กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ไมเกรน

เผยแพร่ครั้งแรก 4 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ไมเกรน

ไมเกรน

ถึงแม้ว่าโรคไมเกรนส่วนใหญ่จะดีขึ้นหรือหายไปเมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็ยังมี 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการแม้สูงอายุ นอกจากนี้ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคไมเกรนมาก่อน อาจเพิ่งเริ่มมีอาการเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ได้ถึงร้อยละ 2-3 และผู้สูงอายุหญิงยังมีโอกาสเป็นได้มากกว่า ผู้สูงอายุชายประมาณ 2 เท่า โดยทั่วไปอุบัติการณ์ของโรคไมเกรนในผู้ป่วยสูงอายุมีตั้งแต่ร้อยละ 2.9-10.5

อาการของโรคไมเกรนในผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงได้ โดยพบว่าความรุนแรงของโรคมักลดลง การเป็นซ้ำ ๆ ลดลง และไม่ค่อยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเท่าผู้ป่วนหนุ่มสาว นอกจากนี้ โอกาสเกิดอาการนำที่เกี่ยวกับการมองเห็นผิดเพียนไปก็ลดน้อยลง และบางรายอาจมีแต่อาการนำของโรคไมเกรน แต่ไม่มีอาการปวดศีรษะก็เป็นได้ ซึ่งมักทำให้เกิดความสับสนกับภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ แต่ลักษณะที่ทำให้นึกถึงโรคไมเกรนชนิดที่ไม่ปวดศีรษะมากกว่าคือการที่อาการค่อย ๆ เป็นมากขึ้นและการที่มีการกระจายของอาการจากส่วนหนึ่งไปยังส่วนอื่นของร่างกาย อย่างไรก็ตาม การวินิจฉันโรคไมเกรนชนิดที่ไม่ปวดศีรษะนั้น แพทย์ต้องแยกโรคอื่นออกก่อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การรักษา

การรักษาผู้สูงอายุที่เป็นโรคไมเกรนมักจะมีข้อจำกัดหลายประการ ดังนี้

  • ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่ทำให้การจัดการกับยาที่ได้รับเข้าไปและผลการตอบสนองของร่างกายต่อยานั้น ไม่เหมือนคนหนุ่มสาว ทำให้การใช้ยาอาจเกิดผลข้างเคียงได้ง่ายและการตอบสนองต่อยาอาจเปลี่ยนแปลงไป
  • ผู้สูงอายุอาจมีโรคร่วมที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้เหมือนคนหนุ่มสาว เช่น การใช้ยาบางชนิดเพื่อป้องกันการปวด อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย สับสน อาการต้อหินกำเริบ หรือปัสสาวะไม่ออก การใช้ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบอาจทำให้เกิดปัญหาต่อตับไต และเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย
  • ผู้สูงอายุมักได้รับยารักษาโรคต่าง ๆ อยู่แล้วหลายชนิด ทำให้อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้ง่าย
  • โรคที่เกิดร่วมในผู้สูงอายุ อาจเป็นข้อจำกัดในการใช้ยา เช่น ภาวะหัวใจวาย ต่อมลูกหมากโต หรือต้อหิน อาจทำให้มีปัญหาจากการใช้ยาป้องกันไมเกรนบางชนิด ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดีหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจมีปัญหาเมื่อใช้ยาแก้ปวดไมเกรนกลุ่ม ergotamine และยาในกลุ่ม triptans
  • ยาที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ ในผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรืออาการปวดศีรษะของโรคไมเกรนหนักขึ้น เช่น ยาลดความดันโลหิตที่ขยายหลอดเลือด เช่น nifedipine หรือยา methyldopa อาจทำให้อาการปวดศีรษะกำเริบ หรือยารักษาโรคหัวใจชนิด isosorbide dinitrate อาจทำให้ปวดศีรษะ

ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรเน้นการดูแลผู้ป่วยสูงอายุโดยไม่ใช้ยาก่อนหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ ผู้ป่วยควรมีกิจวัตรประจำวันในแต่ละวันที่สม่ำเสมอ เช่น การกินอาหาร การนอนหลับ หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นให้มีอาการปวดศีรษะมากขึ้น เช่นกาแฟ การรักษาด้วยการผ่อนคลายร่างกายหรือคลายเครียด ก็จัดเป็นการรักษาที่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อนำไปปฏิบัติ

การรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนโดยการใช้ยา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

ยาระงับอาการปวด

ควรกินยาตั้งแต่เริ่มมีอาการปวดศีรษะไมเกรน เนื่องจากการให้ยาช้าไปอาจทำให้หายปวดช้าและอาจต้องได้รับยาซ้ำอีก

