อัมพาตครึ่งซีก รักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

มีอาการหลอดเลือดสมอง เสี่ยงอัมพาต แต่หากรักษาเร็วและถูกวิธี สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันการพิการถาวร รวมถึงฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาดีดังเดิมได้
เผยแพร่ครั้งแรก 15 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
อัมพาตครึ่งซีก รักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อัมพาต หรือที่เข้าใจกันอย่างทั่วไปว่าอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุต่อไขสันหลัง การกดทับรากประสาท หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งแต่ละสาเหตุจะมีกระบวนการฟื้นฟูตนเองของส่วนที่ได้รับความเสียหาย และวิธีการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดแตกต่างกัน ในที่นี้จะขอให้ความสำคัญกับอัมพาตที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรืออุบัติเหตุที่ทำให้เนื้อสมองเสียหายเป็นหลัก

อัมพาตคืออะไร?

อัมพาต (Paralysis) คือภาวะที่กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอ่อนแรงลง จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย ซึ่งแตกต่างต่างจากอัมพฤกษ์ (Paresis) ที่กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอ่อนแรงลง แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวได้อยู่ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรืออัมพฤกษ์นั้นมีหลายสาเหตุ เช่น ประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนสมองได้รับการกระทบกระเทือน อาจจะมีอาการอ่อนแรงของร่างกายซีกตรงข้ามกับสมองที่ได้รับการกระทบกระเทือน หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีหลอดเลือดสมองแตก อาจมีอาการอ่อนแรงของร่างกายซีกตรงข้ามกับสมอง อาการอ่อนแรงจะเกิดขึ้นกับร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง ทั้งนี้อาการอ่อนแรงครึ่งซีกนี้ นิยมเรียกว่า อัมพฤกษ์ครึ่งซีก (Hemiparesis) ถ้าอาการอ่อนแรงนั้นรุนแรงมากจนผู้ป่วยไม่สามารถขยับร่างกายข้างที่มีปัญหาได้เลย จะเรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia) ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัญหาอ่อนแรงจากพยาธิสภาพของสมองนี้ มีโอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เพราะสมองมีความสารถพิเศษในการฟื้นตัว (Brain plasticity) แต่ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสมจากนักกายภาพบำบัด ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยอัมพาตที่เกิดจากพยาธิสภาพของไขสันหลัง ทั้งในเรื่องของอาการแสดงและการฟื้นตัว

กล่าวคือ อัมพาตที่เกิดจากพยาธิสภาพของไขสันหลังจะทำให้เกิดการอ่อนแรงของร่างกายทั้งสองข้างในระดับที่ต่ำว่าระดับของไขสันหลังที่มีปัญหาลงไป อาการแสดงจึงเป็นการอ่อนแรงครึ่งท่อนล่างของร่างกาย ไม่ใช่ครึ่งซีกซ้ายขวา หากกล้ามเนื้ออ่อนแรงลง แต่ผู้ป่วยยังสามารถขยับร่างกายได้บ้าง จะเรียกว่า อัมพฤกษ์ครึ่งท่อน (Paraparesis) แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย จะเรียกว่า อัมพาตครึ่งท่อน (Paraplegia) เนื่องจากสมองและไขสันหลังจัดเป็นระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อเกิดพยาธิสภาพขึ้นจึงทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ยังมีการอัมพาตที่เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงลงได้เช่นกัน แต่การอ่อนแรงนั้นจะเป็นวงแคบกว่า เช่น ทำให้เกิดการอ่อนแรงตั้งแต่ข้อศอกลงไปถึงปลายมือ หรือทำให้เกิดการอ่อนแรงตั้งแต่ข้อเข่าลงไปถึงปลายเท้า อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่ระบบประสาทส่วนกลางบางราย ก็อาจจะพบว่าแขนมีอาการอ่อนแรงลง หรือขาเพียงข้างเดียวเหมือนมีพยาธิสภาพที่ระบบประสาทส่วนปลายก็ได้

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร ทำให้เกิดอัมพาตได้อย่างไร?

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือโรคที่เกิดจากการทำงานของระบบประสาทผิดปกติ อันเนื่องจากระบบไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีปัญหา ทำให้เนื้อสมองบางส่วนขาดเลือดหรือถูกก้อนเลือดกดทับ

สมองมีหน้าที่สำคัญคือเป็นศูนย์กลางรับความรู้สึกที่มีต่อสิ่งกระตุ้น ก่อนจะควบคุมให้ร่างกายเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนอง เมื่อเนื้อสมองผิดปกติไปเนื่องจากขาดเลือดมาเลี้ยงหรือโดนกดทับ จึงส่งผลให้การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ผู้ป่วยบางรายอาจสูญเสียการรับความรู้สึกที่ผิวหนังไป ไม่สามารถบอกได้เมื่อโดนสัมผัส ไม่รับรู้อุณหภูมิของสิ่งที่จับ นอกจากด้านร่างกายแล้ว ในบางรายอาจจะพบความผิดปกติของการพูดและการเข้าใจภาษา (Global aphasia) ผู้ป่วยบางรายเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด แต่ไม่สามารถพูดโต้ตอบกลับไปได้ บอกชื่อสิ่งของตรงหน้าไม่ได้ (Motor aphasia) ในผู้ป่วยบางรายสามารถพูดสื่อสารสิ่งที่ตัวเองรู้สึกนึกคิดได้ แต่ไม่สามารถเข้าสิ่งที่คนอื่นพูดได้เลย (Sensory aphasia) 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามสาเหตุของการเกิด ได้แก่

  1. เส้นเลือดสมองอุดตัน (Ischemic stroke) มี 2 สาเหตุหลัก คือ
    1. หลอดเลือดเสื่อมสภาพ (Atherosclerosis) หรือมีรูเล็กลงเนื่องจากมีคราบไขมัน หรือหินปูนไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด มักพบในผู้สูงอายุ
    2. ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้น (Embolism) เกิดจากมีลิ่มเลือดที่แข็งตัวมาจากหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่งในร่างกายหลุดลอยมาอุดกลั้นในหลอดเลือดสมอง ทำให้เนื้อสมองหลังจากบริเวณที่ถูกอุดกั้นขาดเลือด และตายในที่สุด อาการมักค่อยเป็นไปช้าๆ
  2. เส้นเลือดในสมองแตก (Hemorrhagic stroke) มักพบในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเปราะและโป่งพอง (Aneurysm) มักมีอาการอย่างฉับพลันกะทันหัน เลือดที่ออกมานอกหลอดเลือดสามารถคั่ง จับตัวกันเป็นก้อน และกดทับเนื้อสมองให้ตายได้

นอกจากนี้ยังมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองอีกแบบที่พบได้บ่อย มักเป็นและหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นอาการเตือนที่สำคัญ เนื่องจากเป็นอาการแสดงของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack) หากเป็นหรือพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการนี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดความพิการถาวรขึ้น

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีมากมาย บางรายอาจสังเกตเห็นอาการได้ยาก ที่มักพบบ่อย ได้แก่

  • ปวดศีรษะมาก เวียนหัว มีอาเจียนพุ่ง
  • อ่อนแรงหรือชาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย หยิบจับของแล้วตก ไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง
  • สังเกตเห็นมุมปากข้างใดข้างหนึ่งตก พูดช้า ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก
  • ตาพร่า มองเห็นภาพเบลอ
  • หากเป็นผู้สูงอายุที่มีหลอดเลือดสมองตีบ อาจจะสังเกตพบว่ามีอาการซึมลงอย่างต่อเนื่อง และเคลื่อนไหว หรือพูดน้อยลง

เมื่อพบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด เพื่อจะได้สามารถช่วยเหลือได้ทัน การรักษาขาดเลือดมาเลี้ยง (Cerebral infraction) ซึ่งมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดสมองอุดตัน (Ischemic Stroke) ในปัจจุบันทำได้ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic therapy) สำหรับผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดตีบหรือถูกอุดกั้นนั้น ถ้าทำได้ภ้ายใน 270 นาที หรือประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่งนับตั้งแต่เริ่มมีอาการมักจะได้ผลดี หากช้ากว่านั้นเนื้อสมองที่ขาดเลือดส่วนใหญ่จะตายและไม่ตอบสนองต่อการรักษา ทางการแพทย์เรียกกระบวนการรักษานี้ว่า ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke fast track) ส่วนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดเส้นเลือดสมองแตกอาจจะต้องอาศัยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน การพบแพทย์อย่างเร็วที่สุดเมื่อมีอาการจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งสองชนิดอย่างมาก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อส่งผลต่อโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งที่หลีกเลี่ยงได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ประกอบไปด้วย เพศชาย สูงอายุ และบุคคลในครอบครัวมีประวัติของโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ ได้แก่

  • เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง
  • เป็นโรคอ้วน
  • มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น

การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดจะช่วยผู้เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไรบ้าง?

การกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกชนิด ตั้งแต่ระยะพักฟื้นในโรงพยาบาลจนกระทั่งกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการรักษาที่น่าสนใจในแต่ละช่วงเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน โดยแบ่งตามระยะของอาการ ได้ 2 ระยะคร่าวๆ ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
กายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 198 บาท ลดสูงสุด 92%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

1. ระยะพักฟื้นในโรงพยาบาล (Acute phase) 

เป็นระยะแรกหลังผู้ป่วยมีอาการ กล้ามเนื้อยังอ่อนแรงอยู่มาก ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่สามารถขยับร่างกายซีกหนึ่งได้เลย นักกายภาพจะให้การรักษาด้วยการออกกำลังกายแบบทำให้ (Passive exercise) เพื่อป้องกันข้อต่อติดแข็ง ป้องกันอาการบวมเนื่องจากการไม่ได้เคลื่อนไหว และอาการแทรกซ้อนอื่นๆ กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวด้วยไฟฟ้า (Electrical stimulation) ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่สามารถทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยหดตัวได้ด้วยตนเอง ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งจากสมอง โดยกระแสไฟฟ้านี้จะทำหน้าที่แทนกระแสประสาท มีด้วยกันหลายชนิด นักกายภาพบำบัดจะเลือกใช้ตามอาการของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น นักกายภาพบำบัดอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง และมีแรงภายนอกช่วย (Active assisted exercise) ตามความสามารถของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายแบบพิเศษ ที่ช่วยสนับสนุนให้การเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างธรรมชาติกลับมา เช่น การออกกำลังกายแบบกระตุ้นการรับรู้ของระบบประสาท (Proprioceptive neuromuscular facilitation) เป็นต้น

2. ระยะที่กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน (Rehabilitation Phase) 

ในระยะนี้ขออนุมานว่าเป็นระยะที่ผู้ป่วยกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านเป็นหลัก หรืออาจจะเดินทางมารับการรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมด้วยก็ได้ วัตถุประสงค์กายภาพบำบัดจะเน้นไปที่การฝึกการเคลื่อนไหว และให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันให้ได้ด้วยตัวเองมากที่สุด หรือสามารถกลับไปทำงานได้ มักประกอบไปด้วยการฝึกนั่ง ยืน เดิน เข้าห้องน้ำ รวมถึงการเลือกอุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ ให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายไป เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกล้ามเนื้อหัวไหล่ มักมีอาการอ่อนแรงเสี่ยงต่อการข้อไหล่หลุด นักกายภาพมักจะนิยมให้ใส่อุปกรณ์พยุงไหล่ (Bobath sling) เป็นต้น

นอกจากการรักษาที่ได้ยกตัวอย่างไปคร่าวๆ ยังมีการรักษาอีกหลายชนิดที่นักกายภาพบำบัดสามารถนำมาใช้ได้ ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ข้อสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือ มีช่วงเวลาที่สมองสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจากนักกาภาพบำบัด (Golden period) ซึ่งก็คือ 6 เดือนแรกนับจากเริ่มมีอาการ หลังจากนั้นการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าลง ดังนั้นทุกนาทีสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ภาวะอัมพฤษ์ อัมพาตครึ่งซีก รวมทั้งอาการอ่อนแรงที่เกิดจากพยาธิสภาพของสมอง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสมองได้รับการกระทบกระเทือนโดยตรง หรือโรคหลอดเลือดสมองชนิดต่างๆ ทำให้เกิดความบกพร่องของร่างกายอย่างมาก มีโอกาสพัฒนาไปเป็นความพิการถาวรได้ การทำความเข้าใจสาเหตุและปัจใจเสี่ยงเพื่อให้รู้เท่าทันและหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสสามารถฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาได้เหมือนปกติ แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทำได้ง่าย และใช้ต้นทุนน้อยกว่า เมื่อมีอาการแล้วการเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดอย่างทันท่วงทีจะสามารถช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวัน หรือพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Chitapa Kaveeta. Acute stroke management. Division of Neurology, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University.
Hillis AE, Boatman D, Hart J, Gordon B. Making sense out of jargon: a neurolinguistic and computational account of jargon aphasia. Neurology 1999; 53:1813.
Kuperberg, G, Caplan, D. Language dysfunction in schizophrenia. In: Neuropsychiatry, 2nd ed, Schiffer, RB, Rao, SM, Fogel, BS (Eds), Lippincott, Williams and Wilkins, Philadelphia 2003. p.444.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป