หลักการจัดอาหารลดโซเดียมสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

เผยแพร่ครั้งแรก 25 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
หลักการจัดอาหารลดโซเดียมสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

หลักการจัดอาหารลดโซเดียมสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

อาหารปกติทั่วไปที่รับประทานจะมีโซเดียมอยู่ประมาณ 3,000-6,000 มิลลิกรัมซึ่งเท่ากับเกลือแกง (NaCl) ประมาณ 2-3 ช้อนชา (8-15 กรัม) ดังนั้นอาหารลดโซเดียม (low sodium diet) คือ การจัดอาหารและเครื่องดื่มรวมทั้งเครื่องปรุงรสและอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยบริโภคในหนึ่งวันให้มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าที่คนปกติได้รับ อาหารลดโซเดียมหรือจำกัดโซเดียมนอกจากจะเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ยังจัดให้สำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ป่วยโรคตับแข็ง เป็นต้น อาจจำเป็นต้องได้รับอาหารชนิดนี้ในการบำบัดรักษาโรคเช่นกัน ปริมาณโซเดียมที่จำกัดขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ป่วยในการที่จะรักษาความสมดุลของโซเดียมและน้ำในร่างกายไว้ได้

  1. ลักษณะของอาหารลดโซเดียม

    อาหารลดโซเดียม มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากอาหารทั่วไปของโรงพยาบาลเพียงแต่ปริมาณของโซเดียมเท่านั้นทีแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะทราบจากการชิมอาหารเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ลักษณะการจัดการลดโซเดียมให้กับผู้ป่วยจัดตามระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูงได้ดังนี้

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

    แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

    • อาหารที่ไม่เติมเกลืออีกเมื่อปรุงเสร็จ เป็นอาหารที่มีโซเดียมประมาณ 4 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 174 มิลลิอิควิวาเลนต์ (4,002 มิลลิกรัมโซเดียม) การปรุงอาหารสามารถใช้เกลือหรือน้ำปลา หรือซีอิ๊วได้เล็กน้อย เพื่อให้อาหารมีรสบ้าง โดยใช้เกลือได้ประมาณ 3 ช้อนชาต่อวัน แต่ไม่มีการเติมเกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊วอีกเมื่อปรุงอาหารเสร็จหรือขณะจะรับประทาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง เช่น อาหารกระป๋อง ไข่เค็ม หมูเค็ม ของหมักดอง ไส้กรอก กุนเชียง แหนม หมูยอ แฮม เป็นต้น

      ปริมาณโซเดียมในระดับนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเล็กน้อย (mild hypertension) หรือมีค่าความดันต่ำสุดอยู่ระหว่าง 90-104 มิลลิเมตรปรอท

    • อาหารลดโซเดียมเล็กน้อย (mild sodium restriction) เป็นอาหารที่ให้โซเดียมประมาณ 2-3 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 87-130 มิลลิอิควิวาเลนต์ (2,001-2,990 มิลลิกรัมโซเดียม) โดยให้ใส่เกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊วในอาหารได้ประมาณ 2 ช้อนชาต่อวัน และเมื่อปรุงอาหารเสร็จจะไม่มีการเติมเกลือลงในอาหารอีก ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมมากทุกชนิด เช่น เต้าเจี้ยว น้ำบูดู ปลาร้า ซอสชูรส ผงกันบูด (sodium benzoate) กะปิ ปลาเค็ม ไข่เค็ม อาหารกระป๋อง และอาหารหมักดองต่าง ๆ

      ปริมาณโซเดียมในระดับนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงระดับปานกลาง (moderate hypertension) หรือค่าความดันต่ำสุดอยู่ระหว่าง 105-119 มิลลิเมตรปรอท

    • อาหารลดโซเดียมปานกลาง (moderate sodium restriction) เป็นอาหารที่ให้มีโซเดียมได้ประมาณ 1 กรัมต่อวัน หรือ 43.5 มิลลิอิควิวาเลนต์ (1,000.5 มิลลิกรัมโซเดียม) โดยไม่มีการเติมเครื่องชูรสเค็ม เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือผงชูรส ทั้งในขณะปรุงอาหารหรือขณะจะรับประทานและมีการจำกัดให้ผู้ป่วยดื่มนมได้ไม่เกิน 2 ส่วนต่อวัน ควรรับประทานผักที่มีโซเดียมต่ำและควรจำกัดอาหารจำพวกแป้ง ขนมเค้ก และคุกกี้

      การลดโซเดียมในอาหารระดับนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวและผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรง (severe hypertension) หรือค่าความดันต่ำสุดอยู่ระหว่าง 120-130 มิลลิเมตรปรอท

    • อาหารลดโซเดียมมาก (severe sodium restriction) เป็นอาหารที่ให้โซเดียมได้ประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 22 มิลลิอิควิวาเลนต์ อาหารประเภทนี้นอกจากจะไม่เติมเครื่องชูรส เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือผงชูรสทั้งในขณะปรุงอาหาร ขณะรับประทานอาหาร และต้องจำกัดให้ผู้ป่วยดื่มนมได้ไม่เกิน 1 ส่วนต่อวัน และงดอาหารที่มีโซเดียมต่าง ๆ ได้แก่ ขนมปัง ผักที่มีโซเดียมสูง เนย หรือเนยเทียม

      การลดโซเดียมในอาหารระดับนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว และท้องมานจากภาวะตับแข็ง ทั้งนี้การลดโซเดียม 500 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ควรกำหนดให้นานกว่า 2-3 วัน

  2. แหล่งของโซเดียมในอาหาร

    โซเดียมมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติทั่วไป มีมากที่สุดในเกลือแกง และอาหารที่ปรุงแต่งด้วยเกลือ แหล่งโซเดียมที่สำคัญมี ดังนี้

