พกยาไปเที่ยวญี่ปุ่น

เผยแพร่ครั้งแรก 19 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
พกยาไปเที่ยวญี่ปุ่น

ใคร ๆ ก็อยากไปท่องโลกกว้างกันบ้างสักครั้งในชีวิต และเมื่อมีโอกาสได้เปิดหูเปิดตาแล้ว ก็คงมีไม่น้อยที่รู้สึกว่า “ครั้งเดียวไม่เคยพอ” (ฮ่า) ซึ่งประเทศที่เป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวชาวไทย คงมีประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับต้น ๆ เป็นแน่แท้

หากแม้เลือกได้ เราทุกคนก็คงอยากไปเที่ยวแบบสบายกายสบายใจ ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียนนะคะ แต่ในบางครั้งที่เลือกไม่ได้ จะด้วยเหตุที่โรคประจำตัวไม่ใช่ไข้หวัดที่จะหายเองได้ในไม่กี่วัน หรือเพราะมีการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมาอย่างกะทันหัน จะให้ล้มเลิกแผนท่องเที่ยวที่ตั้งหน้าตั้งตารอมานาน ก็คงทำใจลำบาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แต่การที่จะออกไปแตะขอบฟ้า แล้วต้องหอบหิ้วยาติดตัวไปด้วย มันจะมีปัญหามั้ยนะ? จะถูกจับติดคุกติดตะรางอยู่ต่างแดนหรือเปล่า?? หรือจะลองเสี่ยงวัดดวงกันไปให้ใจระทึก ตามประสาผู้รักการผจญภัย???

อย่ากระนั้นเลยค่ะ เพื่อไม่ให้การเดินทาง “จากไทย ไปญี่ปุ่น” กลายเป็น “จากไทย ไปคุกญี่ปุ่น” เรามาดูแนวทางปฏิบัติในการนำยาเข้าประเทศญี่ปุ่นเพื่อใช้ส่วนตัวกันดีกว่านะคะ

แนวทางปฏิบัติในการนำยาเข้าประเทศญี่ปุ่น

การแบ่งกลุ่มยาบางอย่างอาจแตกต่างจากในบ้านเรา ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละที่ ไม่มีผิดหรือถูก แต่ในเมื่อจะเข้าไปบ้านเค้า ก็ต้องว่ากันตามกฎเกณฑ์ของเค้านะคะ

สำหรับยากลุ่มแรก ก็คือ ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ที่รู้จักกันดีก็คือ Methamphetamine หรือยาบ้าและยาไอซ์ ซึ่งคงไม่ต้องไปคิดยากให้มากความว่าจะพกติดตัวไปญี่ปุ่นได้หรือไม่ เพราะต่อให้อยู่ในประเทศไทย ถ้ามีไว้ในครอบครองก็ต้องติดคุกเหมือนกันนั่นแหละค่ะ 

ที่ต้องมาระวังกันหน่อยก็คือตัวยา Pseudoephedrine และ Dexamphetamine ค่ะ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

มาดู Pseudoephedrine กันก่อน ยาตัวนี้ใช้รักษาอาการคัดจมูก และอาการแน่นในหูหรือหูอื้อ จึงอาจพบได้ในยาสูตรแก้หวัดคัดจมูก แต่เนื่องจากสูตรโครงสร้างของยาที่คล้ายกับ Methamphetamine ทำให้มีการลักลอบนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า จึงได้มีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยในบ้านเราก็มีการเปลี่ยนจากการเป็นยาในกลุ่ม “ยาอันตราย” ที่สามารถหาซื้อตามร้านยาได้ ไปเป็นยาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งจะมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาล และอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับอย่างเคร่งครัดเท่านั้น

ใครที่ใช้ยาแก้คัดจมูกหรือรักษาอาการหูอื้อที่รับมาจากโรงพยาบาล หากจะพกยาไปญี่ปุ่นด้วย ต้องดูที่ฉลากยาหน่อยนะคะว่าเป็นตัวยา Pseudoephedrine หรือไม่ เพราะถ้าใช่... ก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ค่ะ 

ส่วน Dexamphetamine เป็นยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นและโรคลมหลับ แม้จะมีความจำเป็นต้องใช้ แต่เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว จึงต้องปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาอื่นทดแทนในระหว่างที่เดินทางไปเที่ยวในญี่ปุ่นนะคะ

สำหรับยากลุ่มที่ 2 ก็คือ ยาเสพติดให้โทษที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เอ... ดูย้อนแย้งพิกลนะคะ (ฮ่า) 

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อรักษาอาการปวดที่รุนแรง สามารถพกยาติดตัวไปได้ค่ะ แต่ต้องยื่นขอเอกสารรับรองสารเสพติด (Narcotic certificate) 
โดยใช้...

  1. Application form (Import) สำหรับการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น
  2. Application form (Export) สำหรับการเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่น 
  3. สำเนาใบสั่งยาหรือคำสั่งใช้ยาที่มีลายเซ็นของแพทย์ หรือใบรับรองแพทย์ (ภาษาอังกฤษ) ที่ระบุรายละเอียดของโรคที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ชื่อยา ความแรง และจำนวนที่สั่งจ่าย
  4. เอกสารระบุวันที่และสถานที่มาถึง เช่น สำเนาตั๋วสายการบินหรือการเดินทางของเที่ยวบิน

ส่งทางไปรษณีย์ หรือโทรเลข (ในกรณีที่เร่งด่วน) ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง ไปที่ฝ่ายควบคุมสารเสพติด (Narcotics Control Department) ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยดูตามที่ตั้งของสนามบิน ในกรณีที่เดินทางเข้าประเทศค่ะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

และเมื่อผ่านการอนุมัติแล้ว ให้เก็บเอกสาร (หรือสำเนาเอกสาร) พร้อมกับยา ไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรนะคะ

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.incb.org/documents...

สำหรับยากลุ่มที่ 3 ก็คือ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ที่คุ้นเคยกันหน่อยก็คือพวกยาคลายเครียดและยานอนหลับนั่นเอง

ยาในกลุ่มนี้สามารถนำเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ค่ะ และหากไม่เกินปริมาณที่กำหนดก็ไม่จำเป็นต้องยื่นขอเอกสารอะไรเพิ่มเติม (ดูรายละเอียดของยาในกลุ่มนี้ และปริมาณที่จำกัด ในเว็บไซต์อ้างอิงด้านบนได้นะคะ ในหัวข้อ IMPORT / EXPORT PSYCHOTROPICS BY CARRYING)

แต่ไม่ว่าจะต้องมีการขออนุมัติหรือไม่ก็ตาม ยาทุกอย่างที่พกไปด้วยก็ควรมีฉลากระบุชัดเจนนะคะ หากบรรจุอยู่ในแผงก็ไม่ควรแกะเม็ดยาออกมาหมด เพื่อจะได้เห็นรายละเอียดโดยง่าย เพื่อความสะดวกในกรณีที่มีการตรวจสอบค่ะ

หากต้องการนำเข้าไปในปริมาณเกินกว่าที่กำหนดไว้ หรือยาที่ใช้นั้นอยู่ในรูปของยาฉีด จะต้องยื่นขอเอกสารรับรองการนำเข้าทั่วไป (General Import Certificate หรือ Yakkan Shoumei) 
โดยใช้...