ส่วนยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวดแก้อักเสบ (NSAIDs) เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในผู้ป่วยโรคไมเกรนทั่วไป แต่การใช้ในผู้สูงอายุอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปัญหาต่อตับและไตหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร ส่วนยาแก้ปวดที่มีกาเฟอีนผสม อาจทำให้นอนไม่หลับ ว้าวุ่น และมือสั่น

ขณะที่การศึกษาการใช้ยากลุ่ม ergotamine และ triptans ในผู้ป่วยไม่ได้รวมผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยสูงอายุมักมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดส่วนปลาย หรือป่วยเป็นโรคเหล่านี้อยู่แล้ว การใช้ยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดปัญหาผนังหลอดเลือดหดตัว ทำให้มีอาการจากการขาดเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยสูงอายุ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยเคยใช้ยา triptans อยู่แล้ว ตั้งแต่อายุยังไม่มากและไม่ได้มีข้อห้ามการใช้ยาเพิ่มขึ้น อีกทั้งแพทย์ตรวจเช็กสุขภาพผู้ป่วยเป็นระยะ เช่นตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วไม่มีปัญหาและไม่มีอาการของโรคหัวใจ อาจให้ผู้ป่วยยังคงกินยาต่อไปได้ สำหรับการเริ่มใช้ยาเป็นครั้งแรกในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีนั้น ยังไม่มีการศึกษารองรับ แต่ถ้ามีอาการไมเกรนรุนแรง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือป่วยเป็นโรคหลอดเลือดตีบ แพทย์อาจใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ด้วยความระมัดระวัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยากลุ่มโอพิออยด์ (Opioids) เป็นยาที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้สูงอายุ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการกดประสาท ง่วงนอน และอาจมีผลต่อความสามารถของสมองในการคิดและจำ หรือทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องผูก และเสี่ยงต่อการติดยา

ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยขณะที่มีอาการไมเกรน แพทย์อาจพิจารณายาแก้คลื่นไส้ร่วมด้วย แต่ต้องระวังว่าผู้สูงอายุอาจเกิดอาการพาร์คินสันและง่วงซึมจากยาได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยคือ ผู้ป่วยบางรายกินยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนเป็นประจำ จนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยามากเกินไป โดยผู้ป่วยจะรู้สึกได้ว่าปวดศีรษะบ่อยและรุนแรงขึ้น และมักเริ่มเป็นตั้งแต่เช้าหลังตื่นนอน ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากการกินยาแก้ปวดไมเกรนบ่อยจนติด เมื่อใดที่ระดับยาในร่างกายต่ำลงก็จะเกิดอาการปวดศีรษะขึ้น และต้องกินยาเพื่อเพิ่มระดับยาในร่างกาย อาการปวดจึงค่อยดีทุเลาลง วิธีแก้ปัญหานี้คือ การหยุดยาแก้ปวดที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยามากเกินไป และควรปรึกษาแพทย์เพื่อหายาชดเชยในช่วงที่หยุดยาเหล่านั้น เนื่องจากช่วงหยุดยาใหม่ ๆ จะมีอาการปวดศีรษะค่อนข้างมาก

ยากลุ่มป้องกันไมเกรน

เนื่องจากการใช้ยากลุ่มแรก ได้ผลเฉพาะในการระงับอาการปวด แต่ความถี่และความรุนแรงของอาการปวดไมเกรนยังคงเท่าเดิม ดังนั้นในกรณีที่มีอาการบ่อยครั้งหรือแต่ละครั้งรุนแรงและนาน อาจจำเป็นต้องกินยาป้องกันไมเกรน โดยยาจะช่วยลดความถี่ ระยะเวลา และความรุนแรงของอาการปวดลง แต่ยากลุ่มนี้ต้องกินเป็นประจำทุกวันตามแพทย์สั่ง ไม่ใช่กินเฉพาะเวลาปวด การให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนในผู้สูงอายุควรใช้หลัก “เริ่มขนาดยาต่ำและเพิ่มขนาดยาอย่างช้า ๆ” โดยเริ่มให้ยาจากขนาดต่ำ ๆ ก่อนและปรับขนาดยาช้า ๆ เพื่อลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อน ยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ผู้ป่วยแต่ละคนอาจเหมาะกับยาแตกต่างกันและตอบสนองต่อยาไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการปรับยาและดูอาการตอบสนอง ยาบางชนิดอาจใช้ได้กับผู้ป่วยรายหนึ่ง แต่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยอีกราย เนื่องจากมีสภาพร่างกายและโรคร่วมที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์และติดตามอาการเป็นระยะ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ที่รักษาบ่อย เนื่องจากจะทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดูการตอบสนองต่อยา


16 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Migraine - Treatment. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/migraine/treatment/)
15 natural and home remedies for migraine relief. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/322814)
6 New Migraine Treatments You Should Know About. WebMD. (https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-new-treatments)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป