กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

Propolis (โพรพอลิส)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที

ข้อมูลภาพรวมของโพรพอลิส

โพรพอลิส (Propolis) เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากรังผึ้งที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางยาตั้งแต่โบราณในยุคกรีก โรมัน โดยมีบันทึกว่า มีการนำโพรพอลิสมาใช้บรรเทาอาการระคายคอ เจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียในช่องปากและลำคอ พร้อมทั้งรักษาแผลในปากและอาการเหงือกอักเสบ เป็นต้น

โพรพอลิสคืออะไร ?

โพรพอลิสประกอบขึ้นจากเกสรและยางไม้ หรือเรซินที่ผึ้งเก็บได้จากดอกไม้ กลีบอ่อนใบไม้ และส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ผสมเข้ากับเอนไซม์ในน้ำลายผึ้ง โดยอาจจะมีไขผึ้งและส่วนประกอบอื่น ๆ ปนเข้ามาเล็กน้อย  

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

จากรายงานการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า โพรพอลิสมีส่วนประกอบของสารสำคัญต่างๆ มากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ กาแลนจิน (Galangin) กรดคาเฟอิค (Caffeic acid phenethyl ester (CAPE) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบ และยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอื่นๆ เช่น เทอร์ปีน ฟีนอลิก เป็นต้น ทั้งนี้สารที่พบจะมีความหลากหลายไปตามแหล่งอาศัยของผึ้งและชนิดของพืชพันธุ์ในแถบนั้น

ประโยชน์ต่อสุขภาพของโพรพอลิส

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โพรพอลิสมีองค์ประกอบของสารเคมีที่แตกต่างกันหลายชนิด ส่งผลให้มีรายงานคุณสมบัติที่หลากหลาย ได้แก่ ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ทั้งยังต้านการอักเสบ ต้านเนื้องอก ต้านออกซิเดชั่น และชะลอความเสื่อมของเซลล์ แต่ทั้งนี้ยังสรุปแน่ชัดไม่ได้ว่าคุรสมบัติเหล่านี้เป็นเพราะกลไก หรือสารชนิดใดในโพรพอลิส อย่างไรก็ตาม มีการวิจัยมากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของโพรพอลิสในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการบรรเทาอาการจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ดังนี้

แก้เจ็บคอ บรรเทาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

อาการเจ็บ หรือระคายเคืองในลำคอสร้างความรำคาญใจให้ใครหลายคน อีกทั้งยังมักตามมาด้วยอาการคอแห้ง ไอ และเสียงแหบ ทำให้ไม่สามารถพูดคุยได้ตามปกติ สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวมีมากมาย เช่น การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทคอกคัส หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ การติดเชื้อรา หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากการเผชิญสารเคมีต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง

มีงานวิจัยบางส่วนชี้ว่า น้ำผึ้งช่วยให้ทางเดินหายใจและลำคอชุ่มชื้นจึงช่วยบรรเทาอาการไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ ดังนั้นโพรพอลิสก็อาจมีประโยชน์ในด้านนี้ไม่แพ้กัน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์จากผึ้งอย่างโพรพอลิสมีสารสำคัญอย่างกาแลนจินและกรดคาเฟอิกที่มีคุณสมบัติช่วยต้านจุลชีพและต้านการอักเสบซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบและติดเชื้อได้ด้วย

หลังจากนั้นมีงานค้นคว้าอีกชิ้นหนึ่งทดลองให้เด็กที่มีอาการคออักเสบเนื่องจากติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรพอลิสเป็นเวลา 72 ชั่วโมง ปรากฏว่า อาการอักเสบของคอและหูชั้นกลางที่เกิดจากการติดเชื้อบรรเทาลง ทั้งยังลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดลมอักเสบและไซนัสอักเสบ ซึ่งมักเป็นผลมาจากการติดเชื้อบริเวณจมูก หรือคอได้ด้วย

ในปี 2010 มีงานวิจัยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนจำนวน 250 คน ณ โรงพยาบาล Central Hospital มหาวิทยาลัย Benin เกี่ยวกับประสิทธิภาพของโพรพอลิสในการต้านเชื้อที่แยกจากลำคอของผู้ป่วย พบว่า โพรพอลิสมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในทางเดินหายใจส่วนบนและเป็นเชื้อที่แยกออกจากลำคอของผู้ป่วยได้จริงพร้อมทั้งมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราในช่องปากซึ่งมักเป็นเชื้อฉวยโอกาสในช่องปากและลำคอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

จากการศึกษาที่สอดคล้องกันดังข้างต้น โพรพอลิสจึงเป็นอีกทางเลือกจากธรรมชาติในการบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจที่ปลอดภัยและได้ผล อีกทั้งหากเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียก็จะไม่ทำให้เกิดการดื้อยาเหมือนการใช้ยาปฏิชีวนะ

บำรุงสุขภาพช่องปาก

สุขภาพปากและฟันที่ดีไม่เพียงช่วยเพิ่มความมั่นใจเวลายิ้ม หรือพูดคุยเท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันการเกิดปัญหาภายในช่องปากเมื่อมีอายุมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ตัวการสำคัญของปัญหาดังกล่าว คือ แบคทีเรีย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในช่องปาก หากไม่ดูแลรักษาความสะอาด แบคทีเรียเหล่านั้นอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกิดคราบหินปูนสะสม มีกลิ่นปาก และนำไปสู่โรคเหงือกได้

ด้วยคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียนี่เองที่ทำให้โพรพอลิสน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่มีประสิทธิภาพลดการสะสมของคราบสิ่งสกปรก ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปากได้ ทั้งนี้มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นหลากคุณประโยชน์ของโพรพอลิสที่มีต่อสุขภาพปากและฟัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การกลั้วน้ำยาบ้วนปากชนิดไร้แอลกอฮอล์ที่มีส่วนผสมของบราซิลเลียนกรีนโพรพอลิส (Brazilian Green Propolis) 5% ปริมาณ 10 มิลลิลิตร เป็นเวลา 1 นาที ทันทีหลังจากแปรงฟันในตอนเช้าและก่อนนอน โดยใช้ติดต่อกัน 45 หรือ 90 วัน พบว่า โพรพอลิสอาจช่วยควบคุมการเกิดคราบจุลินทรีย์และโรคเหงือกได้อย่างมีนัยสำคัญถึง 24% และ 40% ตามลำดับ ทั้งยังไม่ส่งผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อและเยื่อบุในช่องปากของผู้เข้าร่วมทดลอง รวมถึงไม่กระทบต่อจุลินทรีย์ทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเหงือกและฟันอีกด้วย

นอกจากน้ำยาบ้วนปาก ยังมีการประยุกต์ใช้โพรพอลิสในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายที่พบว่า ให้ผลดีต่อสุขภาพช่องปากเช่นกัน การศึกษาชิ้นหนึ่งเผยว่า ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของ Brazilian Green Propolis 3% ช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้เช่นเดียวกันและยังทำให้สุขภาพเหงือกโดยรอบดีขึ้น ส่วนโพรพอลิสในรูปแบบสารละลายนั้น อาจช่วยฆ่าเชื้อที่สะสมอยู่ตามแปรงสีฟันและยังช่วยให้แผลผ่าตัดในช่องปากฟื้นตัวได้เร็วกว่าปกติด้วย

ประโยชน์ด้านอื่นๆ

โพรพอลิสเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่นักวิจัยค่อนข้างให้ความสนใจเพราะนอกจากสรรพคุณบำรุงสุขภาพช่องปากและลำคอแล้ว ยังมีการศึกษาถึงประโยชน์ของสารชนิดนี้ในหลายๆ ด้าน งานวิจัยบางส่วนชี้ว่า คุณสมบัติต้านเชื้อไวรัสของโพรพอลิสอาจเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีหูดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนสรรพคุณต้านการอักเสบก็อาจช่วยเร่งการสมานตัวของแผลได้ เช่น แผลเบาหวานที่เท้า แผลจากโรคเริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น และอาจช่วยลดความเจ็บปวดจากการอักเสบต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปในตัวด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางการแพทย์ที่มีในขณะนี้ยังไม่อาจยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของโพรพอลิสได้อย่างแน่ชัดจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ดังนั้นหากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์โพรพอลิสเพื่อหวังสรรพคุณทางการรักษาโรคด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งเกี่ยวกับวิธีการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม

โพรพอลิสใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

โดยทั่วไปน้ำผึ้งที่เรารับประทานกันจะมีโพรพอลิสเจือปนอยู่แล้วอีกทั้งโพรพอลิสยังมีประวัติการใช้มายาวนาน ดังนั้นการรับประทาน หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพรพอลิสภายในช่องปากจึงค่อนข้างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้อาจต้องระมัดระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นพิเศษ และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อรักษา หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยใดๆ เสมอ

  • ผู้ที่แพ้น้ำผึ้ง หรือแพ้ผึ้ง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผึ้งต่างๆ อย่างต้นพอปลาร์ ต้นสน ขี้ผึ้ง และซาลิไซเลต (salicylates) เพราะอาจมีโอกาสแพ้โพรพอลิสได้เช่นเดียวกัน โดยอาจสังเกตอาการแพ้ได้จากการมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง
  • ผู้ป่วยโรคหืด เพราะอาจมีอาการแย่ลงหลังจากได้รับสารนี้
  • หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ให้การดูแลก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เนื่องจากภาวะของหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
  • ควรเลือกผลิตภัณฑ์โพรพอลิสที่ผ่านการรับรองว่า ไม่มีส่วนผสม หรือการเจือปนของสารโลหะหนัก
  • อ่านฉลากคำเตือนและวิธีใช้ให้ละเอียด โดยปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเสมอ
  • หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพรพอลิสควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์
  • หากพบอาการแพ้ที่มีลักษณะเป็นผื่นแดง คันตามร่างกาย ปากบวม ตาบวม หรือหายใจไม่ออก ควรพบแพทย์ทันที
  • สารเคมีบางชนิดในโพรพอลิสอาจชะลอการเกิดลิ่มเลือดได้ ดังนั้นการรับประทานโพรพอลิสอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดระหว่างและหลังจากผ่าตัดขึ้นได้ ดังนั้นควรหยุดใช้โพรพอลิสก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ปริมาณที่ใช้

ขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับโพรพอลิสนั้นจะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพ และภาวะสุขภาพอื่นๆ ของผู้ใช้ ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังคงขาดแคลนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาชี้ชัดปริมาณที่เหมาะสมของโพรพอลิส ดังนั้นต้องพึงจำไว้ว่า แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติก็อาจไม่ปลอดภัยทุกครั้ง พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาและปรึกษากับเภสัชกร แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนใช้โพรพอลิสทุกครั้ง


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Ramos A. F. N.; Miranda J. L., Propolis: a review of its anti-inflammatory and healing actions (http://www.scielo.br/scielo.php?script=sci_arttext&pid=S1678-91992007000400002), 2007
Khayyal MT et al., Mechanisms involved in the antiinflammatory effect of propolis extract (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/7513636), 1993
E. A. Ophori and E. C. Wemabu, Antimicrobial activity of propolis extract on bacteria isolated from nasopharynx of patients with upper respiratory tract infection admitted to Central Hospital, Benin City, Nigeria (https://pdfs.semanticscholar.org/fe0f/e770bed864b90c1060025467fba43fa73b75.pdf?_ga=2.76548693.1788541091.1564554833-2088984353.1560844076), 18 August 2010

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)