โรคมะเร็งรังไข่เป็นโรคมะเร็งอันดับต้นๆ อีกโรคที่พบในหญิงไทย โดยอันตรายของโรคนี้ คือ กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็งรังไข่ เชื้อมะเร็งก็ลุกลามไปไกลถึงระยะที่ยากจะรักษาให้หายแล้ว
ดังนั้นนอกเหนือจากโรคมะเร็งเต้านม หรือโรคมะเร็งปากมดลูก ทุกคนก็ควรรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งรังไข่เอาไว้ เพื่อจะได้รู้เท่าทันการเกิดโรคนี้ได้ก่อนที่เชื้อมะเร็งจะแพร่กระจายไปจนไม่สามารถรักษา หรือบรรเทาอาการได้เลย
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ความหมายของโรคมะเร็งรังไข่
โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) คือ โรคมะเร็งซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์รังไข่ เป็นโรคที่จัดเป็นภัยเงียบในผู้หญิง เพราะมักไม่มีอาการแสดงออกมาล่วงหน้า และสังเกตความผิดปกติได้ยาก
สาเหตุของโรคมะเร็งรังไข่
แพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้อย่างแน่ชัด แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้ เช่น
- มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
- เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งมาก่อน เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน โดยเฉพาะผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดที่เป็นผู้หญิง เช่น ย่า ยาย
- เคยเป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)
- แม่ พี่สาว น้องสาวเป็นผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- เป็นผู้หญิงที่หมดประจำเดือนหลังอายุ 50 ปี
- เป็นผู้หญิงที่เข้ารับการทำฮอร์โมนบำบัดทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT)
- เป็นผู้หญิงที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิดมาก่อน
- มีการตกไข่ทุกเดือน
- การไม่มีบุตร หรือมีบุตรหลังจากอายุ 30 ปีแล้ว
- อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี
- มีพฤติกรรมสูบบุหรี่
ระยะของโรคมะเร็งรังไข่
โรคมะเร็งรังไข่สามารถแบ่งออกได้ 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 เชื้อมะเร็งยังอยู่ที่รังไข่ข้างเดียว ยังไม่แพร่กระจายไปยังรังไข่อีกข้าง แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจพบเซลล์มะเร็งในช่องท้องได้
- ระยะที่ 2 เชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปยังรังไข่อีกข้าง รวมถึงมดลูก ปีกมดลูก หรือท่อนำไข่ และอวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกรานแล้ว
- ระยะที่ 3 เชื้อมะเร็งมีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร หรืออาจใหญ่กว่านั้น และลุกลามออกไปนอกอุ้งเชิงกรานเข้าไปในเยื่อบุช่องท้อง หรือในท้องด้วย
- ระยะที่ 4 เชื้อมะเร็งลุกลามเข้าไปในน้ำเยื่อหุ้มปอด รวมถึงอวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจ ปอด ม้าม ตับ ต่อมน้ำเหลือง
ประเภทของโรคมะเร็งรังไข่
เราสามารถจำแนกโรคมะเร็งรังไข่ได้หลักๆ 3 ชนิด
- โรคมะเร็งเยื่อบุรังไข่ (Epithelial Ovarian Cancer) เป็นชนิดของโรคมะเร็งรังไข่ที่พบได้บ่อยที่สุด และมักไม่แสดงอาการออกมาจนโรคถึงระยะที่รุนแรงแล้ว
- โรคมะเร็งรังไข่ชนิดฟองไข่ (Germ cell Cancer) เป็นชนิดของโรคมะเร็งรังไข่ที่สามารถสร้างไข่ได้ และยังมีส่วนทำให้ผลตรวจการตั้งครรภ์ผิดพลาดได้
- โรคมะเร็งรังไข่ชนิดเนื้อรังไข่ (Stomal cell tumors) เป็นชนิดของโรคมะเร็งรังไข่ที่เกิดจากการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ฮฮร์โมนเทสโทสเตอโรน
อาการโรคมะเร็งรังไข่
อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อ่อนเพลีย
- เป็นสิว
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องโต
- ปวดท้อง
- ปวดหลังส่วนล่าง
- อาหารไม่ย่อย
- จุกเสียด แน่นท้อง
- ท้องผูก
- ปวดกระดูกเชิงกราน
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- น้ำหนักขึ้น หรือลงผิดปกติ
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ต่อมน้ำเหลืองโต
ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่ คือ ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องอย่างเฉียบพลัน เลือดออกในช่องท้อง รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
อาการของโรคมะเร็งรังไข่จะมีความใกล้เคียงกับโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร หรือโรคเกี่ยวกับลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็งรังไข่ แต่หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยประมาณ 3 สัปดาห์ต่อครั้ง และเป็นอย่างต่อเนื่อง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัยทันที
หรือหากคุณไม่มั่นใจว่า อาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับระบบอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่ ก็ให้ไปรับการตรวจสุขภาพด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือตรวจสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อหาความผิดปกติของร่างกายต่อไป
