โรงพยาบาลของเรา เริ่มใช้ระบบการติดตามความต่อเนื่องทางการรักษาด้วยยา (Drug Reconciliation) มาสักพักแล้วล่ะค่ะ โดยจะมีการขอความร่วมมือจากญาติและผู้ป่วยที่มารักษาตัวแบบผู้ป่วยใน ให้นำยาโรคเรื้อรังและยาอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ประจำมาคืนให้ห้องยา เพื่อที่เราจะได้…
- คัดกรองรายการยาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับต่อเนื่องให้แพทย์รับทราบและพิจารณาสั่งใช้ตามดุลพินิจ
- ตรวจสอบและคัดเลือกยาซึ่งอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ / ไม่ซ้ำซ้อนส่งคืนให้ผู้ป่วยนำกลับไปใช้ต่ออย่างปลอดภัยเมื่อออกจากโรงพยาบาล
- อีกทั้งเป็นการ ติดตามความร่วมมือในการรักษาเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยาสูงสุดด้วยค่ะ
จึงไม่แปลกที่ช่วงบ่ายของแต่ละวัน จะมีภาพเภสัชกรสาวงอม เอ๊ย! สาวงามนั่งหน้ามุ่ยคุ้ยห่อสมบัติ อ่า…ถุงยา (ย้ำ! ถุงยานะคะ กรุณาอย่าตาซนเติม ง.งู แถมไปอีกเด็ดขาด ^_^) ของผู้ป่วยมือเป็นระวิง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อะไรเนี่ย… เก็บยาตัวนั้นมาปนกับยาตัวนี้ แล้วจะกินถูกได้ไงกัน!
อุ้ย! คุณพี่ขา… ถุงนี้มีแหนบถอนขนกะเหรียญห้าบาทปนมาด้วย พี่ว่าคุณป้าเค้าตั้งใจให้ทิปเราไหมคะ?!?
ค่ะ…นอกจากสมบัติประดามีที่ติดมาในถุงยา ไม่ว่าจะเป็น เหรียญเงิน, ตลับยาหม่อง, แหนบถอนขน, แหวน (ไม่แน่ใจว่าเป็น แหวนยายเนียม หรือเปล่านะคะ ^_^), ขนม ฯลฯ ที่ทำให้ดิฉันเก็บมานินทา เอ๊ย! มาเล่าสู่กันฟังแล้ว สิ่งที่พบบ่อย ๆ และนับเป็นปัญหาหนักอกก็มีค่ะ ได้แก่…
- การเก็บยาที่ไม่เหมาะสม ก็แหม…สภาพยาที่หลายต่อหลายท่านนำมา สภาพมันเลวร้ายเหมือนผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเลยนะคะ กินแล้วจะป่วยยิ่งกว่าเดิมไหมเนี่ย…
- การใช้ยาไม่ถูกขนาด / ซ้ำซ้อน อันนี้พบบ่อยค่ะ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรังหลายอย่าง มาพบแพทย์แต่ละครั้งก็ได้ยากลับไปแบบแทบจะหอบกลับบ้านกันเลย แล้วบางท่านมาพบแพทย์บ่อยครั้ง ตามนัดบ้าง ก่อนนัดบ้าง ยาเดิมยังไม่หมด… ได้ยาใหม่ไปอีกแล้ว พอจับไปกอง ๆ รวมกันที่บ้าน โอ้โฮ…แค่เห็นก็อิ่มแล้ว! ยาหลายตัวแถมรับไปหลายครั้งอย่างนี้ก็ทำให้ใช้ไม่ถูกได้ง่ายค่ะ
ทำไมใช้ยาซ้ำซ้อนกันล่ะคุณป้า
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ก็ชื่อยาไม่ใช่ภาษาไทย บางทีเม็ดยาก็ไม่เหมือนเดิม ป้าไม่รู้ว่าเป็นตัวเดียวกันก็เลยกินทั้งคู่น่ะซี
อืมม์… น่าเห็นใจค่ะ ปัญหาเรื่องการอ่านพบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงอายุ อย่าว่าแต่ชื่อยาที่เป็นภาษาอังกฤษเลย ขนาดวิธีใช้ที่เป็นภาษาไทย ผู้ป่วยบางรายของดิฉันยังอ่านกันลำบาก ทั้งปัญหาเรื่องสายตาด้วย ปัญหาเรื่องการศึกษาน้อยด้วย
อีกทั้งยาที่ได้รับในเวลาที่ต่างกัน อาจเป็นยาต่างรุ่น-ต่างบริษัทยากันแล้ว จึงทำให้เข้าใจผิดว่าแพทย์อาจจะปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มยาตัวใหม่ให้ จึงเกิดปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อนกันได้
