วิธีรักษาเชื้อราที่เท้าและเล็บเท้าด้วยตัวคุณเอง

รักษาเชื้อราที่เท้าแบบธรรมชาติ ทำได้อย่างไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 16 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 27 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
วิธีรักษาเชื้อราที่เท้าและเล็บเท้าด้วยตัวคุณเอง

คุณอาจคิดว่าการรักษาเชื้อราที่เท้า และเล็บเท้า เป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่จำเป็นต้องพึ่งยาเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว คุณสามารถใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในห้องครัวของคุณ เพื่อบรรเทาอาการเชื้อราที่เท้าและเล็บเท้าได้

จะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นโรคเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้า

เชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้าเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ "Onychomycosis" ซึ่งเกิดจากการอักเสบ โดยเล็บจะมีลักษณะ หรืออาการผิดปกติดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • มีโพรงใต้เล็บ 
  • มีการหนาตัวของเล็บ 
  • มีการเปลี่ยนสีของเล็บ โดยมักเป็นสีเหลืองหรือสีขาว 
  • ผิวเล็บไม่เรียบ 
  • เล็บมีรูปร่างผิดปกติ บางรายเล็บอาจฝ่อไป อีกลักษณะอาการหนึ่งคือเล็บอาจมีลักษณะบวม 

สาเหตุของโรคเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้า

สาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ที่บริเวณเล็บ ซึ่งมีปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น ได้แก่

  • การสัมผัสเชื้อราโดยตรง
  • มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เบาหวาน รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
  • การเป็นโรคผิวหนังบางชนิด เช่น สะเก็ดเงิน

การรักษาโรคเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้า

การรักษาหลักของโรคเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้าคือ การได้รับยาต้านเชื้อรา แต่นอกเหนือจากนั้น เรายังสามารถใช้วิธีรักษาแบบธรรมชาติที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้ เพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้าได้

1. น้ำมันสกัดจากต้นชา (Tea tree oil)

การรักษาเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้าด้วยน้ำมันทีทรีออยล์สามารถปกป้องเชื้อรา และฆ่าเชื้อโรคได้
วิธีการรักษา: เริ่มด้วยการทำความสะอาดบริเวณที่มีเชื้อรา จากนั้นใช้น้ำมันทีทรีออยล์ทาบริเวณที่ทำความสะอาดแล้ว ปล่อยให้เล็บเท้า หรือบริเวณที่เป็นเชื้อราชุ่มน้ำมันทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วค่อยเช็ดน้ำมันออก ทำซ้ำเช่นนี้ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น

2. โซเดียมไบคาร์โบเนต หรือเบกกิ้งโซดา

โซเดียมไบคาร์โบเนต หรือเบกกิ้งโซดา มีคุณสมบัติสามารถขจัดความชื้นส่วนเกินบนผิวหนังซึ่งนำไปสู่การเกิดเชื้อราได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดกลิ่นอับของเท้าได้ด้วย
วิธีการรักษา: ผสมเบกกิ้งโซดากับน้ำเปล่า โดยให้เบกกิ้งโซดามีลักษณะเป็นเนื้อครีม แล้วนำไปพอกกับเท้า หรือเล็บเท้าที่เป็นเชื้อรา โดยให้พอกทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก หรืออาจใช้วิธีการแช่เท้าในน้ำที่ผสมเบกกิ้งโซดาก็ได้

3. แป้งข้าวโพด

การรักษาเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้าโดยแป้งข้าวโพดถือเป็นวิธีการที่ปลอดภัย และเป็นธรรมชาติ แม้แป้งข้าวโพดจะมีส่วนประกอบของเชื้อรา แต่เชื้อราดังกล่าวนั้นปลอดภัยกับมนุษย์ และสามารถกำจัดเชื้อราที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้
วิธีการรักษา: ผสมแป้งข้าวโพด 1 ถ้วยตวง กับน้ำเปล่าประมาณ 2 ลิตร ลงในกะละมังหรืออ่างน้ำ ทิ้งแป้งข้าวโพดให้ละลายกับน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงแช่เท้าไว้อย่างน้อย 30 นาที สูตรการแช่เท้ากับน้ำแป้งข้าวโพดนี้ ยังเป็นการบำรุงเท้าของคุณได้อีกด้วย

4. น้ำส้มสายชูกลั่นขาว หรือน้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์

เนื่องจากน้ำส้มสายชูมีฤทธิ์เป็นกรด ดังนั้น การรักษาโรคเชื้อราที่เท้าหรือเล็บเท้าด้วยน้ำส้มสายชูจึงเป็นการรักษาสมดุลของค่ากรดด่างในผิว เพราะเชื้อราถือเป็นด่าง นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราแพร่กระจาย ทั้งยังช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราด้วย
วิธีการรักษา: ผสมน้ำส้มสายชูและน้ำเปล่าในปริมาณที่เท่ากัน แล้วแช่เท้าไว้ประมาณ 30 นาที หลังจากแช่เท้าเสร็จเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

5. น้ำยาบ้วนปาก

น้ำยาบ้วนปากไม่ใช่แค่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคในปากของคุณได้เท่านั้น แต่กับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคที่เท้ากับเล็บเท้าของคุณก็ไม่แตกต่างกัน เพราะน้ำยาบ้วนปากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค และช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เป็นอันตรายได้
วิธีการรักษา: ผสมน้ำส้มสายชูและน้ำยาบ้วนปากกับน้ำเปล่า ในปริมาณที่เท่ากัน แล้วแช่เท้าไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นขัดบริเวณเท้า หรือเล็บที่เป็นเชื้อราเบาๆ ทำซ้ำแบบนี้ 1-2 ครั้งต่อวัน จนกว่าอาการจะดีขึ้น

6. น้ำมันดอกลาเวนเดอร์

น้ำมันดอกลาเวนเดอร์มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค และยังช่วยป้องกันการระคายเคืองต่อผิวหนังได้อีกด้วย
วิธีการรักษา: ใช้สำลีชุบน้ำมันดอกลาเวนเดอร์ แล้วทาลงบนเท้า หรือเล็บที่เป็นเชื้อรา พอกสำลีทิ้งไว้ประมาณ 10-20 นาที แล้วล้างออก คุณสามารถทำซ้ำแบบนี้ได้หลายครั้งต่อวันเท่าที่ต้องการจนกว่าอาการจะดีขึ้น

7. กระเทียม

กระเทียมมีคุณสมบัติที่สามารถต้านเชื้อราได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารประกอบธรรมชาติที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราได้
วิธีการรักษา: ผสมกระเทียมสับ หรือบด หรือใช้น้ำมันกระเทียมกับน้ำส้มสายชู จากนั้นพอกบริเวณที่เป็นเชื้อราและบริเวณโดยรอบ แล้วพันด้วยผ้าพันแผล หรือผ้าก็อซทิ้งไว้สัก 2-3 ชั่วโมง ทำซ้ำแบบนี้ทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้น

8. น้ำมันดอกทานตะวัน

มีการศึกษาพบว่าน้ำมันดอกทานตะวันมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ในห้องทดลอง นอกจากนี้จากการทดลองในคน พบว่าน้ำมันดอกทานตะวันสามารถรักษาโรคเชื้อราที่เท้าได้เทียบเท่ากับยาต้านเชื้อราคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
วิธีการรักษา: ทาน้ำมันดอกทานตะวันบริเวณเล็บที่ติดเชื้อให้ทั่ววันละ 2 ครั้ง นานอย่างน้อย 3 เดือน 

โรคเชื้อราที่เท้าและเล็บเท้าอาจรักษาได้ไม่ยากหากได้รับการวินิจฉัยที่ทันเวลาและเชื้อแบคทีเรียยังไม่ลุกลามออกไปมาก แต่เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของเท้าและเล็บเท้า เราจึงควรรักษาความสะอาดบริเวณผิวเท้าอยู่เสมอ และไม่ปล่อยให้เท้าอับชื้นจนเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรก เพียงเท่านี้ โรคเชื้อราที่เท้าและเล็บเท้าก็จะไม่เกิดขึ้นให้คุณต้องรู้สึกระคายเคืองผิวเท้า หรือทำให้วิถีชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างลำบากขึ้นอีก


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Rodgers, P. and Bassler, M. Treating Onychomycosis. Am Fam Physician. 2001 Feb 15;63(4):663-673.
Halteh, P., Scher, RK. And Lipner, SR. Over-the-counter and natural remedies for onychomycosis: do they really work?. Cutis. 2016 Nov;98(5):E16-E25.
Morgan Cutolo, 7 Foot and Toenail Fungus Treatments You Can Make at Home (https://www.rd.com/health/conditions/home-remedies-foot-fungus/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป