เราคงเคยได้ยินว่า "ไม่ใช่แค่ว่าคุณพูดอะไร แต่คุณพูดอย่างไร" นั่นจริงแน่ในเรื่องของการสั่งเด็ก พวกเขาเรียนรู้จากคำสั่งของคุณได้มากมายตั้งแต่อายุยังน้อย หากลูกของคุณไม่ทำตามคำสั่งดีพอ ก็ควรลองตรวจสอบวิธีการสั่งของคุณดู ต่อไปนี้เป็นห้าประโยคที่ทำให้คำสั่งของคุณลดประสิทธิภาพและโอกาสที่ลูกของคุณจะทำตาม
1. "มาทำ...กันเถอะ"
การพูดว่า "มาเก็บของเล่นของลูกกันเถอะ" หรือ "มาทำความสะอาดห้องของลูกกันเถอะ" บ่งบอกว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน ลูกของคุณอาจรอดูว่าคุณทุ่มให้กับงานแค่ไหนก่อนจะลงไปร่วมด้วย ผลคืออาจทำให้เกิดความสับสนหากคุณไม่เริ่มลงมือก่อน
หลีกเลี่ยงการพูดว่า "มาทำ...กันเถอะ" หรือประโยคที่คล้ายกันเช่น "ถึงเวลาแล้วที่เราจะเก็บสีเทียนของลูก" นอกจากว่าคุณตั้งใจจะช่วยเขาจริง ๆ หากคุณไม่ได้วางแผนจะช่วยลูก ต้องระบุให้ชัดเจนว่างานนี้เป็นความรับผิดชอบของลูก โดยการกล่าวว่า "ช่วยเก็บของเล่นของลูกหน่อยเถอะ"
2. "ลูกสามารถ..."
การพูดว่า "ลูกสามารถใส่รองเท้าได้หรือเปล่า" ชักจูงให้เกิดคำตอบเสียดสี เช่น "ใช่ ผมใส่รองเท้าเองได้" และคุณก็ไม่ได้ขอให้ลูกทำ คุณแค่ถามลูกว่าลูกสามารถทำได้หรือเปล่า ในหลาย ๆ ขั้นตอนของพัฒนาการ ลูกจะมีความเป็นอิสระ และในบางครั้ง พวกเขาก็จะช่างเสียดสีประชดประชัน ปฏิกิริยาตอบสนองที่ขาดความเคารพของพวกเขาอาจนำไปสู่การโต้เถียงและการขัดขืนได้หากคุณไม่ระวัง
หลีกเลี่ยงประโยค "ลูกจะช่วยทำ...ได้มั้ย" หรือ "ลูกสามารถจะ..." ซึ่งมีนัยว่าคุณกำลังร้องขออย่างสุภาพมากกว่าการให้คำสั่งอย่างชัดเจน
3. "...โอเค ? "
การเติมคำว่าโอเคท้ายประโยคคำสั่งมีนัยว่าคุณกำลังถามคำถาม การพูดว่า "มาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปกันเถอะ โอเคมั้ย ? " อาจทำให้ลูกอยากตอบว่า "ไม่ฮะแม่ ขอบคุณ ผมยังอยากมีเวลาเล่นต่อมากกว่า"
ถึงแม้ว่ามันอาจดูเป็นวิธีที่สุภาพกว่าการออกคำสั่ง แต่การเพิ่มคำนี้ทำให้คำสั่งของคุณฟังดูอ่อนลงไปบ้าง สื่อสารกันตรง ๆ และทำให้ลูกรู้ว่าคุณกำลังบอกให้เขาทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่ขอให้ทำ
4. "แม่/พ่ออยากให้ลูก..."
การเริ่มต้นประโยคคำสั่งด้วยคำว่า "แม่/พ่ออยากให้ลูก..." ไม่เป็นประโยชน์ด้วยเหตุผลบางประการ เด็กไม่ได้ต้องการคำพูดหวานหูมากมาย พวกเขาแค่ต้องการจะรู้ว่าพวกเขาควรต้องทำอะไร ลูกจะสรุปว่าเหตุที่คุณบอกให้ลูกเก็บจานใส่อ่างเป็นเพราะคุณอยากให้เขาทำ
การที่ลูกคิดว่าต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะว่าพ่อแม่ต้องการนั้นไม่ใช่เรื่องดี เขาอาจคิดว่าถ้าหากพ่อแม่ไม่อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ แต่เป็นสิ่งสำคัญที่เขาควรรู้ว่า "ฉันควรเก็บจานไปไว้ในอ่างเพราะเป็นความรับผิดชอบ" ไม่ใช่ว่า "แม่อยากให้ทำ"
5. "ลูกควรจะ.."
การพูดในทำนองที่ว่า "ลูกควรจะทำความสะอาดห้องเดี๋ยวนี้เลย ! " ฟังดูเป็นการข่มขู่มากกว่าการสั่ง ซึ่งแม้ว่าการเตือนอาจเป็นประโยชน์ แต่การขู่อาจได้รับการตอบโต้กลับ
ใช้การเตือน "ถ้า...แล้ว" ที่ชัดเจนว่าผลที่ตามมาหากไม่ทำตามคำสั่งจะเป็นอย่างไร เช่น "ถ้าลูกไม่เก็บจักรยานเข้าโรงรถ พรุ่งนี้ลูกจะไม่ได้ขี่มัน" หรือใช้ "กฎการฝึกวินัยของคุณย่า" เพื่อกระตุ้นเตือนลูกของคุณว่าจะได้รับรางวัลอะไรหากทำตามคำสั่ง โดยการบอกว่า "หลังจากทำความสะอาดห้องเสร็จ ลูกสามารถออกไปเล่นข้างนอกได้"