15 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการตกไข่และรอบเดือน

15 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการตกไข่และรอบเดือน
เผยแพร่ครั้งแรก 4 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
15 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการตกไข่และรอบเดือน

มารู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับรอบเดือน ช่วงตกไข่ ไข่สุก วิธีการนับวันไข่ตกและวิธีอื่นๆ เพื่อหาช่วงตกไข่สำหรับคนที่ต้องการตั้งครรภ์หรืออยากหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์กัน

1. การตกไข่คืออะไร?

การตกไข่ เป็นช่วงหนึ่งของรอบเดือนซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไข่ถูกปล่อยออกมาจากรังไข่ ไข่ที่ถูกปล่อยออกมานั้นอาจปฏิสนธิกับอสุจิหรือไม่ก็ได้ หากเกิดการปฏิสนธิ ไข่ก็จะเคลื่อนตัวไปยังมดลูกเพื่อฝังตัว และเกิดการเจริญเติบโตขึ้น กลายเป็นการตั้งครรภ์ แต่หากไม่เกิดการปฏิสนธิ ไข่ก็จะสลายไป และเยื่อบุโพรงมดลูกจะถูกชะออกไปพร้อมกับประจำเดือน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การทำความเข้าใจว่าการตกไข่เกิดขึ้นได้อย่างไร และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะช่วยให้คุณสามารถตั้งครรภ์หรือป้องกันการตั้งครรภ์ได้ และยังช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ด้วย

2. การตกไข่เกิดขึ้นเมื่อไหร่?

โดยปกติ การตกไข่จะเกิดในช่วงประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน ซึ่งรอบเดือนหนึ่งๆ จะกินระยะเวลาประมาณมี 28 วัน ในแต่ละคนรอบเดือนอาจสั้น-ยาวต่างกันบ้างเล็กน้อย

โดยทั่วๆ ไปแล้ว ช่วงไข่ตกจะอยู่ระหว่าง 4 วันก่อนหน้า หรือ 4 วันหลังกึ่งกลางของรอบเดือน

3. การตกไข่ใช้เวลานานแค่ไหน

กระบวนการตกไข่จะเริ่มเมื่อร่างกายปล่อยฟอลลิเคิล สติมูเลติง ฮอร์โมน (Follicle-stimulating hormone (FSH)) ออกมา ซึ่งโดยปกติจะเกิดในช่วงวันที่ 6-14 ของรอบเดือน โดยฮอร์โมนนี้จะช่วยให้ไข่ในรังไข่เจริญ และเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่

เมื่อไข่เจริญแล้ว ร่างกายจะหลั่งลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinzing hormone (LH)) ออกมา ซึ่งจะช่วยเหนี่ยวนำให้ไข่ตก จากนั้นการตกไข่จะเกิดขึ้นภายใน 28-36 ชั่วโมง หลังการหลั่ง LH

4. การตกไข่ทำให้เกิดอาการอะไรบ้าง?

เมื่อใกล้ถึงช่วงตกไข่ คุณอาจมีตกขาวมากขึ้นเล็กน้อย โดยตกขาวมักมีลักษณะใสและยืด หรืออาจคล้ายไข่ขาวดิบ แต่หลังจากการตกไข่ ตกขาวจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงมีลักษณะข้นหนืดและขุ่นกว่าเดิม นอกจากนี้ การตกไข่ยังอาจทำให้มีอาการต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • มีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอย
  • รู้สึกคัดตึงทรวงอก
  • มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น
  • มีอาการปวดรังไข่ ซึ่งจะสังเกตได้จากการรู้สึกอึดอัดหรือปวดท้องข้างเดียว อาจเรียกว่า อาการปวดท้องจากการตกไข่ (Mittelschmerz)

แต่ไม่ใช่ทุกคนเมื่อไข่ตกแล้วจะมีอาการเช่นนี้ ดังนั้น การติดตามภาวะเจริญพันธุ์จึงใช้สัญญาณเหล่านี้เป็นส่วนประกอบเท่านั้น

 

5. ในรอบเดือนหนึ่ง สามารถเกิดการตกไข่มากกว่าหนึ่งครั้งได้หรือไม่?

ได้ การศึกษาหนึ่งตั้งแต่ปี 2003 พบว่า ผู้หญิงบางคนอาจเกิดการตกไข่ได้ 2 หรือ 3 ครั้งในรอบเดือนเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้นในการวิจัยหนึ่ง พบว่าผู้หญิง 10% ที่เข้าร่วมการวิจัยตกไข่ออกมา 2 ใบเสมอในแต่ละเดือนอีกด้วย

การปล่อยไข่ออกมาหลายใบในระหว่างการตกไข่แต่ละครั้ง สามารถเกิดเองโดยธรรมชาติ และเป็นผลจากการกระตุ้นระบบสืบพันธุ์ หากไข่ทั้งสองใบเกิดการปฏิสนธิ ก็จะเกิดการตั้งครรภ์ฝาแฝดต่างไข่

6. ช่วงตกไข่เป็นช่วงเวลาเดียวที่จะตั้งครรภ์ได้ ใช่หรือไม่?

ไม่ใช่ ในขณะที่ไข่จะสามารถถูกปฏิสนธิได้ภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังจากปล่อยออกมา แต่เชื้ออสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในระบบสืบพันธุ์ได้นานถึง 5 วัน หากมีสภาวะที่เหมาะสม ดังนั้นหากคุณมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันที่ไข่ตก หรือในวันตกไข่ คุณก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ทั้งนั้น

7. “ช่วงไข่สุก” คืออะไร?

ช่วง 6 วันก่อนหน้า ไปจนถึงวันไข่ตก เราจะเรียกว่า “ช่วงไข่สุก (Fertile Window)” ซึ่งในช่วงนี้หากมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เชื้ออสุจิสามารถรออยู่ในท่อนำไข่ได้เป็นเวลาหลายวันหลังมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อไข่ถูกปล่อยออกมาก็พร้อมเข้าปฏิสนธิทันที แต่เมื่อไข่เข้าสู่ท่อนำไข่แล้ว จะสามารถอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นไข่จะไม่สามารถปฏิสนธิได้ แล้วจึงสิ้นสุดช่วงไข่สุก

8. คุณสามารถติดตามการตกไข่ได้หรือไม่?

วิธีการยืนยันการตกไข่ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด คือการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ในสถานพยาบาล หรือตรวจหาฮอร์โมนในเลือด แต่ก็มีอีกหลายวิธีที่จะติดตามการตกไข่ด้วยตัวเอง เช่น

  • ทำตารางบันทึกอุณหภูมิร่างกายขณะพัก (BBT) เป็นการวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยปรอทในตอนเช้าตลอดทั้งรอบเดือน เพื่อบันทึกไว้และดูการเปลี่ยนแปลง ช่วงตกไข่คือช่วงที่อุณหภูมิร่างกายคุณสูงขึ้นจากปกติต่อเนื่องกัน 3 วัน
  • ใช้ชุดทดสอบการตกไข่ (OPK) อุปกรณ์นี้มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป หลักการคือเป็นการตรวจวัดฮอร์โมน LH ในปัสสาวะ การตกไข่จะเกิดในอีก 2 วันถัดไป หลังจากปรากฏบนชุดตรวจปรากฏแถบสีเข้มกว่าแถบควบคุม
  • ใช้อุปกรณ์ติดตามภาวะเจริญพันธุ์ อุปกรณ์นี้มีวางขายทั่วไปเช่นกัน แต่เป็นตัวเลือกที่ราคาสูงกว่า เนื่องจากเป็นการติดตามฮอร์โมน 2 ตัว ได้แก่ เอสโตรเจน และ LH เพื่อช่วยระบุระยะ 6 วัน ซึ่งเป็นช่วงไข่สุก

9. ติดตามการตกไข่ด้วยวิธีไหนดีที่สุด?

ยากที่จะบอกได้ว่า วิธีติดตามการตกไข่วิธีไหนดีกว่าวิธีอื่น

การทำตารางบันทึกอุณหภูมิร่างกาย (BBT) อาจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิร่างกาย เช่น ความเจ็บป่วย หรือการดื่มแอลกอฮอล์ ในการศึกษาหนึ่งพบว่า การบันทึกอุณหภูมิร่างกายสามารถยืนยันการตกไข่ได้แม่นยำในผู้หญิงเพียง 17 ราย จาก 77 รายเท่านั้น และขอให้คุณทราบว่า ในหนึ่งปี มีผู้หญิง 12-24 คน จาก 100 คน ที่ยังคงตั้งครรภ์ หลังจากใช้ตารางบันทึกอุณหภูมิร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์มาเสมอ

ต่างจากอุปกรณ์ติดตามภาวะเจริญพันธุ์ ซึ่งแม้จะโฆษณาว่าสามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์แก่คุณได้ในการใช้เพียงเดือนเดียว แต่อุปกรณ์นี้ก็อาจไม่ได้ผลกับทุกคน

ดังนั้น วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือ ปรึกษาแพทย์ เพื่อตัวเลือกที่เหมาะสม หากว่าคุณเข้าข่ายข้อใดต่อหนึ่งต่อไปนี้

  • ใกล้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
  • เพิ่งเริ่มมีประจำเดือนไม่นาน
  • เพิ่งเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน
  • เพิ่งให้กำเนิดบุตร

10. หากต้องการตั้งครรภ์ ควรมีเพศสัมพันธ์บ่อยแค่ไหน?

ในการจะตั้งครรภ์ คุณเพียงต้องมีเพศสัมพันธ์สักครั้งเท่านั้นในช่วงที่ไข่สุก  แต่คู่รักที่กระตือรือร้นอยากมีลูกก็อาจเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ โดยการมีเพศสัมพันธ์ทุกวัน หรือวันเว้นวัน ในระหว่างช่วงไข่สุกได้

ส่วนเวลาที่ดีที่สุดสำหรับโอกาสการตั้งครรภ์คือ ช่วง 2 วันก่อนไข่ตก และในวันที่ไข่ตกโดยตรง

11. แล้วหากคุณไม่อยากตั้งครรภ์ล่ะ?

หากคุณต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดในระหว่างช่วงไข่สุก แม้วิธีป้องกันอย่างการสวมถุงยางอนามัยจะดีกว่าการไม่ได้ป้องกันอะไรเลย แต่การใช้วิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็อาจช่วยทำให้สบายใจยิ่งกว่า

แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะสามารถแนะนำตัวเลือกต่างๆ และช่วยคุณหาวิธีที่ดีที่สุดได้

12. หากไข่ได้รับการปฏิสนธิ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

หากไข่ได้รับการปฏิสนธิ เซลล์จะเริ่มแบ่งตัวเป็น 2 เซลล์ จากนั้นกลายเป็น 4 เซลล์ และแบ่งตัวต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นตัวอ่อน (Blastocyst) ที่มีเป็น 100 เซลล์ ตัวอ่อนจะฝังตัวอยู่ในมดลูก และเกิดการตั้งครรภ์ในที่สุด

เมื่อเกิดการฝังตัวแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเทอโรนจะช่วยให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้น รวมถึงช่วยส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อไม่ให้เยื่อบุมดลูกถูกชะออก และทำให้เอ็มบริโอ (Embryo) สามารถเจริญต่อไปเป็นระยะตัวอ่อน (Fetus) ได้

13. หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ จะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าไม่ได้ปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิในรอบเดือนนั้นๆ ไข่จะสลายไป โดยฮอร์โมนจะส่งสัญญาณให้ร่างกายชะเยื่อบุมดลูกออกไปกลายเป็นประจำเดือน ซึ่งใช้เวลานาน 2-7 วัน

14. หากร่างกายคุณไม่ตกไข่ตามปกติล่ะ?

หากคุณติดตามการตกไข่ทุกๆ เดือนบางครั้งอาจสังเกตพบว่าการตกไข่ไม่เป็นไปตามปกติ หรือบางครั้งอาจไม่เกิดการตกไข่เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปรึกษาแพทย์

เพราะแม้ปัจจัยต่างๆ อย่างความเครียด หรืออาหาร จะมีผลต่อช่วงวันที่ไข่ตกได้ แต่ยังมีภาวะสุขภาพอื่นๆ อีกที่อาจเกี่ยวข้องด้วย เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome (PCOS)) หรือ ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) ซึ่งอาจทำให้การตกไข่ผิดปกติ หรือไม่เกิดขึ้นเลย

ความผิดปกติเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการอื่นๆ จากฮอร์โมนไม่สมดุลด้วย เช่น มีขนขึ้นดกตามใบหน้าและร่างกาย มีสิว หรือแม้แต่มีบุตรยาก

15. ถ้ามีปัญหา อย่าลืมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

หากคุณตั้งใจว่าจะตั้งครรภ์ในเร็วๆ นี้ ควรเข้ารับคำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

 ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยตอบข้อสงสัย และติดตามการตกไข่ ตลอดจนให้คำแนะนำว่าควรจัดเวลามีเพศสัมพันธ์อย่างไร เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์

นอกจากนี้ แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญยังสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลให้การตกไข่ผิดปกติ รวมไปถึงก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ได้

ลองใช้ เครื่องคำนวณวันไข่ตก อัตโนมัติได้ ที่นี่ คลิก >>


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Ashley Marcin, What Is Ovulation? 16 Things to Know about Your Menstrual Cycle (https://www.healthline.com/health/womens-health/what-is-ovulation), 20th July 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)