กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ประโยชน์ของจันทน์เทศ ไอเดียการกินการใช้จันทน์เทศเพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

เผยแพร่ครั้งแรก 8 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของจันทน์เทศ ไอเดียการกินการใช้จันทน์เทศเพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

จันทน์เทศถือเป็นเครื่องเทศที่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะนำมาปรุงอาหาร หรือจะนำมาทำเป็นยาก็ได้ผลดีเช่นกัน เกือบจะทุกส่วนของต้นจันทน์เทศสามารถนำมาทำประโยชน์ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นลูก เมล็ด หรือดอก ก็ตาม โดยแต่ละเชื้อชาติจะนำมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น ฝรั่งและแขกก็จะนิยมใช้ลูกจันทน์เป็นเครื่องเทศ แต่สำหรับคนไทยนิยมนำมาทำน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น

รู้จักจันทน์เทศ

จันทน์เทศ (Nutmeg) ชื่อท้องถิ่นทางภาคเหนือของไทย คือ จันทน์บ้าน เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะเติบโตได้ดีที่สุดในดินร่วนปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง และพื้นที่มีฝนตกชุก อีกทั้งยังเจริญได้ดีในพื้นที่เขตร้อนชื้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภายใต้ของประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ลักษณะของจันทน์เทศ

  • ลำต้น มีความสูงของต้นประมาณ 8-18 เมตร มีสีเทาอมดำ เนื้อไม้สีนวลหอมเนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหย
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลมรีหรือเป็นรูปรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเนื้อใบแข็ง สีเขียวเข้มและมัน
  • ดอก มีทั้งดอกเดี่ยวและแบบเป็นช่อ ขึ้นตามซอกใบ โดยจะแบ่งเพศอยู่กันคนละต้น ดอกตัวผู้จะออกดอกเป็นช่อ ตัวเมียจะดอกจะออกเดี่ยวๆ มีขนาดใหญ่กว่า ดอกมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอกตัวเมียจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า ดอกตัวผู้มีไว้เพื่อผสมเกสรเท่านั้น
  • ผล ลักษณะเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม รูปร่างคล้ายกับลูกสาลี่ เปลือกเรียบสีเหลืองนวลหรือสีแดงอ่อน เมื่อแก่ผลจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดอยู่อีก 1 เมล็ด เรียกว่าลูกจันทน์ (nutmeg) ลักษณะกลมสีน้ำตาลอมดำและมีเปลือกแข็ง
  • เมล็ด โดยทั่วไปแล้วจะเรียกว่า ลูกจันทน์ (Nutmeg) เมล็ดจะมีเยื่อหุ้มสีแดงส้ม มีกลิ่นหอม ซึ่งเรียกรกหุ้มเมล็ดว่า ดอกจันทน์ (Mace) มีลักษณะเป็นริ้วสีแดงจัด รูปร่างคล้ายกับร่างแห เป็นแผ่นบางมีหลายแฉกรัดแน่นที่ตัวเมล็ด เมื่อแกะแยกออกมา รกจะมีสีแดงสด เมื่อแห้งสีของรกจะเปลี่ยนเป็นสีเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเนื้อ มีกลิ่นหอม รสขมฝาดและเผ็ด

คุณค่าทางโภชนาการและสารประกอบของจันทน์เทศ

ลูกจันทน์ มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ 8-15% แป้ง 23% ไขมัน 25-40% และมีสาร D-pinene, Dipentene, Eugenol, Camphene, Xylan, Lipase และ Myristicin เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย

ดอกจันทน์ มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 7-14 % โดยมีองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ lpha-pinene (18-26.5%),  Beta-pinene (9.7-17.7%), Elemicin, Limonene (2.7-3.6%) Myrcene (2.2-3.7%), Myristicin, Sabinene (15.4-36.3%), Safrole

ประโยชน์ของจันทน์เทศ

เกือบจะทุกส่วนของต้นจันทน์เทศเลยก็ว่าได้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เช่น

  • ลูกจันทน์และดอกจันทน์ เนื่องจากทั้งสองอย่างนี้มีกลิ่นและรสที่คล้ายกัน จึงสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อแต่งกลิ่นให้อาหารได้ ในชาวยุโรปจะนำไปปรุงอาหารทั้งของคาวของหวาน สำหรับชาวอาหรับจะนิยมนำมาใส่ในอาหารประเภทเนื้อแกะหรือเนื้อแพะ เพื่อช่วยในการดับกลิ่นสาป ส่วนชาวอิตาลีจะนำมาใส่ในเนื้อลูกวัว ไส้กรอก อาหารจานที่มีผักรวม แต่โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่นิยมทำเหมือนกันในหลายๆ ชนชาติคือ จะนำลูกจันทน์และดอกจันทน์ มาใส่ลงไปในเค้กและฟรุตต่างๆ ชนิด  ส่วนเมล็ดลูกจันทน์ที่ถูกบดเป็นผงแล้ว ก็จะถูกนำมาใช้โรยหน้าขนมปัง พุดดิ้ง ช็อกโกแลตร้อน เพื่อช่วยเพิ่มกลิ่นหอม เป็นต้น
  • ผลสด สามารถนำมาทานเป็นของขบเคี้ยวได้ โดยให้ทานร่วมกับน้ำปลาหวานหรือพริกเกลือ รสชาติจะออกเผ็ดและฉุนเล็กน้อย
  • น้ำมันลูกจันทน์ ที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำ สามารถนำไปใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่ น้ำหอม ผงซักฟอก โลชั่นและครีมบำรุงผิวได้อีกด้วย หรือจะเอาเมล็ดมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมาทำเป็นยาดมก็ได้
  • เมล็ดที่แห้ง สามารถนำมาขูดผิวออกเก็บไว้ได้ ก่อนใช้ให้กระเทาะเปลือกออก แล้วเอาเพียงเนื้อในเมล็ดมาทุบให้แตก คั่วให้หอม แล้วป่นเป็นผง เอาไว้ใส่เป็นเครื่องเทศได้ โดยจะใส่ในคั่วหมู คั่วเนื้อ ข้าวหมกไก่ หรือแกงกะหรี่ ก็สามารถใส่ได้
  • เนื้อหุ้มเมล็ด สามารถนำมาบริโภคได้ โดยนำมาทำเป็นเมนูจันทน์ฝอย จันทน์เทศเส้น จันทน์เทศแช่มอิ่ม เป็นต้น
  • เนื้อผล ที่แก่จะมีรสหวานและหอมสดชื่น เผ็ดแบบธรรมชาติ จึงนิยมนำไปแปรรูปเป็นของขบเคี้ยว
  • เนื้อไม้ มีกลิ่นหอม สามารถนำไปทำน้ำอบน้ำปรุง ใช้เป็นเครื่องหอมก็ได้

สรรพคุณทางยาของจันทน์เทศ

  • เนื้อจันทน์เทศ มีกลิ่นหอมและให้รสเปรี้ยวฝาด เนื้อแก่นิยมนำไปแปรรูปเป็นของขบเคี้ยว ให้รสหอมสดชื่น หวานชุ่มคอ และเผ็ดแบบธรรมชาติ ใช้แก้บิดได้
  • ดอกตัวผู้ เมื่อตากแห้งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องยาจีน ออกฤทธิ์ช่วยในการขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ  น้ำมันลูกจันทน์สามารถนำมาทำเป็นยาดม
  • ดอกจันทน์และลูกจันทน์ ใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ร้อนใน ผื่นคัน ลมจุกเสียด เลือดกำเดาไหล ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องร่วง ริดสีดวง แก้อาการหอบหืด บำรุงธาตุ ปอด หัวใจ ตับ และน้ำดี ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลม ขับเสมหะ อีกทั้งยังช่วยรักษาอาการม้ามและไตพิการ
  • แก่นจันทน์เทศ ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ไข้ที่เกิดจากไวรัส ไข้ดีเดือด แก้อาการกระสับกระส่าย
  • เปลือกเมล็ด มีรสฝาดมันหอม ช่วยในเรื่องการสมานแผล แก้ท้องขึ้น บรรเทาอาการปวดท้อง

เมนูแปรรูปจากจันทน์เทศ

เนื่องจากในประเทศไทยนิยมกินเนื้อผลของลูกจันทน์เทศ จึงต้องมีการแปรรูปเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น และสามารถเก็บไว้ได้นาน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ปลูกอีกด้วย ซึ่งก็ได้แก่

  • จันทน์เทศแช่อิ่ม นำผลจันทน์เทศมาปอกเปลือกออกแล้วแช่ด้วยน้ำผสมเกลือ เพื่อไม่ให้เนื้อดำ จากนั้นผ่าตรงกลางออกในแนวยาวตามผลเพื่อเอาเมล็ดออก จากนั้นให้หั่นชิ้นจันทน์เทศเป็นเสี้ยวๆ นำลงแช่ในน้ำเกลืออีกครั้ง จากนั้นสงขึ้นจากน้ำเกลือ แล้วนำไปแช่ในน้ำเชื่อม แช่ทิ้งไว้จนเข้าที่จึงสงขึ้นจากน้ำเชื่อม นำมาคลุกเคล้าน้ำตาลทรายให้ทั่วทิ้งไว้ครึ่งวัน จนน้ำตาลทรายละลาย จึงเทน้ำออก เป็นอันเรียบร้อย
  • จันทน์เทศหยี การเตรียมเนื้อลูกจันทน์ ทำเหมือนการแช่อิ่ม ต่างตรงที่ไม่ได้นำไปแช่ในน้ำเชื่อม แต่ให้นำไปบดให้ละเอียด และนำไปกวนรวมกับน้ำตาลทราย เกลือ พริกป่น ให้ได้รสออกหวาน เผ็ด เค็ม เมื่อกวนได้ที่แล้ว ก็ให้นำไปคลุกกับน้ำตาลทิ้งไว้จนเย็น จึงค่อยนำไปปั้นเป็นก้อนกลมๆ ให้คล้ายกับมะขามสามรส เพียงเท่านี้ก็จะได้จันทน์เทศหยีแล้ว
  • จันทน์เทศเส้น วิธีการทำไม่ต่างจากจันทน์เทศหยี หรือจันทน์เทศแช่อิ่มเลย แต่ต่างกันตรงที่การฝานเนื้อจันทน์เทศให้เป็นเส้นยาวอย่าให้ขาด นำมาม้วนให้แน่นๆ สอยให้เป็นเส้นยาว หลังจากสอยเรียบร้อยแล้วให้แช่น้ำเกลือทันที จากนั้นให้นำเส้นจันทน์เทศไปล้างความเค็มออกให้หมด จึงนำมาแช่อิ่มในน้ำเชื่อม เมื่อได้ที่แล้วให้ยกขึ้น นำไปตากแดด พอเส้นเริ่มหมาด ให้นำมาคลุกน้ำตาลทรายให้ทั่ว แล้วนำไปตากแดดใหม่อีกครั้ง พยายามพลิกกลับไปมาเพื่อให้เส้นแห้ง เมื่อน้ำตาลทรายเกาะที่เส้น เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ไอเดียการใช้จันทน์เทศเพื่อสุขภาพ

  • แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากธาตุไม่ปกติ เพียงใช้ดอกจันทน์ ประมาณ 3-5 อัน นำมาต้มกับน้ำ เคี่ยวจนน้ำแห้งลงไปเหลือ 1 ใน 3 จากนั้นนำมาดื่ม
  • ช่วยขับลม นำดอกไม้จันทน์ มาบดเป็นผงให้ละเอียด ใช้ชงกับน้ำดื่มวันละ 2 ครั้ง ทำติดต่อกัน 2-3 วัน
  • ช่วยในเรื่องสมานลำไส้ กระเพาะและลำไส้ไม่มีแรง นำลูกจันทน์ 1 ลูกและยูเฮีย 5 กรัม ผสมกันบดให้เป็นผง แบ่งรับประทานครั้งละ 3 กรัม หากเป็นเด็กให้รับประทานเพียงแค่ครั้งละ 1 กรัมเท่านั้น
  • ช่วยรักษาม้ามและไตพิการ โดยให้นำลูกจันทน์หรือดอกจันทน์ ขิงสด 8 กรัม อู่เว้ยจื่อ 10 กรัม อู๋จูหวี 10 กรัม โป๋วกุ๊กจี 10 กรัม และพุทราจีน 8 ผล นำมาต้มกับน้ำใช้เป็นยารับประทาน

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรรับประทานลูกจันทน์เกินปริมาณ 5 กรัม เนื่องจากในลูกจันทน์มีสารอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า Myristicin ที่เป็นส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหย ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณมากเกินกำหนด สารตัวนี้จะเข้าไปยับยั้งการสร้างน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร ยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ และยังทำให้ระบบการเต้นของหัวใจมีการทำงานที่ผิดปกติ เกิดอาการมึนงง คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง ม่านตาขขยาย หรือหมดสติได้ ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้
  • เนื่องจากลูกจันทน์เทศมีน้ำมันในปริมาณที่ค่อนข้างสูง มีฤทธิ์ในการหล่อลื่นและกระตุ้นลำไส้มากเกินไป จึงควรนำมาแปรรูปโดยวิธีเฉพาะก่อนนำไปใช้
  • ผู้ป่วยที่มีอาการร้อนใน ท้องร่วง ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้
  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน

ในด้านการครัวจันทน์เทศ ก็มีประโยชน์ในการปรุงแต่งกลิ่น ส่วนด้านการแพทย์ก็ยังมีสรรพคุณเป็นยา หลากหลายคุณประโยชน์ขนาดนี้ จัดว่าเป็นพืชผลที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการขับลม ควรจะรีบหามารับประทาน จากข้อมูลที่ได้มานำเสนอให้ทุกคนทราบ ก็พอจะทำให้รู้ได้ว่า จันทน์เทศ เป็นไม้ยืนต้นที่มีประโยชน์มากมายกว่าที่หลายๆ คนคิด

 

 

 


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Mace: Health Benefits, Uses, Side Effects, Dosage & Interactions. RxList. (https://www.rxlist.com/mace/supplements.htm)
Nutmeg Supplement: Benefits, Uses, Side Effects, Dosage & Interactions. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/nutmeg/supplements-vitamins.htm)
Nutmeg And Mace: Uses, Side Effects, Interactions, Dosage, and Warning. WebMD. (https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-788/nutmeg-and-mace)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
กระวาน
กระวาน

สรรพคุณของกระวานมีอะไรบ้าง? มีวิธีใช้ที่ถูกต้องอย่างไร?

อ่านเพิ่ม
​แอปเปิ้ล องุ่น สับปะรด แตงโม มะละกอ มะม่วง ช่วยล้างพิษได้
​แอปเปิ้ล องุ่น สับปะรด แตงโม มะละกอ มะม่วง ช่วยล้างพิษได้

ล้างพิษ ต้านอนุมูลอิสระแบบธรรมชาติ 100 % ได้ผลดี ปลอดภัย และไม่เสี่ยง

อ่านเพิ่ม