หูด ตุ่มเล็กๆ บนผิว ที่ติดต่อกันได้

เผยแพร่ครั้งแรก 24 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
หูด ตุ่มเล็กๆ บนผิว ที่ติดต่อกันได้

หูด (Warts) คือโรคผิวหนังที่ก่อให้เกิดตุ่มแข็งนูนขนาดต่างๆ กัน และมีรากอยู่ข้างใต้ หูดสามารถเกิดได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะในคนอายุน้อยอย่างเด็กเล็กและวัยรุ่น ส่วนมากเรามักจะคุ้นเคยกับหูดที่เกิดกับผิวหนังภายนอก อย่างบริเวณง่ามมือ ง่ามเท้า แต่รู้หรือไม่ว่า หูดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับแทบทุกส่วนทั่วร่างกาย รวมถึงตามเยื่อบุต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ หูดยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อีกด้วย  

สาเหตุของโรคและการติดต่อ

โรคหูด มีสาเหตุมาจากเชื้อ Human papilloma virus (HPV) ซึ่งไวรัสชนิดนี้ เมื่ออยู่ในเซลล์ผิวหนัง จะกระตุ้นให้ผิวหนังเกิดการหนาตัว นูนและแข็งขึ้น โรคหูดสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสผ่านผิวหนัง เช่น ไปสัมผัสโดนผิวหนังส่วนที่เป็นหูด หยิบจับของที่มีเชื้อโรค เชื้อไวรัสอาจเข้าสู่ร่างกายทางปาก ทางบาดแผลขีดข่วน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อก็ทำให้ติดโรคหูดได้เช่นกัน นอกจากนี้ การแกะเกาผิวหนังที่เป็นหูด ก็สามารถทำให้เชื้อไวรัสกระจายไปยังบริเวณอื่นของร่างกายได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ประเภทของหูดและอาการ

หูดสามารถแบ่งตามลักษณะของตุ่มและตำแหน่งที่เกิดได้ ดังนี้

1. หูดบนผิวหนังทั่วๆ ไป เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะ เช่น

  • หูดทั่วไป (Common warts) ลักษณะเป็นตุ่มนูน ขรุขระ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร มักเกิดขึ้นที่มือ เท้า และหัวเข่า
  • หูดชนิดแบนราบ (Plane warts) ผิวบริเวณหูดจะค่อนข้างเรียบ หรือนูนออกมาเพียงเล็กน้อย และมักเกิดขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณใบหน้า มือ และหน้าแข้ง
  • หูดฝ่ามือและฝ่าเท้า (Palmar และ Plantar warts) มีลักษณะคล้ายตาปลา คือผิวหนังหนา แข็งเป็นไต ขรุขระ มีขนาดใหญ่เป็นปื้น และเจ็บเมื่อกดโดน เกิดขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า

2. หูดที่อวัยวะเพศ หรือ หูดหงอนไก่ เป็นหูดลักษณะนูน และตะปุ่มตะป่ำคล้ายกับหงอนไก่ เกิดได้กับทั้งชายและหญิง และติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์

3. หูดที่เยื่อบุ สามารถพบได้ที่เยื่อบุตา เยื่อบุกล่องเสียง ซึ่งมักเกิดในทารกที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จากมารดาขณะคลอด ลักษณะคล้ายกับหูดทั่วไป คือเป็นตุ่มนูนขรุขระ

โดยทั่วไป หูดจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บ หรือคันระคายเคือง ยกเว้นหูดขนาดใหญ่ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หากไปกดโดนจะรู้สึกเจ็บปวดได้ และเชื้อไวรัส HPV อาจมีการเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้หูดค่อยๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

การรักษาหูด

  • ปล่อยให้หายเอง ในคนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ หูดจะยุบหายเองได้ภายใน 1-2 ปี โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ดังนั้น คนจำนวนมากจึงเลือกปล่อยไปโดยไม่รักษา
  • รักษาด้วยยา มีทั้งยาทาที่มีกรดซาลิซิลิกเป็นส่วนประกอบ ยาฉีดเฉพาะที่ และยากิน ซึ่งหากต้องการรักษาด้วยยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากยาอาจมีผลต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียงด้วย
  • รักษาด้วยการจี้ หากหูดนูนและหนามาก อาจต้องจี้ด้วยไนโตรเจนเหลว ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ เพื่อให้ผิวหนังส่วนนั้นนุ่มลง และพองเป็นตุ่มน้ำ แผลพองจะค่อยๆ ตกสะเก็ดและยุบลง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
  • รักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะทำการตัดก้อนเนื้อใต้หูดออกไป วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมนักเพราะทำให้เกิดความเจ็บปวด และแผลอาจติดเชื้อได้

การป้องกันหูด

  • งดการสัมผัสกับหูดของผู้อื่น รวมถึงไม่ใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้ที่เป็นหูด
  • ไม่แคะแกะเกาผิวหนังจนเกิดบาดแผล เพราะจะเป็นช่องทางให้เชื้อไวรัสเข้าไปสู่เซลล์ได้
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยการสวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันการติดโรคหูดหงอนไก่
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV บางสายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดได้

19 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Warts: Overview. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279586/)
Flat Warts: Identification, Treatment, and More. Healthline. (https://www.healthline.com/health/skin-disorders/flat-warts)
Warts: Causes, types, and treatments. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/155039)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป