หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
“คุณน้องคะ… พี่ข้องใจเหลือเกินค่ะ ว่าทำมั้ย…ทำไม ยาซองนี้ที่ต้องทานวันละครึ่งเม็ด พี่จ่ายไปวันละเม็ด แต่ไม่เห็นเหลือซากครึ่งเม็ดกลับมาห้องยาเลยซักที …เป็นอย่างนี้หลายวันแล้วนะคะ”
“อ๋อ… เม็ดยามันแบ่งยากมากค่ะ แบ่งแล้วแบ่งอีกกว่าจะได้ครึ่งเม็ด ส่วนที่เหลือมันก็หักเป็นเสี้ยว ๆ เศษ ๆ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยบ้าง ป่นเป็นผงบ้าง …เลยต้องเอาทิ้งน่ะค่ะ”
“อย่ามาอำพี่เลยน่า… ขีดแบ่งครึ่งเม็ดก็มี มันจะแบ่งยากอาไร้... ให้ผู้ป่วยกินเกินหรือเปล่า… สารภาพมาเสียโดยดีเลยคุณน้อง”
“สาบานด้วยเกียรติของพยาบาลสาวแสนสวยคนนี้เลยค่ะคุณพี่ ว่าไม่มีการให้ทานเกินขนาดเด็ดขาด! ถ้าคุณพี่ไม่เชื่อ… ก็ลองหักแบ่งเม็ดยาดูบ้างสิคะ”
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยค่ะ… พี่ ๆ น้อง ๆ พยาบาลคงรู้สึกเบื่อที่จะต้องตอบคำถามซ้ำ ๆ ซาก ๆ เป็นแผ่นเสียงตกร่องของดิฉัน (บอกแล้วว่าไม่ได้ให้ผู้ป่วยทานเกิน …ไม่เชื่อกันบ้างเลย) ก็เลยฝากให้เภสัชกรหักแบ่งเม็ดยาไปให้เสร็จสรรพก่อนส่งยาเข้าตึก
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ดิฉันซึ่ง (…ขอสารภาพและขออภัยด้วยที่…) เคยเข้าใจผิด ก็เลยคิดว่า ‘ดีเหมือนกัน… หักยาไปให้เลย จะได้มั่นใจแน่นอนว่าพยาบาลจะไม่จัดยาให้ผู้ป่วยทานเกินขนาดที่แพทย์สั่ง’ ก็เลยเริ่มหักแบ่งเม็ดยาที่ต้องจ่ายเข้าตึกผู้ป่วยในตั้งแต่นั้นมา…
แล้วก็เลยเกิดดวงตาเห็นธรรม(?)ว่า…
“โอ้แม่เจ้า! เม็ดยาบ้าอะไรเนี่ย… แบ่งยากเหลือเกิน!!! ขนาดใช้เครื่องตัดเม็ดยาก็ยังได้เป็นครึ่งเล็กกะครึ่งใหญ่ บางทีก็แตกเป็นเสี้ยว ๆ หลายชิ้นหลายส่วนไปซะงั้น”
...บางครั้งนะคะ ดิฉันต้องทิ้ง และเอาเม็ดใหม่มาหักซ้ำเสียหลายรอบกว่าจะได้ยาที่(ดูจะ)เป็น ‘ครึ่ง’ เม็ดจริง ๆ
จากเหตุการณ์ที่เล่า… ทำให้ดิฉันเกิดข้อกังขาต่อไป (แต่ด้วยความเห็นอกเห็นใจที่มากขึ้น) ว่า หนึ่งในยาหลาย ๆ ตัวที่ดิฉันเพิ่งรู้ซึ้งว่าหักแบ่งยากมากกกกกกก… ก็ดั๊นนนนน…เป็นยาที่ผู้ป่วยส่วนมากมักจะได้ใช้วันละครึ่งเม็ดซะด้วยสิ แม้ว่ายาบางชนิดจะมีขีดบากตรงกลางเม็ดหลอกดิฉันเรื่อยมาว่าน่าจะหักแบ่งง่าย แต่ขนาดใช้เครื่องตัดเม็ดยาก็ยังยากที่จะแบ่งได้ครึ่งเม็ดเท่า ๆ กัน แล้วอย่างนี้… ผู้ป่วยที่น่ารักของดิฉัน ซึ่งไม่น่าจะมีเครื่องหักแบ่งเม็ดยาไว้ใช้ที่บ้าน จะแบ่งได้ครึ่งเม็ดจริงหรือ???
