ปอดเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของระบบทางเดินหายใจ หากปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือทำงานน้อยกว่าปกติ จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย หอบ หายใจลำบาก หรือหากปอดหยุดทำงานจะทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที
การตรวจปอด หรือตรวจสมรรถภาพปอด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทราบว่า ปอดของคุณทำงานได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ มีความเสี่ยงเป็นโรคใดหรือเปล่า เพื่อจะได้วางแผนรักษาได้อย่างเหมาะสม
ตรวจปอด วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 290 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตรวจปอด ตรวจสมรรถภาพปอด คืออะไร?
การตรวจปอด ตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test or Lung Function Test) คือ การทดสอบสมรรถภาพปอดด้วยกระบวนการทางการแพทย์ เพื่อช่วยในการประเมินประสิทธิภาพของปอดและระบบทางเดินหายใจ
ผลการตรวจสามารถบ่งชี้ความผิดปกติของปอดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นระยะที่ยังไม่มีการแสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย
โรคปอดยิ่งรักษาได้เร็วเท่าไร ก็มีโอกาสหายสูงมากเท่านั้น
แต่หากเริ่มรักษาในระยะที่แสดงอาการ เช่น เหนื่อย หอบ หายใจติดขัด นั่นหมายถึงปอดอาจเสียหายเกิน 50% ทำให้การรักษาให้ผลลัพธ์ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ใครควรตรวจปอด ตรวจสมรรถภาพปอดบ้าง?
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจปอด ตรวจสมรรถภาพปอด สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
1. ผู้ที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ
กลุ่มนี้คือผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคปอด อาการแสดงอาจเป็นได้ดังนี้
ตรวจปอด วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 290 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหืด หรือวี๊ด
- มีอาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ
- มีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะขณะที่หายใจ ซึ่งวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
2. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจเป็นโรคปอด
กลุ่มนี้คือ ผู้ที่ยังไม่มีอาการของโรคปอด แต่มีพฤติกรรม หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคปอด ดังนี้
- ผู้ที่สูบบุหรี่ มีประวัติเคยสูบบุหรี่
- ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันพิษ สารเคมี หรือฝุ่นละอองสูง เช่น ทำงานในโรงงานที่มีมลพิษ โรงโม่หิน โรงงานผลิตซีเมนต์ เหมืองแร่
- ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์ หรือสารเสพติด
- ผู้ที่เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณทรวงอก เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม เพราะรังสีที่ฉายอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของปอดได้
- ผู้ที่ป่วยด้วยโรคซึ่งส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือเคยดูแลผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค
การตรวจปอด ตรวจสมรรถภาพปอด ต้องตรวจอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร?
การตรวจปอดและการตรวจสมรรถภาพปอดสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการตรวจ แต่รูปแบบการตรวจที่เป็นมาตรฐาน ใช้ในโรงพยาบาล หรือคลินิกทั่วไปคือ การตรวจสไปโรเมตรีย์ (Spirometry)
การตรวจสไปโรเมตรีย์ เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ เชื่อถือได้ดี และใช้เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน เป็นการวัดปริมาตรอากาศเข้า-ออกจากปอด และความเร็วในการหายใจออกแต่ละครั้ง
จุดประสงค์คือ ใช้บ่งชี้ภาวะอุดกั้นของหลอดลม เพื่อประเมินว่า มีความเสี่ยงของโรคทางระบบทางเดินหายใจหรือไม่ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหืด
ก่อนตรวจสไปโรเมตรีย์ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
เพื่อประสิทธิภาพในการตรวจที่แม่นยำที่สุด ก่อนเข้ารับการตรวจสไปโรเมตรีย์ ควรเตรียมตัวดังนี้
- งดออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที ก่อนเข้ารับการตรวจ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- งดใช้ยาขยายหลอดลม (หากจำเป็นควรปรึกษาแพทย์ก่อน)
- ยาพ่นชนิดออกฤทธิ์สั้น เช่น เวนโทลิน (Ventolin) หรือ (เบโรดูอัล) Berodual อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
- ยารับประทานและยาพ่นชนิดออกฤทธิ์ยาว เช่น เซเรไทด์ (Seretide) หรือ ซิมบิคอร์ท (Symbicort) อย่างน้อย 12 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจตรวจ
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- ในวันที่เข้ารับการตรวจควรงดการสวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณทรวงอกและหน้าท้อง
การตรวจสไปโรเมตรีย์มีขั้นตอนอย่างไร?
การตรวจสไปโรเมตรีย์มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บตัว และใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที แต่จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตรวจปอด วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 290 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- นั่งในท่าที่เหมาะสม ตัวตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ ไม่นั่งไขว่ห้าง
- หากใส่ฟันปลอม ต้องถอดฟันปลอมออกก่อน
- เจ้าหน้าที่จะนำเครื่องสไปโรมิเตอร์มาให้ ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องถือเครื่องมือนั้นด้วยมือทั้งสองข้าง จากนั้นอมปลายกรวยกระดาษ ปิดริมฝีปากให้สนิท ไม่ให้ลมรั่วไหลออกในช่องทางอื่น
- เจ้าหน้าที่จะปิดจมูกด้วยตัวหนีบเพื่อไม่ให้ลมรั่วไหล
- หายใจเข้า-ออกทางปากด้วยแรงปกติ 2-3 ครั้ง
- เมื่อเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณ ให้หายใจเข้าให้ลึกที่สุดแล้วกลั้นไว้ จากนั้นเป่าลมหายใจครั้งเดียวออกทางปาก ให้เร็วและแรงเต็มที่ นานอย่างน้อย 3 วินาที เมื่อเป่าลมจนหมดให้หายใจเข้าลึกเต็มที่อีกครั้ง
- เจ้าหน้าที่จะนำที่หนีบจมูกออก และสามารถนำเครื่องมือออกจากปากได้
- นั่งพักสักครู่ เจ้าหน้าที่อาจให้ทดสอบซ้ำ เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด
- เมื่อทดสอบเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่จะส่งผลการตรวจให้แพทย์อ่านค่าเพื่อประเมินประสิทธิภาพของปอดต่อไป
ผลการตรวจสไปโรเมตรีย์บอกอะไรได้บ้าง?
ผลการตรวจสไปโรเมตรีย์ สามารถประเมินประสิทธิภาพของปอดได้ 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
- Normal หมายถึง ปอดมีความสมบูรณ์แข็งแรง ไม่พบความผิดปกติ
- Obstructive หมายถึง มีการอุดกั้นของหลอดลมขณะหายใจเข้า-ออก หากผลการตรวจอยู่ในข้อนี้อาจบ่งชี้ได้ว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีโอกาสป่วยเป็นโรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- Restrictive หมายถึง ความยืดหยุ่นของปอดลดลง ทำให้ปริมาตรอากาศหายใจเข้าออกแต่ละครั้งน้อยกว่าปกติ หากผลการตรวจอยู่ในข้อนี้อาจบ่งชี้ได้ว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีโอกาสป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับเนื้อปอด หรือมีโครงสร้างกล้ามเนื้อ หรือกระดูกที่ช่วยในการหายใจผิดปกติ
- Combine หมายถึง ผู้เข้ารับการตรวจมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่างร่วมกัน
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการตรวจสไปโรเมตรีย์
แม้ว่าการตรวจสไปโรเมตรีย์จะปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อยมาก แต่ก็อาจมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้บ้าง ดังนี้
- อาจมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน มึนงง บางรายอาจหมดสติ เนื่องจากความดันในกะโลหกศีรษะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีอาการไอ หรือเจ็บหน้าอก
- เกิดภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
- อาจเกิดการติดเชื้อ
- อาการหอบ
ข้อห้ามในการตรวจสไปโรเมตรีย์
สำหรับผู้ที่มีอาการต่อไปนี้ ไม่แนะนำให้ตรวจสไปโรเมตรีย์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่ายกายร้ายแรงได้
- ไอเป็นเลือด
- มีภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รับการรักษา
- ระบบหลอดเลือดหรือหัวใจทำงานไม่คงที่ เช่น ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมได้ไม่ดี
- มีภาวะเส้นเลือดแดงโป่งในทรวงอก ช่องท้อง หรือสมอง
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา เช่น ผ่าตัดลอกต้อกระจก
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องอก หรือช่องท้อง
- ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอดระยะติดเชื้อ ไข้หวัด
- ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ (ยกเว้นในบางรายที่จำเป็น)
การตรวจปอด ตรวจสมรรถภาพปอดรูปแบบอื่นๆ
การตรวจสไปโรเมตรีย์เป็นการตรวจปอดที่ใช้บ่งชี้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดในเบื้องต้น แต่หากต้องการตรวจประเมินแบบเฉพาะเจาะจงมากกว่านั้นก็มีการตรวจปอดรูปแบบอื่นๆ เช่นกัน ดังนี้
- การตรวจปริมาตรปอด (Lung Volumes) เป็นการตรวจเพื่อบ่งชี้ขนาดของปอด เพื่อประเมินโรคพังผืดที่ปอด (Lung fibrosis) หรือโรคปอดอักเสบ (Pneumonitis)
- การตรวจความสามารถในการซึมซ่านแก๊ส (Diffusing Capacity) เป็นการตรวจที่บ่งชี้ประสิทธิภาพในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดของปอด
- การตรวจวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น (Bronchial Challenge Test) เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะหลอดลมไวเกิน ในผู้ที่สงสัยว่า เป็นโรคหืด
- การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจ (Maximal Inspiratory/Expiratory Pressure) เป็นการตรวจที่บ่งชี้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจเข้าและออก เพื่อประเมินภาวะอ่อนแรงจากระบบประสาทที่ส่งผลมาถึงกล้ามเนื้อในการหายใจ
- การตรวจปอดและหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Cardiopulmonary Exercise Test) เป็นการทดสอบการทำงานร่วมกันระหว่างหัวใจ ปอด เม็ดเลือดแดงและเซลล์กล้ามเนื้อทุกเซลล์ เพื่อทราบถึงความสามารถของร่างกายในการนำออกซิเจนมาใช้สูงสุด
ค่าใช้จ่ายในการตรวจปอด ตรวจสมรรถภาพปอด
การตรวจปอด ตรวจสมรรถภาพปอด ในรูปแบบสไปโรเมตรีย์ เป็นการตรวจขั้นพื้นฐานที่มีในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วไป รวมถึงคลินิกชั้นนำบางแห่ง
ค่าใช้จ่ายในการตรวจสไปโรเมตรีย์สำหรับโรงพยาบาลรัฐเริ่มต้นที่ 300 บาท ไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาล (อ้างอิงจากสถาบันโรคทรวงอก)
ปอดนับเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ควรใส่ใจดูแลอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ ยิ่งต้องตรวจปอดเป็นประจำ หากเกิดความผิดปกติจะได้วางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม ก็เป็นอีกแนวทางในการป้องกันโรคปอดได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนปอดอักเสบ หรือปอดบวม เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android