  1. Import Report of Medication (2 ชุด)
  2. Explanation of Product (1 ชุด/1 รายการยา)
  3. สำเนาใบสั่งยาหรือคำสั่งใช้ยาที่มีลายเซ็นของแพทย์ หรือใบรับรองแพทย์ (ภาษาอังกฤษ) ที่ระบุรายละเอียดของโรคที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ชื่อยา ความแรง และจำนวนที่สั่งจ่าย
  4. เอกสารระบุวันที่และสถานที่มาถึง เช่น สำเนาตั๋วสายการบินหรือการเดินทางของเที่ยวบิน

ส่งทางไปรษณีย์ ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง ไปที่สำนักงานสาธารณสุขและสวัสดิการของแต่ละภูมิภาค (Regional Bureau of Health and Welfare) ในพื้นที่รับผิดชอบตามที่ตั้งของสนามบินที่จะใช้เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น 

และเมื่อผ่านการอนุมัติแล้ว ให้เก็บเอกสาร (หรือสำเนาเอกสาร) พร้อมกับยา ไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรค่ะ

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mhlw.go.jp/english/...

มาถึงกลุ่มสุดท้าย ก็คือ ยาทั่วไป บ้างนะคะ

มีการแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภท ก็คือ ยาที่จ่ายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ กับยาที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งจะจำกัดปริมาณการพกพาแตกต่างกันค่ะ โดยถ้าเป็นยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์ จะจำกัดให้นำเข้าไม่เกินอัตราการใช้ใน 1 เดือน และเพิ่มเป็น 2 เดือนหากเป็นยาที่จ่ายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ค่ะ

แต่หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่ายาแต่ละชนิดอยู่ในกลุ่มใด จะแตกต่างจากในบ้านเรานะคะ เพราะฉะนั้น ยาที่สามารถซื้อจากร้านยาในประเทศไทยโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น ยาคุมกำเนิด ทางญี่ปุ่นถือเป็นยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์ จึงจำกัดปริมาณไว้ไม่เกิน 1 แผง

ดังนั้น ในกรณีที่ไม่มั่นใจว่ายาที่ต้องการนำไปด้วย จัดอยู่ในประเภทใด แนะนำให้พกพาไม่เกินปริมาณการใช้ใน 1 เดือนไว้ก่อนจะดีที่สุดนะคะ เช่น ยาเม็ดบรรเทาปวดลดไข้ ไม่เกิน 30 เม็ด, ยาพ่นขยายหลอดลมแบบพกพา 1 เครื่อง, ปากกาฉีดอินซูลิน หรือปากกาฉีดยาแก้แพ้ฉุกเฉิน 1 – 2 อัน

ส่วนยาใช้ภายนอกและเวชสำอาง จำกัดปริมาณไม่เกิน 24 ชิ้นค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำยาทั่วไปติดตัวไปมากกว่าปริมาณที่กำหนด ก็สามารถทำได้ โดยยื่นขอเอกสารรับรองการนำเข้าทั่วไป (General Import Certificate หรือ Yakkan Shoumei) เช่นเดียวกับในกรณีของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่กล่าวไปแล้วข้างต้นค่ะ

ส่วนเฮโรอีน, โคเคน, ยาอี, ฝิ่น, กัญชา ที่ผิดกฎหมายในบ้านเรา ก็ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในญี่ปุ่นเช่นกัน และแม้ว่ากัญชาอาจใช้รักษาโรคได้อย่างถูกกฎหมายในบางประเทศก็ตาม แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น จึงมีไว้ในครอบครองไม่ได้ ไม่ถูกจับตั้งแต่ต้นทางที่บ้านเรา ก็ไปถูกจับที่ปลายทางบ้านเค้าอยู่ดีค่ะ

แต่ถ้าอยากหลีกหนีความจำเจ จะเปลี่ยนบรรยากาศจากการรับประทานข้าวผัดและโอเลี้ยงในห้องขังบ้านเรา ไปลองข้าวปั้นและชาเขียวบ้านเค้าบ้าง ก็แล้วแต่นะคะ ...เอาที่สบายใจเลย (ฮ่า)


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bringing Over-the-Counter Medicine and Prescriptions into Japan. U.S. Embassy and Consulates in Japan. (https://jp.usembassy.gov/u-s-citizen-services/doctors/importing-medication/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)