อ่านเพิ่มเติม: สัญญาณเตือนโรคมะเร็งรังไข่
การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่
แพทย์มักใช้วิธีเหล่านี้ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ ซึ่งได้แก่
- การตรวจเลือดเพื่อหาสาร CA125 ซึ่งผลิตโดยเซลล์มะเร็งรังไข่
- การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
- การถ่ายเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray)
- การถ่ายภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI)
- การเจาะตรวจน้ำในช่องท้อง (Abdominal Fluid Aspiration)
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test)
- การส่องกล้อง (Laparoscopy)
วิธีรักษาโรคมะเร็งรังไข่
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่จะขึ้นอยู่ระยะ และความรุนแรงของโรค แต่โดยหลักๆ วิธีรักษาโรคมะเร็งรังไข่จะจำแนกได้ดังนี้
1. การผ่าตัด
เป็นวิธีรักษาที่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยการผ่าตัดก็จะแบ่งออกได้หลายรูปแบบ ส่วนของรังไข่ที่ต้องผ่าตัดก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ เช่น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- การผ่าตัดตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกสองข้าง (Bilateral salpingo-oophorectomy)
- การผ่าตัดตัดมดลูกออก (Total abdominal hysterectomy)
- การผ่าตัดกำจัดชั้นเนื้อเยื่อไขมันช่องท้อง (Omentectomy)
นอกจากนี้แพทย์อาจตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือช่องท้อง และเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงเพื่อนำไปตรวจด้วยว่า เชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายออกไปแล้วหรือไม่
หากตรวจแล้วพบว่า มีการแพร่กระจาย แพทย์ก็จะพยายามกำจัดเซลล์มะเร็งออกไปให้มากที่สุด โดยจะให้เซลล์มะเร็งเหลือน้อยกว่า 1 เซนติเมตร
ในกรณีที่อาการของโรคมะเร็งรังไข่รุนแรงมาก แพทย์ก็อาจตัดอวัยวะส่วนที่ถูกเชื้อมะเร็งลุกลามออกไปด้วย เช่น มดลูก ท่อนำไข่ เนื้อเยื่อช่องท้อง
2. การทำเคมีบำบัด
หรือ “การทำคีโม” โดยเป็นกระบวนการให้ยาต้านมะเร็งเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้ทำเคมีบำบัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งในทันที แต่เป็นการทำเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนเข้าผ่าตัด
ส่วนมากการทำเคมีบำบัดจะมีความถี่เป็นจำนวน 6 รอบ มักจะเป็นการให้ผ่านน้ำเกลือเข้าสู่หลอดเลือดดำ แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจให้เป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน และผู้ป่วยที่เข้ารับเคมีบำบัดมักจะไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่นั้นอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาที่ทำเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง อ่อนเพลีย รู้สึกเจ็บภายในช่องปาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
ถึงแม้การทำเคมีบำบัดจะเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยก็อาจได้รับการผ่าตัดซึ่งเรียกว่า “การผ่าตัดซ้ำสองเพื่อตรวจสอบ (Second-look surgery)” ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อตรวจว่า ในร่างกายผู้ป่วยยังมีเชื้อมะเร็งหลังทำเคมีบำบัดหลงเหลืออยู่หรือไม่
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่ให้หายขาดได้ต้องอาศัยทั้งความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ความรุนแรง และการลุกลามของโรคที่ยากต่อการสังเกตในช่วงแรกด้วย
และถึงแม้กระบวนการรักษาจะเสร็จสิ้น ผู้ป่วยก็ยังต้องกลับมาตรวจร่างกายทุก 2-4 เดือนใน 2 ปีแรกหลังจากรักษา เพื่อให้แพทย์มั่นใจว่า ไม่มีการกลับมาเป็นโรคมะเร็งรังไข่ซ้ำอีก
อ่านเพิ่มเติม: การตรวจวินิจฉัย และประเมินผลการรักษาโรคมะเร็งรังไข่
การป้องกันโรคมะเร็งรังไข่
โรคมะเร็งรังไข่จัดเป็นโรคที่ป้องกันได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ยังมีวิธีป้องกัน และลดความเสี่ยงได้อยู่ เช่น
- การรับประทานยาคุมกำเนิด
- การตั้งครรภ์
- การให้นมบุตรเอง
- การผ่าตัดมดลูก
- การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
จากวิธีป้องกันที่กล่าวไปข้างต้น ผู้หญิงทุกคนที่มีเป็นกลุ่มเสี่ยงอาจทำไม่ได้ทุกคน เพราะหลายคนไม่ได้ต้องการมีลูก รวมถึงไม่ได้มีความผิดปกติจนต้องผ่าตัดมดลูกทุกคน
ดังนั้นการไปตรวจภายใน ตรวจความเสี่ยงโรคมะเร็งในผู้หญิงจึงจัดเป็นวิธีป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ที่ดีที่สุด เพราะเมื่อคุณตรวจแล้วพบว่า มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งรังไข่ ก็จะได้ปรึกษากับแพทย์ หรือขอคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงต่อไป
อ่านเพิ่มเติม: วิธีป้องกันโรคมะเร็งรังไข่
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android