ทำไมมียาเหลือเยอะ ใช้ยาไม่ครบหรือเปล่าคุณลุง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ก็หมอให้ยาไปหลายเดือน มันก็เลยเหลือมาเยอะน่ะสิ
โว่ว ๆ ๆ ๆ คุณลุงคะ เภสัชไม่เคยจัดโปรโมชั่นรับยา 2 เดือน แถมยาอีก 1 เดือนนะคะ แพทย์นัดเท่าไหร่ก็จ่ายไปเท่านั้น ถ้าคุณลุงใช้ยาถูกต้องและครบถ้วนจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มาผิดนัด ยาจะต้องหมดพอดีหรือเหลืออยู่ก็นิดหน่อยสิคะ
กรณีเช่นนี้พบบ่อยค่ะ และเมื่อซักถามการใช้ยาโดยละเอียด ก็จะพบว่าผู้ป่วยใช้ยาไม่ครบจริง ๆ อาจโดยตั้งใจเพราะเบื่อการใช้ยาเยอะ หรือเข้าใจผิดว่าการใช้ยาเยอะอาจเป็นอันตรายจึงลดหรืองดยาบางตัวเอง หรือโดยไม่ตั้งใจเพราะมียาหลายซอง เลยสับสนว่าต้องใช้ยาจากซองไหนบ้าง
ปัญหาเหล่านี้ป้องกันได้ง่ายค่ะ ด้วยความรักและเอาใจใส่ดูแลจากบุตรหลาน อย่างบุตรสาวของผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งดิฉันประทับใจมาก ซาบซึ้งในความรักและความพยายามในการดูแลการใช้ยาของคุณพ่อของเธอ ผู้ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดมาก..ก…ก…. และใช้บ่อยมื้อ ทั้งก่อนอาหารเช้า หลังอาหารเช้า ก่อนอาหารเที่ยง หลังอาหารเที่ยง ก่อนอาหารเย็น หลังอาหารเย็น และก่อนนอน โอ้โฮ…ครบชุด ^_^ แถมยังมียาอื่น ๆ ที่ใช้ตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด แก้วิงเวียน ฯลฯ
โดยเธอจะจัดยาของคุณพ่อใส่ซองขนาดเล็ก ๆ เตรียมไว้ให้หยิบใช้เป็นมื้อ ๆ …ความคิดบรรเจิดมากค่ะ
ขนาดไม่เคยมาดูงานจ่ายยาคลินิกวัณโรคของดิฉันเลยนะคะเนี่ย
แต่กรณีนี้พบว่ามีปัญหาเพราะว่ายาที่เธอจัดไว้ล่วงหน้าไม่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากครั้งล่าสุดที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนนัด แพทย์ได้มีการปรับเปลี่ยนยาไปแล้ว ซึ่งผู้ป่วยก็จะยังใช้ยาที่บุตรสาวจัดไว้ให้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามที่แพทย์ปรับยา อีกทั้งเนื่องจากผู้ป่วยต้องใช้ยาหลายมื้อ การจัดโดยแบ่งเป็น 7 ซองต่อวันอาจยุ่งยาก เธอเลยจัดแบ่งเป็น 3 ซอง ตามเวลา เช้า-กลางวัน-เย็น แทน แล้วให้ผู้ป่วยจำและใช้ยาแยกมื้อก่อนอาหาร-หลังอาหาร หรือมื้อเย็น-ก่อนนอนเอง ซึ่งก็ยังเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะใช้คลาดเคลื่อนหากจำผิด และการใช้ยาไม่ถูกเวลาจะส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้ค่ะ
จากกรณีตัวอย่างที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ดิฉันชื่นชมในเจตนาและการกระทำของญาติผู้ป่วยรายนี้มากค่ะ และคิดว่าหากมีเครื่องมือที่เหมาะสมมาช่วยในการจัดยา ก็น่าจะทำให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยที่ไม่เป็นภาระกับญาติผู้ดูแลมากนัก และปรับเปลี่ยนได้ง่ายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงยาที่ใช้
ตัวช่วยที่ดิฉันคิดว่าสามารถนำมาใช้ได้ดี ก็คือ… กล่องใส่ยา ค่ะ
.
กล่องใส่ยาหาซื้อได้ง่ายค่ะ ตามมุมขายของกระจุกกระจิกในห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ, หรือแม้แต่ตลาดนัด (บางแห่ง)
รูปแบบก็มีหลากหลายให้เลือกตามเหมาะสมกับความต้องการใช้งานของผู้ป่วยแต่ละราย
ตัวอย่างแรกนี้ มีช่องเก็บยาช่องเดียว เหมาะกับใช้ยาหลายชนิดที่มีการใช้แค่วันละครั้งพร้อมกัน หรือใช้เก็บยาชนิดเดียว อาจจะเป็นยาโรคเรื้อรังชนิดเดียว หรือเป็นยาที่ใช้เวลามีอาการใดอาการหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะพกติดตัวได้ง่าย
หรืออาจใช้หลายกล่อง สำหรับการใช้หลายมื้อ เช่น มีกล่องสีเหลืองใส่ยาที่รับประทานมื้อเช้า และกล่องสีฟ้าใส่ยาที่รับประทานมื้อเย็น เป็นต้น
แบบที่สองจะมีสองช่องในกล่องเดียวกัน เหมาะกับการแบ่งเป็นช่องใส่ยาก่อนอาหารและช่องใส่ยาหลังอาหาร โดยอาจจัดเตรียม 1 กล่อง สำหรับ 1 มื้อ หรือ 1 วัน หรือหลายวัน ตามความสะดวกของผู้ใช้ หรือความเหมาะสมของปริมาณยาหรือความซับซ้อนของวิธีการใช้
แบบที่สามจะมีสี่ช่อง ซึ่งลักษณะตามภาพตัวอย่างจะเหมาะสำหรับการแบ่งยาไว้รับประทานใน 1 วัน โดยแบ่งเป็น 4 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจัดยาไว้ทั้งสัปดาห์ ก็ยังสามารถเลือกกล่องยาแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้…
กล่องยา 7 ช่อง โดยจะแบ่ง 1 ช่อง ต่อ 1 วัน มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไกลหลายวัน
หรือสำหรับผู้ที่ต้องรับประทานยาหลายชนิดในแต่ละวัน และมีขนาดและวิธีการใช้ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้จดจำได้ยาก บุตรหลานก็ยังสามารถดัดแปลงกล่องยา 7 ช่องนี้มาใช้ใส่ยาแบบวันต่อวันได้ค่ะ โดยแทนที่จะแบ่งเป็นช่องวันอาทิตย์, จันทร์, อังคาร, พุธ, พฤหัสบดี, ศุกร์ และเสาร์ ก็เปลี่ยนเป็นช่องก่อนอาหารเช้า, หลังอาหารเช้า, ก่อนอาหารกลางวัน, หลังอาหารกลางวัน, ก่อนอาหารเย็น, หลังอาหารเย็น และก่อนนอน
ซึ่งการจัดยาแบบวันต่อวันนี้ก็มีข้อดีตรงที่สามารถปรับเปลี่ยนขนาดการใช้ได้ทันทีที่แพทย์มีการปรับขนาดการใช้ยา โดยไม่ต้องยุ่งยากรื้อยาของเก่าที่จัดเผื่อไว้(กรณีจัดล่วงหน้าเป็นเดือนหรือเป็นสัปดาห์)มาจัดใหม่ และตรวจสอบได้แบบวันต่อวันว่าผู้ป่วยใช้ยาครบถ้วนหรือไม่ เช่น หากบุตรหลานจัดยาเตรียมไว้ทุกคืน เมื่อถึงเวลาจัดยา ก็จะเห็นยาที่เหลือในช่องที่ผู้ป่วยลืมรับประทาน ซึ่งหากพบซ้ำบ่อย ๆ ก็จะได้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อพิจารณาหาแนวทางป้องกันหรือแก้ไขต่อไปได้
กล่องยา 14 ช่อง จะแบ่งได้ละเอียดขึ้นเป็น 2 ช่องต่อ 1 วัน เอาไว้แยกยาก่อนอาหารและยาหลังอาหาร
หากยังไม่หนำใจ (ฮ่า…) เอาไปเลย! กล่องยา 28 ช่อง ประกอบด้วย 7 กล่องใหญ่สำหรับแต่ละวัน และในหนึ่งกล่องใหญ่ก็จะประกอบด้วย 4 ช่องย่อย สำหรับแยกยาเป็นมื้อเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน แต่แหม… จากภาพตัวอย่าง ถ้าปรับเรื่องสีให้เข้ากับความคุ้นเคยแบบชาวไทยว่าวันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว ฯลฯ จะได้ใจผู้ใช้ชาวไทยกว่านี้นะคะ ^_^
