กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องทางทวารหนัก

เผยแพร่ครั้งแรก 15 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องทางทวารหนัก

หากคุณกำลังจะต้องเข้ารับการส่องกล้องทางทวารหนัก คุณจะต้องเตรียมตัวด้วยวิธีการต่อไปนี้

หากคุณรู้สึกแย่กับการส่องกล้องทางทวารหนัก คุณอาจจะรู้สึกแย่จากขั้นตอนที่ต้องเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องมากกว่า เพราะเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานกว่าตอนส่องจริงมากนัก ยิ่งไปกว่านั้นคือในระหว่างขั้นตอนการเตรียมลำไส้นี้ คุณจะต้องเผชิญกับการรับประทานยาระบายและอาการท้องเสียที่ตามมา

แต่ขั้นตอนเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากการส่องกล้องทางทวารหนักนั้นสามารถทำให้ตรวจพบมะเร็งลำไส้ในขณะที่ยังรักษาได้ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย นอกจากนั้นยังทำให้พบติ่งเนื้อที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้ในภายหลัง และยังตัดติ่งเนื้อนี้ออกได้อีกด้วย 

คุณจะต้องทำอะไรบ้าง?

การเตรียมลำไส้นั้นมีความสำคัญมากต่อการส่องกล้องทางทวารหนักให้ประสบความสำเร็จ เพราะหากเตรียมลำไส้ได้ไม่ดี อาจทำให้แพทย์เห็นภาพไม่ชัดเจนและมองไม่เห็นติ่งเนื้อหรือแผลต่างๆ ภายในลำไส้ได้ และอาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจนานกว่าปกติ หรืออาจจะต้องนัดมาทำให้ม่อีกครั้งซึ่งหมายความว่าคุณจะต้องทำการเตรียมลำไส้ใหม่อีกรอบ ปัจจุบันวิธีการเตรียมลำไส้นั้นแบ่งเป็นสองส่วนคือการรับประทานอาหารและการรับประทานยาระบาย

การรับประทานอาหาร

ในช่วงก่อนหน้าที่จะเข้ารับการส่องกล้อง : ให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารต่ำ ห้ามรับประทานธัญพืช, ถั่ว ผลไม้หรือผัก
หนึ่งวันก่อนเข้ารับการส่องกล้อง : อย่ารับประทานอาหารแข็งๆ แต่ให้รับประทานอาหารเหลวแทนเช่นซุป กาแฟ หรือชา น้ำผลไม้ เยลลี่ เป็นต้น
วันที่เข้ารับการส่องกล้อง : ให้รับประทานอาหารเหลวเท่านั้น อย่าดื่มหรือรับประทานอาหารภายในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนเวลานัดหมาย

การเตรียมลำไส้

ในช่วงบายหรือเย็นก่อนที่จะเข้ารับการส่องกล้อง ให้รับประทานยาระบายที่จะกระตุ้นให้เกิดการถ่าย 

วิธีที่มักจะใช้กันก็คือการแบ่งยาออกเป็นรอบ รอบแรกให้รับประทานยาครึ่งหนึ่งในคืนก่อนหน้าที่จะส่องกล้อง และอีกครึ่งหนึ่งในช่วง 6 ชั่วโมงก่อนที่จะส่องกล้อง วิธีนี้จะทำให้ทำความสะอาดลำไส้ได้ดีกว่าการรับประทานยาทั้งหมดในวันก่อนหน้าการส่องกล้อง หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์

คำแนะนำในการเตรียมลำไส้ให้ประสบความสำเร็จ

การเตรียมลำไส้สำหรับการส่องกล้องนั้นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายและต้องใช้เวลานาน แต่คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยให้การเตรียมลำไส้ของคุณง่ายขึ้น

  1. ตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณได้รับคู่มือที่ระบุขั้นตอนการเตรียมลำไส้ก่อนวันส่องกล้อง และคุณได้อ่านข้อมูลดังกล่าวอย่างละเอียด หากคุณมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ ในระหว่างนี้คุณอาจจะพิจารณาเตรียมกระดาษทิชชู่เปียกหรือผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังเพื่อช่วยบรรเทาอาการที่อาจเกิดตามมาจากการถ่ายในปริมาณมาก
  2. จัดเตรียมเวลาและสถานที่ที่คุณจะใช้ในการเตรียมลำไส้ให้สะดวกที่สุด คุณควรจัดการงานต่างๆ และอยู่บ้านในวันที่ต้องเริ่มเตรียมลำไส้ หากคุณต้องดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ ควรให้คนอื่นมาช่วยดูแลแทน
  3. เตรียมอาหารเหลวชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากน้ำ ในวันก่อนหน้าการส่องกล้อง คุณจะต้องรับประทานเฉพาะอาหารเหลวๆ เช่นซุป, เยลลี่ กาแฟ หรือชา,หรือเครื่องดื่มต่างๆ แต่อย่ารับประทานเครื่องดื่มที่มีสีแดง น้ำเงิน หรือม่วง คุณควรดื่มน้ำก่อน ระหว่าง และหลังจากการเตรียมลำไส้ รวมถึงก่อนเข้ารับการส่องกล้องเช่นกัน
  4. อาจลองเติมส่วนผสมต่างๆ เพื่อให้ยาระบายนั้นมีรสชาติดีขึ้น เช่นขิงหรือมะนาว เวลาที่ดื่มอาจใช้หลอดและดูดเข้าไปให้น้ำลงไปที่ด้านหลังของลิ้น กลั้นหายใจ และดื่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คุณอาจจะกินลูกอมหลังจากที่คุณกินยาระบายหมดแก้ว
  5. ใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว และอยู่ใกล้ๆ ห้องน้ำ เมื่อคุณเริ่มเตรียมลำไส้ ควรอยู่ใกล้ๆ ห้องน้ำ เนื่องจากคุณจะได้ใช้ห้องน้ำได้สะดวกเวลาที่เริ่มท้องเสีย คุณอาจจะเตรียมสิ่งของต่างๆ ที่คุณอาจใช้ฆ่าเวลาในห้องน้ำได้ไว้ใกล้ๆ เช่นลำโพง, คอมพิวเตอร์ นิตยสาร หรือหนังสือ

8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Colonoscopy. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/colonoscopy/)
Colonoscopy Prep, Risks, Recovery, Results, Diet & Side Effects. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/colonoscopy/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป