ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการปวดข้อศอก มักเกิดจากการใช้งานมากเกินไป ซึ่งมักจะเกิดกับนักกีฬา เช่น นักกอล์ฟ นักเบสบอล นักเทนนิส และนักมวย ที่จะต้องใช้งานข้อศอกอยู่เสมอ แต่โดยทั่วไปแล้วความผิดปกติของข้อศอก อาจเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อใดก็ได้ เช่น กล้ามเนื้อแขน เอ็นข้อศอก เอ็นยึดกระดูก กระดูกในแขน หรือถุงหุ้มข้อต่อ
ความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อศอก แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่
- โรคเอ็นข้อศอกด้านในอักเสบ (Medial Epicondylitis) หรือโรคข้อศอกเจ็บในนักกอล์ฟ (Golfer’s Elbow) มีสาเหตุจากเส้นเอ็นด้านในของข้อศอกเกิดความผิดปกติจากการเหวี่ยงแขนในท่าเดิมซ้ำๆ และอาจเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของมือซ้ำๆ ได้เช่นกัน เช่น การแกว่งค้อนทุกวันในที่ทำงาน ความผิดปกตินี้ทำให้เกิดอาการปวดตามแนวด้านในของข้อศอก
- โรคเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ (Lateral Epicondylitis) หรือโรคข้อศอกเจ็บในนักเทนนิส (Tennis Elbow) ความผิดปกตินี้มีผลต่อเอ็นที่ด้านนอกของข้อศอก ทำให้รู้สึกปวดและแสบร้อน บางครั้งอาจทำให้จับของไม่ถนัด มักเกิดในนักเทนนิส พ่อครัวและแม่ครัว จิตรกร ช่างไม้ ช่างซ่อมรถ และช่างประปา
- ภาวะถุงข้อต่อบริเวณข้อศอกอักเสบ (Olecranon Bursitis) หรือโรคข้อศอกเจ็บในนักเรียน (Student Elbow) เกิดจากถุงข้อต่อที่มีของเหลวหล่อลื่นอยู่ภายในข้อศอกเกิดการอักเสบจากการถูกกระแทกที่ข้อศอก การโน้มตัวปล่อยแรงลงบนข้อศอกเป็นเวลานาน การติดเชื้อ หรือโรคข้ออักเสบ ทำให้รู้สึกปวด และขยับข้อศอกได้ลำบาก
- โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ภาวะที่มีความผิดปกติบนกระดูกอ่อนซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่งที่พบในข้อต่อ เกิดจากการบาดเจ็บที่ข้อศอก การสึกหรอที่ข้อต่อ มักทำให้เกิดอาการเจ็บปวดข้อศอก งอข้อศอกลำบาก ข้อศอกบวม
- ข้อศอกเคลื่อน หรือข้อศอกแตกหัก เกิดจากการบาดเจ็บที่บริเวณข้อศอก เช่น หกล้ม หรือยืดข้อศอกมากเกินไปจนทำให้ข้อต่อเคลื่อนหรือแตกหัก อาการที่เกิดขึ้นคือข้อศอกบวม บริเวณกระดูกที่หักมีการเปลี่ยนสี ไม่สามารถขยับข้อศอกได้ หรือเจ็บปวดข้อศอกรุนแรง
- เอ็นข้อศอกเคล็ดขัดยอกหรือฉีกขาด มักเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือความเครียดในการใช้งานข้อศอกท่าเดิมซ้ำๆ ซึ่งอาจทำให้เอ็นถูกยืดออกเกินไป เอ็นฉีกขาดบางส่วน หรือฉีกขาดทั้งหมด ทำให้เกิดความเจ็บปวดข้อศอก ข้อต่อโคลงไปมา และพบว่าข้อศอกไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
- ภาวะ Osteochondritis dissecans (OCD) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Panner’s Disease เกิดจากกระดูกอ่อนและกระดูกชิ้นเล็กๆ ในข้อต่อข้อศอกหลุดออกมา มักเกิดจากการบาดเจ็บที่ข้อศอกและมักเกิดในผู้ชาย ความเจ็บปวดและอาการกดเจ็บที่ด้านนอกของข้อศอกจะทำให้เกิดปัญหาตอนจะยืดแขน
การวินิจฉัยอาการปวดข้อศอก
แพทย์สามารถวินิจฉัยความผิดปกติของข้อศอกได้ ด้วยการตรวจดังนี้
- การซักประวัติทางการแพทย์
- การตรวจร่างกาย
- การถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์
- การสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- การสแกน MRI
- การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG)
- การเจาะตรวจชิ้นเนื้อของเหลวภายในถุงข้อต่อ
การรักษาอาการข้อศอกเจ็บ
การรักษาอาการข้อศอกเจ็บจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความผิดปกติและระดับอาการ ซึ่งแพทย์มักจะเลือกใช้แนวทางรักษา ดังนี้
- การประคบเย็น
- พักการใช้งานข้อศอกข้างที่มีปัญหา
- รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- การทำกายภาพบำบัด
- การใช้อุปกรณ์พยุง
- การตรึงข้อต่อให้อยู่กับที่
- การฉีดยาสเตียรอยด์
- แถบรัดข้อศอก
การป้องกันอาการข้อศอกเจ็บ
อาการข้อศอกเจ็บส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากการใช้งานมากเกินไปหรือจากการรับการบาดเจ็บ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดย
- เรียนรู้เทคนิคการเล่นกีฬาที่เหมาะสม
- เลือกขนาดอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะมือ และเหมาะสมกับตนเอง
- วอร์มอัพก่อนเล่นกีฬา
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังเล่นกีฬา
- ใช้แถบรัดข้อศอก
- หยุดพักหลังจากใช้งานข้อต่อในท่าเดิมซ้ำ
- ออกกำลังกายท่าที่สามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อข้อศอก
ที่มาของข้อมูล
Danielle Moores, What Causes Elbow Pain? (https://www.healthline.com/symptom/elbow-pain), July 11, 2017.