    1. เกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์ (sodium chloride : NaCl) คือ เกลือที่ใช้ในการปรุงอาหาร เพื่อให้อาหารนั้นมีรสเค็ม โดยเกลือ 1 ช้อนชา หนักประมาณ 5 กรัม มีโซเดียมอยู่ประมาณ 2,000 มิลลิกรัม ผู้ป่วยที่แพทย์สั่งลดหรือจำกัดโซเดียมสามารถใช้เกลือในการปรุงอาหารได้แต่ต้องใช้ในปริมาณที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
    2. เครื่องปรุงรสที่มีรสเค็มอย่างเดียว เช่น น้ำปลา ซอสหอยนางรม ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊ว เป็นต้น เครื่องปรุงรสเหล่านี้มีปริมาณของเกลือเป็นส่วนประกอบมาก ถ้าเป็นน้ำปลาที่อิ่มตัวด้วยเกลือจะมีเกลือประมาณร้อยละ 35 คือน้ำปลา 3 ช้อนชา จะมีเกลืออยู่ประมาณ 1 ช้อนชา ดังนั้นถ้าต้องการใช้น้ำปลาแทนเกลือสามารถคำนวณเทียบส่วนได้ เช่น ถ้าผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้ใช้เกลือได้ 1 ช้อนชา สามารถเปลี่ยนเป็นได้ปลาได้ 3 ช้อนชา เป็นต้น หรืออาจคำนวณหาโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ๆโยเทียบกับฉลากโภชนาการที่มีการบอกปริมาณโซเดียมในหนึ่งหน่วยบริโภค เช่น ข้อมูลจากฉลากโภชนาการของซอสปรุงรสตราแม็กกี้ 1 หน่วยบริโภค ( 1 ช้อนชา ) มีโซเดียม 350 มิลลิกรัม เป็นต้น
    3. เครื่องปรุงรสที่มีหลายรสรวมกัน ซึ่งจะมีรสเค็มรวมอยู่ด้วย เช่น ซอสไก่งวง ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มไก่ เป็นต้น เครื่องปรุงเหล่านี้มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับอาหารลดโซเดียมหรือจำกัดโซเดียม ควรคำนวณหาปริมาณโซเดียมที่ได้จากเครื่องปรุงรสนั้น ๆ  ด้วย
    4. อาหารที่ใช้เกลือในการถนอมอาหาร อาหารกลุ่มนี้มีรสเค็มจัด เช่น ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ปูเค็ม กะปิ ปลาร้า หัวไชโป๊ บ๊วยเค็ม เป็นต้น และอาหารบางชนิดที่มีรสเค็มและมีการปรุงน้ำตาลให้มีรสหวานร่วมด้วย เช่น ปลาหวาน หัวผักกาดหวาน เนื้อหวาน เป็นต้น อาหารในกลุ่มนี้ผู้ป่วยที่จำกัดโซเดียมไม่ควรบริโภค เนื่องจากไม่ทราบว่าในอาหารแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียมอยู่เท่าไร
    5. สารปรุงแต่งอาหารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ แม้ไม่ให้รสเค็ม ประกอบด้วย
      • โมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรส ซึ่งมีโซเดียมอยู่ประมาณร้อยละ 14 โดยน้ำหนัก อาหารที่มีการปรุงรสด้วยผงชูรสจึงเป็นแหล่งของโซเดียมด้วย เช่น ซุปผง ซุปก้อนที่มีส่วนประกอบทั้งเกลือและผงชูรสอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ พบว่ามีส่วนผสมของผงชูรสเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเตรียมอาหารหรือปรุงอาหารให้กับผู้ป่วยที่จำกัดโซเดียมต้องระวังเป็นพิเศษ
      •  โซดาอบขนม (baking soda : sodium bicarbonate : NaHCO3) เป็นสารปรุงแต่งที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ และเป็นส่วนประกอบในผงฟูที่นิยมนำไปใช้ในการทำเค้ก คุกกี้ ซึ่งโซเดียมไบคาร์บอเนตมีโซเดียมอยู่ประมาณร้อยละ 27 ดังนั้นในผู้ป่วยที่จำกัดโซเดียมอาจต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ขนมอบ
      • โซเดียมเบนโซเอต (sodium benzoate) หรือสารกันบูด มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกัน แต่ปริมาณที่ใช้ในอาหารนั้นน้อยมาก เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สามารถใช้สารกันบูดได้เดียง 1 ใน 10,000 ส่วนโดยน้ำหนักเท่านั้น ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่จำกัดโซเดียมมากไม่จำเป็นต้องคำนวณ แต่ในผู้ป่วยที่มีการลดหรือจำกัดโซเดียมอย่างเข้มงวดควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ใช้สารกันบูด
      • โซเดียมซัลไฟต์ (sodium sulphite) ใช้ในการฟอกสีผลไม้อบแห้ง เพื่อป้องกันการเกิดสีคล้ำ ดังนั้นในผลไม้อบแห้งมีโซเดียมซัลไฟต์อยู่ ผู้ป่วยที่ต้องจำกัดโซเดียมอย่างเข้มงวดควรหลีกเลี่ยงผลไม้อบแห้ง
    6. น้ำและเครื่องดื่ม น้ำจากแหล่งธรรมชาติ ได้แก่ น้ำบาดาล น้ำจากแม่น้ำ คลอง ลำธาร มีปริมาณโซเดียมอยู่บ้าง ยกเว้นน้ำทะเล สำหรับในน้ำประปาถ้ามีปริมาณโซเดียมเกินกว่า 40 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ผู้ที่ลดหรือจำกัดโซเดียมในระดับเข้มงวดควรงดการนำน้ำประปามาดื่มหรือนำมาประกอบอาหาร และเลือกใช้น้ำกลั่นหรือน้ำฝนแทน สำหรับน้ำแร่ พบว่า น้ำแร่บางแห่งมีสารประกอบไบคาร์บอเนต และในเครื่องดื่มเกลือแร่ มีโซเดียมประมาณ 20-40 มิลลิอิควิวาเลนต์ (460-920 มิลลิกรัมโซเดียม) ต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตร ดังนั้นผู้ป่วยที่จำกัดโซเดียมจึงไม่ควรดื่ม ส่วนเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้คั้นสดไม่ควรเติมเกลือลงไป (พัทธนันท์, 2555)

    7. อาหารตามธรรมชาติ ในอาหารตามธรรมชาติทั่วไป พบว่า มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบซึ่งปกติอยู่ในอาหารจำพวกสัตว์มากกว่าพืช และไม่มีรสเค็มให้รู้สึกว่ามีโซเดียม

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Salt - Funding Opportunity Announcement (FOA). Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/salt/foa.htm)
Sodium Intake and Hypertension. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6770596/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)