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
สำหรับยาที่มีช่วงความปลอดภัยกว้าง (หมายถึง… ใช้เกินขนาดที่ระบุบนฉลากยาไปบ้างก็ไม่อันตรายมากนัก) ก็แล้วไป… แต่สำหรับยาที่มีช่วงความปลอดภัยแคบ ทานเกินขนาดไปนิด ก็มีสิทธิ์จะข้ามภพได้ (แต่ แหม… ถ้าข้ามภพไปเจอคุณหลวงอัครเทพวรากร อย่างคุณอ๋อม อรรคพันธ์ ในเรื่อง
‘ทวิภพ’ …หลายคนก็คงอยากเป็นมณีจันทร์นะคะ …เคี้ยก ๆ)
ด้วยความ …ฟุ้งซ่าน? …ว่าง? (ตรงไหน!!!… การบ้านก็ยังไม่ส่ง งานที่หัวหน้าสั่งมาก็ยังไม่เสร็จ) …ใฝ่รู้? (อันนี้ก็ดูสร้างภาพเกินจริงไปค่ะ อิอิ) …จะอะไรก็ช่างเหอะ! ดิฉันก็เลยไปไปค้น ๆ หาเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังค่ะ (หาเรื่องมาคุยโม้น้ำลายแตกฟองนั่นเอง ฮ่า…)
ว่าถึงเรื่องการแบ่งเม็ดยาแล้ว คุณผู้อ่านเคยมีประสบการณ์ตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องนี้ไหมคะ ถ้าเคยทำหรือเคยเห็นคนอื่นทำ ใช้อุปกรณ์อะไรช่วยในการหักแบ่งเม็ดยาบ้างคะ
- ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์อะไร …ใช้แต่สองมือแม่นี้ที่สร้างโลกนี่แหละ!
- มีดทำครัว
- กรรไกร
- อุปกรณ์เฉพาะสำหรับการตัดแบ่งเม็ดยา
ดิฉันมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งเม็ดยามาบอกต่อค่ะ…
งานวิจัยหนึ่งจาก the Faculty of Pharmaceutical Sciences at Ghent University ในประเทศเบลเยียม (ตีพิมพ์ใน Journal of Advanced Nursing; January 2011) ทำการทดลองโดยให้อาสาสมัคร 5 ราย ที่ไม่ได้มีความชำนาญในการหักแบ่งเม็ดยา ทดลองแบ่งเม็ดยาที่มีรูปร่างต่าง ๆ กัน 8 รูปแบบ ซึ่งมี 3 รูปแบบที่ไม่มีขีดแบ่ง, 3 รูปแบบที่มีขีดแบ่งครึ่ง และอีก 2 รูปแบบที่มีขีดแบ่ง 2 เส้น ด้วยเครื่องมือ 3 ชนิด ได้แก่ เครื่องหักแบ่งเม็ดยา, มีทำครัว และกรรไกร
คุณผู้อ่านคงทายถูกนะคะว่า...เครื่องมือใดที่มีความแม่นยำสูงสุดในการแบ่งขนาดยา???
ใช่แล้วค่ะ… เครื่องหักแบ่งเม็ดยานั่นเองค่ะ
แต่แม้จะมีความแม่นยำสูงสุด ก็น่าตกใจนะคะที่พบว่ามันไม่ได้ทำให้เราแบ่งยาได้ขนาดที่พอดีอย่างที่ต้องการ
เพราะเมื่อเทียบโอกาสที่จะพบขนาดยาที่หักแบ่งมีการผิดเพี้ยนไปจากขนาดที่ควรเป็น 15 – 25% จะพบได้จากเครื่องหักแบ่งเม็ดยา 13%, มีดทำครัว 17% และกรรไกร 22%
และเมื่อเทียบโอกาสที่จะพบขนาดยาที่หักแบ่งมีการผิดเพี้ยนไปจากขนาดที่ควรเป็นมากกว่า 25% จะพบได้จากเครื่องหักแบ่งเม็ดยา 8%, มีดทำครัว 17% และกรรไกร 19%
หมายถึงถ้าเราแบ่งเม็ดยาที่มีขนาด 100 มิลลิกรัม ให้เป็นครึ่งเม็ด (เท่ากับ 50 มิลลิกรัม) โอกาสที่เราจะได้ยาน้อยกว่า 38 มิลลิกรัม หรือมากกว่า 62 มิลลิกรัม จะมีประมาณ 1 ใน 10 ครั้งหากใช้เครื่องตัดแบ่งเม็ดยา และประมาณ 2 ใน 10 ครั้งถ้าใช้กรรไกรหรือมีดทำครัว ยิ่งถ้าเอามารวมกัน ก็หมายถึง เรามีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะได้ยาที่มีขนาดผิดเพี้ยนจากที่ควรเป็นค่อนข้างมาก เมื่อต้องหักแบ่งเม็ดยาด้วยเครื่องมือต่าง ๆ
อืมม์… ใช้เครื่องมือยังผิดเยอะขนาดนี้ …ถ้าใช้มือเปล่าล่ะ จะยิ่งผิดเยอะขนาดไหน???
ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นแหละค่ะ ถ้าเป็นยาที่ช่วงความปลอดภัยกว้างก็คงไม่เป็นไรนัก แต่ถ้าเป็นยาที่ช่วงความปลอดภัยแคบล่ะก้อ… เฮ้อ! ไม่อยากจะคิด เพราะฉะนั้น ผู้วิจัยเค้าก็เลยแนะนำว่าควรระมัดระวังในการแบ่งขนาดยาเม็ดที่ต้องใช้น้อยกว่าครั้งละ 1 เม็ดเต็ม จะให้ดีก็คงต้องต้องเลือกเม็ดยาที่มีขนาดพอดี ไม่ต้องหักแบ่ง หรืออาจเลือกใช้รูปแบบอื่น เช่นยาน้ำ ซึ่งจะตวงวัดได้ง่ายกว่าการตัดแบ่งยาเม็ด แต่ถ้าไม่ได้อีก อย่างน้อย การใช้เครื่องตัดแบ่งยาเม็ดโดยเฉพาะ ก็ช่วยลดความผิดพลาดได้มากกว่าการใช้มีดทำครัวหรือใช้กรรไกรได้ครึ่งต่อครึ่งเลยนะคะ
อีกงานวิจัยหนึ่งก็น่าสนใจค่ะ… จาก University of Arizona College of Pharmacy ในประเทศสหรัฐอเมริกา (ตีพิมพ์ใน Journal of Managed Care Pharmacy; April 2009) ให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ทดลองตัดแบ่งเม็ดยา 6 ชนิดที่มักพบว่ามีการสั่งจ่ายให้รับประทานในขนาดที่ต้องแบ่งเม็ด ชนิดละ 15 เม็ด ด้วยเครื่องมือสำหรับตัดแบ่งเม็ดยา
ผลการศึกษาพบว่า… โอกาสที่ยาอันตราย เช่น Warfarin จะถูกแบ่งแล้วได้ขนาดที่ผิดเพี้ยนกว่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ มีมากกว่า 1 ใน 3 ครั้ง ทั้งที่เม็ดยามีขีดแบ่ง …นี่ขนาดใช้เครื่องตัดแบ่งเม็ดยานะเนี่ย!
ลักษณะของยาเม็ดที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการหักแบ่งเม็ดยา ก็ได้แก่ ยาที่มีขนาดเล็ก (แค่หยิบก็ยากแล้ว ยังต้องมาหักแบ่งอีก!), ยาที่มีรูปร่างแปลก ๆ หรือไม่สมมาตร (สวยดีค่ะ แต่ไม่สนุกเลยเวลาต้องหักแบ่ง) หรือมียาที่มีรอยบากตรงกลางเพียงด้านเดียว
นี่ว่ากันแค่เรื่องของน้ำหนักหรือปริมาณยาที่อาจได้มากหรือน้อยเกินไปเท่านั้นนะคะ ยังไม่รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับความคงตัวของยาที่อาจลดลงเมื่อมีการหักแบ่งเม็ดยา, การแตกตัวของเม็ดยาหรือการละลายของตัวยาสำคัญ, ยาบางชนิดที่ผลิตด้วยเทคนิคพิเศษที่ไม่เหมาะสำหรับการหักแบ่งเม็ดยา โอ๊ย… สารพันปัญหาร้อยแปดค่ะที่ทำให้ไม่ควรมองข้ามเรื่องการหักแบ่งเม็ดยา
สำหรับคุณผู้อ่านที่ต้องใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าขนาดเต็มเม็ด…
- ขอเรียนให้ทราบว่าเภสัชกรของท่าน ได้มีความพยายามในการคัดสรรยา (โดยเฉพาะยาที่มีช่วงความปลอดภัยในการใช้แคบ) ในรูปแบบที่เหมาะสมมาไว้ในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยในการใช้ที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้วค่ะ …โปรดอย่าวิตกกังวลมากเกินไปนะคะ
- แต่ก็อย่ามองข้ามความปลอดภัย… หากจำเป็นต้องหักแบ่งเม็ดยา ควรใช้เครื่องมือตัดแบ่งโดยเฉพาะ จะดีกว่ามีดทำครัวหรือกรรไกร และดีกว่าเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับการใช้มือเปล่าหักแบ่งค่ะ
- อย่าหักแบ่งเม็ดยาไว้ทั้งซองหรือทีละหลายเม็ด เพราะอาจส่งผลเรื่องความคงตัว, การแตกตัวและการละลายของยาที่จะด้อยลง
- การหักแบ่งยาบางชนิด ถือเป็นข้อห้ามนะคะ เพราะอาจทำลายกลไกการออกฤทธิ์ที่ต้องการให้ค่อย ๆ ปลดปล่อยตัวยา หรือทำลายชั้นเคลือบที่ทำไว้เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร หรือสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น ยาที่ไม่มีการระบุไว้บนฉลากยาให้หักแบ่ง ก็อย่าไปหักไปแบ่งมันเลยนะคะ ยกเว้นถ้าท่านมีปัญหาจริง ๆ เช่น กลืนยาทั้งเม็ดไม่ได้ ให้สอบถามเภสัชกรของท่านก่อนว่ายานั้น ๆ สามารถหักแบ่งหรือบดเม็ดยาได้หรือไม่ด้วยค่ะ
แหม… การแบ่งเม็ดยานี่ก็สามารถเอามาคุยเป็นเรื่องเป็นราวได้อย่างไม่น่าเชื่อนะคะเนี่ย ^_^ และสุดท้ายที่อยากฝากไว้ก่อนจากกันก็คือ แม้ “การแบ่งเม็ดยา” บางชนิดไม่ได้ถือเป็นข้อห้าม แต่ถ้าเป็น “การแบ่งยาให้คนอื่น ๆ ใช้” อันนี้… ห้ามโดยเด็ดขาดเลยนะ เสี่ยงที่ผู้รับจะได้รับอันตรายจากการแพ้ยาหรือได้ยาที่ห้ามใช้ในภาวะหรือโรคประจำตัวที่เค้าอยู่ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น… ความหวังดีอาจกลายเป็นประสงค์ร้ายโดยไม่รู้ตัวนะคะ…จะบอกให้! (แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งเม็ดยาไหมเนี่ย… ^_^)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง / แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม
- จันคนา บูรณะโอสถ, สรายุทธ์ จันทร์มหเสถียร. การหักแบ่งยาเม็ด (Tablet splitting). วารสารไทยไภษัชนิพนธ์ 2550; ปีที่ 4 ฉบับเดือนเมษายน: 1-12.
- งานวิจัย Analysis of Drug Content and Weight Uniformity for Half-Tablets of 6 Commonly Split Medications
- บทความ Tablet splitting is a highly inaccurate and potentially dangerous practice
- บทความ เรื่องของเม็ดยา จากบล็อก ดอกผักบุ้ง : เภสัชกรกับงานปฐมภูมิ
- บทความ แบ่งครึ่งเม็ดยาคุ้มค่า(แม่นยำ)ไหม จากบล็อก นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ : บ้านสุขภาพ
- บทความ แบ่งเม็ดยา…เรื่องเล็ก ๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ได้ จากบล็อก เรื่องเล่าจากเภสัชกร