และตัวอย่างสุดท้ายที่นำมาให้ชม ก็คือกล่องยาแบบ 1 เดือน! แหม… มโหฬารพันลึกอะไรขนาดนี้ (ฮ่า…) ซึ่งจะมี 31 กล่องใหญ่ ที่ประกอบด้วย 4 ช่องย่อย เพื่อแบ่งยาเป็น 4 มื้อเช่นกัน การจัดแบบนี้… เวลาจัดคงจะยุ่งยากใหญ่โตเหมือนเป็นงานช้างนะคะ ^_^ แต่ก็ดีในแง่ที่ว่าไม่ต้องจัดกันบ่อย ๆ
แต่ในมุมมองของดิฉันเอง มองว่ามันไม่ค่อยยืดหยุ่นค่ะ เพราะสมมติว่าจัดไปครบทั้งเดือนแล้ว บังเอิญว่าต้นสัปดาห์ที่สองของเดือน ผู้ป่วยเกิดป่วยแบบกะทันหันต้องไปพบแพทย์ก่อนวันนัดปกติ แล้วสามวันต่อมา พอจะออกจากโรงพยาบาล แพทย์ก็สั่งปรับขนาดการใช้ยาใหม่ แหม่…จากงานช้างกลายเป็นงานช้างแม่ลูกอ่อนเลยนะคะ ต้องมานั่งรื้อยาของเก่าที่จัดไว้แล้วมาจัดใหม่อีกรอบ คล้าย ๆ กับกรณี “ลูกดีเด่นขวัญใจเภสัชกร” ที่ฉันกล่าวถึงมาข้างต้น เฮ้อ… แค่คิดก็เหนื่อยแทน
ถ้าถามดิฉันว่ากล่องใส่ยาแบบไหนดีที่สุด ดิฉันก็คงตอบไม่ได้ล่ะค่ะ เพราะการเลือกใช้นั้นคงต้องพิจารณาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
เช่น ยาที่ใช้มีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ขนาดและวิธีการใช้ยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่ ผู้ป่วยหรือญาติที่ดูแลสะดวกที่จะจัดยาเตรียมไว้ล่วงหน้าบ่อยครั้งหรือเปล่า ฯลฯ
หากมีเวลาว่าง… ท่านผู้อ่านที่เป็นบุตรหลานก็อาจจูงมือพาผู้ป่วยไปเดินเลือกซื้อกล่องใส่ยาที่ถูกใจดูนะคะ ดูกันไป… เถียง เอ๊ย! คุยกันไป… นอกจากจะได้ตัวช่วยเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยาแล้ว ยังถือเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวไปในตัว (ฮ่า…)
กลับถึงบ้านแล้วก็ช่วยจัดยาใส่กล่องไว้ให้ผู้ป่วยใช้ล่วงหน้า เท่าที่สังเกตมา ผู้ป่วยสูงอายุมักขี้เกรงใจค่ะ ปากก็บอกว่าไม่อยากให้มาวุ่นวาย แต่ในใจจริงๆ นั้นกลัวจะเป็นภาระหรือรบกวนเวลาของลูก ๆ หลาน ๆ …แต่พอมีคนทำให้ก็แอบรู้สึกดีนะ (ฮ่า…) ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ใช้เวลาไม่นานหรอกค่ะ เพราะคนอายุน้อยกว่ามักยังมีสายตาดี อ่านได้คล่อง ทำความเข้าใจวิธีการใช้บนฉลากยาได้ง่าย และหยิบจัดยาได้ว่องไว (แต่ต้องหยิบจัดอย่างตั้งใจนะคะ ไม่ใช่จัดมั่ว ๆ ไป แหม่…)
แล้วก็ติดตามดูการใช้ว่าผู้ป่วยมีหลงลืมกินยาบ้างไหม เพื่อหาแนวทางจัดการที่เหมาะสม การเสียเวลาเล็กน้อยในส่วนนี้ เทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ คือผู้ป่วยได้รับยาอย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง การรักษาก็ได้ผลดีตามมา นอกจากสุขภาพกายที่จะดีขึ้นแล้ว ยังทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นเพราะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบุตรหลาน แหม… คุ้มเกินคุ้มกับเวลาที่เสียไปใช่ไหมคะ ^_^
ถ้าทำได้อย่างนี้… ต่อให้ไม่ได้รับรางวัลลูกกตัญญูจากหน่วยงานไหนก็อย่าได้แคร์ค่ะ เดี๋ยวดิฉันแจก ‘ชวนป่วย’ เอ๊ย! ‘ชวนป๋วยปี่แปกอ ตราลูกกตัญญู’ ปลอบใจให้สักโหลแทนนะคะ (ฮ่า…)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก… http://www.healthaccessories.com/pill-organizers/all