฏิกิริยาจากการจับตัวกันของแอนติเจนและแอนติบอดีอย่างที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากจะทำให้เม็ดเลือดแดงตกตะกอน เม็ดเลือดแตก ยังสามารถเกิดปฏิกิริยาอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น มีไข้ หนาวสั่น ไตวาย หลอดเลือดฝอยอักเสบ ตับอักเสบ

เพราะปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันนี้สามารถกระตุ้นกลไกการอักเสบได้อีกมากมาย การให้เลือดตรงหมู่ การตรวจสอบเลือดก่อนให้เลือด จึงมีความสำคัญมาก

เนื่องจากหมู่เลือดที่เราใช้กันในปัจจุบันสำหรับการบริการโลหิต ไม่ว่าจะเป็นการรับเลือดหรือให้เลือด ทั้งน้ำเลือด เม็ดเลือดแดง หรือเกล็ดเลือด มีหมู่เลือดที่เราใช้มากกว่าหนึ่งหมู่ ABO ที่เรารู้จักกัน

การตรวจสอบความเข้ากันได้ของหมู่เลือดหลักที่พบบ่อยและจำแนกในชาวเอเชียและคนไทย จะได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดมากกว่าหนึ่งหมู่ ทำให้ลดโอกาสปฏิกิริยาของแอนติเจนและแอนติบอดีแบบอื่นๆ ลงได้มาก

นอกเหนือจากเรื่องการให้เลือดแล้ว การทราบหมู่เลือดสามารถทำนายการสืบสายพันธุ์จากพ่อแม่สู่ลูกได้

อย่างที่ทราบแล้วว่า หมู่เลือด ABO ถูกกำหนดจากยีนบนโครโมโซมคู่ที่ 9 การผสมพันธุ์ระหว่าพ่อและแม่จะพาเอายีนมาด้วยหนึ่งตัว เมื่อมาจับคู่กันในตัวลูก จะแสดงลักษณะหมู่เลือดที่เฉพาะแบบออกมาได้

สามารถใช้พิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูกได้ระดับหนึ่ง เพราะยังมีปัจจัยเรื่องการกลายพันธุ์ของยีน และการแบ่งตัวไม่สมบูรณ์ของยีนมาคิดประกอบด้วย

ตัวอย่างกรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือดระบบอื่นที่มีความสำคัญ

หมู่เลือดระบบรีซัส (Rhesus) หมู่เลือดนี้ตั้งชื่อตามการศึกษาในลิงรีซัส ที่ใช้ระบบแอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดงเช่นกัน แอนติเจนที่สำคัญคือ แอนติเจนดี (Antigen D) ถ้ามีแอนติเจนจะเรียกว่าหมู่เลือดอาร์เอชบวก (Rh+) ถ้าไม่มีแอนติเจนจะเรียกว่าอาร์เอชลบ (Rh-)

ประชากรไทยส่วนมากจะมีหมู่เลือด Rh+ หากให้เลือดผิดหมู่ จะมีกระบวนการกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีขึ้น ไม่ได้เกิดมาตั้งแต่ต้น ต่างจากระบบเลือด ABO จึงสามารถรับเลือดต่างหมู่ได้ในครั้งแรก เมื่อสร้างแอนติบอดีแล้ว จะไม่สามารถรับเลือดต่างหมู่ได้อีกเลย

ความสัมพันธ์ของหมู่เลือดต่อระบบอวัยวะอื่นหรือภาวะจิตใจ

นอกเหนือจากการให้เลือดหรือให้อวัยวะให้ตรงหมู่แล้ว มีนักวิจัยหลายคนพยายามค้นหาความสัมพันธ์ของหมู่เลือดกับระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบการเผาผลาญพลังงาน หรือหาสัมพันธ์ระหว่างกรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือดกับบุคลิกภาพและภาวะทางจิตใจ

สมมติฐานนี้มีมาจากประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และสังคมที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ดังกล่าว 

มีการศึกษาขนาดเล็กปริมาณพอสมควรที่ศึกษาเรื่องนี้ ผลการศึกษาทั้งหมดไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์นี้ได้ ปัจจุบันจึงยังเป็นทฤษฎีที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ากรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือดมีความสัมพันธ์กับการเผาหลาญพลังงานหรือภาวะจิตใจแต่อย่างใด


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อ้อยทิพย์ ณ ถลาง. “Blood group” ตำราโลหิตวิทยา การวินิจฉัยและการรักษาที่พบบ่อยในประเทศไทย. เรียบเรียงพิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ: อักษรการพิมพ์, 2550.
พรรณวดี วัฒนบุญยงค์เจริญ, พลภัทร โรจน์นครินทร์. “Basic transfusion medicine” Essential hematology for general practitioner. พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุง 2553, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พ.อ. หญิง จุฑามาศ วุฒิวงศ์. “การให้เลือดทางสูติกรรม” การใช้โลหิตและส่วนประกอบโลหิตอย่างเหมาะสม, พิมพ์ครั้งที่ 1. ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
การให้เลือด การบริจาคเลือด และการระบุหมู่เลือด
การให้เลือด การบริจาคเลือด และการระบุหมู่เลือด

สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการให้เลือด การบริจาคเลือด และผู้บริจาคเลือดที่สามารถให้เลือดได้กับทุกหมู่

อ่านเพิ่ม