ตะคร้อ (Schleichera oleosa)

ตะคร้อ หรือ ตะคร้อป่า ผลไม้และสมุนไพรพื้นเมืองสรรพคุณมากมาย แต่ละส่วน เช่น เปลือก ใบ ผล น้ำมันสกัดจากเมล็ด มีประโยชน์มากกว่าที่คิด
เผยแพร่ครั้งแรก 31 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ตะคร้อ (Schleichera oleosa)

ตะคร้อ หรือ บักคร้อ หรือ ตะคร้อป่า เป็นผลไม้พื้นบ้านทางภาคอีสาน ภาดเหนือ และภาคตะวันออกของประเทศไทย มีผลมากในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฏาคม ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ส่วนมากจะขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด นิยมนำมายำหรือรับประทานเป็นผลไม้ก็ได้ มีประโยชน์ทางยาหลากหลาย เช่น แก้ท้องผูก รักษาอาการท้องเสีย

ตะคร้อ สมุนไพรพื้นบ้าน มีสรรพคุณอะไรบ้าง?

ส่วนต่างๆ ของตะคร้อ มีสรรพคุณดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • เปลือกลำต้น มีรสฝาด ช่วยต้านการอักเสบจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง เมื่อนำมาต้มกับน้ำสะอาดสามารถกินเป็นยาสมานท้อง แก้ฝีหนอง รักษาอาการปวดประจำเดือน แก้ไข้มาลาเรีย แก้อาการท้องเสียและโรคบิด ที่มีสาเหตุมาจกเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ได้เป็นอย่างดี โดยการนำเปลือกต้นขนาดประมาณ 2-3 ชิ้น ต้มน้ำสะอาด ดื่มเมื่อมีอาการท้องเสีย

    ยิ่งไปกว่านั้น ตะคร้อยังสามารถลดการหลั่งกรดในกระเพาะ รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
  • ผลตะคร้อ เนื้อในสีส้ม ฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยว แก้อาการท้องผูก สามารถรับประทานสดหรือใช้แทนน้ำมะนาว แต่ควรระวังเพราะหากรับประทานมากเกินไปอาจเป็นยาระบาย ทำให้ท้องเสียได้
  • น้ำมันจากเมล็ดตะคร้อ (Kusum oil) สามารถใช้เป็นยาทาแก้ปวดตามข้อ หรือแก้ปวดกล้ามเนื้อ ใช้บำรุงผม ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม แก้ผมร่วง ลดการเกิดเชื้อราบริเวณหนังศรีษะและผิวหนัง รักษาสิว แก้แผลไฟไหม้ และน้ำร้อนลวกได้ ทางการแพทย์อายุรเวท ประเทศอินเดีย ใช้น้ำมันจากเมล็ดตะคร้อผสมกับกระเทียม ทาทั่วร่างกาย เพื่อบรรเทาอาการไข้
  • ใบแก่ ใช้เป็นยาแก้ไข้ โดยการนำใบล้างให้สะอาด มาขยี้กับน้ำ และนำน้ำนั้นมาเช็ดตัว สามารถลดอาการตัวร้อนได้ หรือนำมาตำพอกเพื่อรักษาฝีก็ได้

ตะคร้อกับตะคร้อหนาม ต่างกันอย่างไร?

ลักษณะทางกายภาพภายนอกของตะคร้อ หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ตะคร้อป่า ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schleichera oleosa (Lour.) Merr. มีความใกล้เคียงกับตะคร้อหนาม ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sisyrolepis muricata (Pierre) Leenh.

สิ่งที่แตกต่างกันมีดังนี้

  • ผล ผลของตะคร้อมีลักษณะเป็นทรงกลม ขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่ผลของต้นตะคร้อหนามจะมีลักษณะคล้ายผลเงาะ ขนาดใหญ่กว่าผลตะคร้อทั่วไป
  • ดอก ดอกของตะคร้อหนามจะออกเป็นช่อ แยกแขนง กลีบดอกมีสีขาวนวล แต่ดอกตะคร้อทั่วไปจะมีสีเหลืองแกมเขียว

ประโยชน์ของตะคร้อ อ้างอิงจากงานวิจัย

มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของตะคร้อในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอาการปวด (Anti-inflammatory and analgesic activity)
    จากการศึกษาพบว่า บริเวณเปลือกต้นของตะคร้อมีสารพฤกษเคมีที่ชื่อว่า แทนนิน (Tannins) สารนี้มีส่วนช่วยในการลดการอักเสบในร่างกายได้ และเมื่อทดสอบในหนูทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านอาการปวดและอาการบวมที่อุ้งเท้า ต้านสารคาร์คาจีแนน (Carrageenan) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการบวม
  • ต้านการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Antiulcer activity)
    จากสถิติพบว่า โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10% ของประชากรทั้งโลก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori รองลงมาคือ ผลข้างเคียงของยาแก้ปวด ในกลุ่ม NSAIDs ความเครียด และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

    จากการศึกษาพบว่า ต้นตะคร้อ มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive) ที่ชื่อว่าไตรเตอร์ปีนอยด์ (Triterpenoids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และแทนนิน (Tannins) ที่ช่วยต้านโรคดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

    สารแทนนินมีสรรพคุณช่วยสมานแผล ป้องกันการอักเสบ ลดการระคายเคือง ยิ่งไปกว่านั้นมีบางรายงานวิจัยกล่าวว่าสารแทนนินสามารถต้านการติดเชื้อ Helicobacter pylori ได้อีกด้วย
  • สารต้านมะเร็ง (Antineoplastic) และต้านอนุมูลอิสระ
    ผลจากการทดสอบสารสกัดจากรากตะคร้อในหลอดทดลองพบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็งลำไส้สูงถึง 83% นอกจากนี้เมื่อสกัดผิวของเปลือกต้นตะคร้อด้วยสารไอคลอโรมีเทน-เมทานอล (Dichloromethane-methanol) ในอัตราส่วน 1:1 พบว่ามีสารจำพวกอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แทนนิน (Tannins) และเซสควิเทอร์ปีน (Sesquiterpene) ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดเซลล์มะเร็ง และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Lymphocytic leukemia) ได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา (Antibacterial and antimycotic effect)
    สารสกัดน้ำมันจากเมล็ดตะคร้อ (Kusum oil) อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ เควอซิทิน (Quercetin) ไตรเตอร์ปินอยด์ มีคุณสมบัติในการต่อต้านการเกิดเชื้อราแคนดิดาอัลบิแคน (Candida albicans) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, ตะคร้อหนาม (https://pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=34), 2553.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, ตะคร้อ (http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1527), 10 พฤศจิกายน 2558.
Shambadiya Goswami and RavindraPal Singh, Suresh Gyam Vihar University, India, Ayurvedic, Phytochemical and Pharmacological review of SCHLEICHERA OLEOSA (LOUR.) OKEN: A traditional plant with enormous biological activity (https://pdfs.semanticscholar.org/e043/e30e63f3bb1cf2c24d3be11f503a6df162cf.pdf), 9 July 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)