ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ เพราะหากไม่ระมัดระวังให้ดี ก็อาจเกิดอันตรายถึงขั้นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งกับตัวผู้ขับขี่เองและผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ ด้วย นอกจากความไม่ประมาทแล้ว เรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ขับขี่ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ในการทำใบอนุญาตขับขี่ จึงต้องมีการตรวจสุขภาพและขอใบรับรองแพทย์ก่อน โดยก่อนหน้านี้มีข้อกำหนดไว้ว่าห้ามผู้ที่ป่วยเป็นโรคเท้าช้าง วัณโรค โรคเรื้อน โรคพิษสุราเรื้อรัง และติดยาเสพติดให้โทษ ทำใบอนุญาตขับขี่ รวมถึงผู้มีความผิดปกติของตา เช่น พิการทางสายตา มีต้อหิน ต้อกระจก เป็นตาบอดสี ก็ถูกห้ามไม่ให้ขับขี่รถด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้มีกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2561 นี้ โดยกำหนด 5 โรคเพิ่มเติม ที่ห้ามขับขี่ยานพาหนะ และหากพบภายหลังว่าป่วยเป็นโรคเหล่านี้ ก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ได้ โรคดังกล่าว ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
1. โรคเบาหวานที่มีอาการรุนแรง
ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องรับอินซูลินเป็นประจำ และควบคุมอาการไม่ได้ อาจเกิดน้ำตาลในเลือดลดลงเฉียบพลัน จนวูบหมดสติขณะขับขี่ และเกิดอุบัติเหตุได้
2. โรคลมชัก
ผู้ป่วยโรคลมชักเมื่ออาการกำเริบ อาจเกิดการชักเกร็ง ชักกระตุก หรือนิ่ง เหม่อลอย ทำให้ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ได้ ข่าวที่ผู้ป่วยโรคลมชักขับรถชนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตก็มีมาแล้ว ดังนั้น โรคลมชักจึงเป็นโรคต้องห้ามโรคหนึ่งสำหรับผู้ขับขี่
3. โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงกะทันหัน โดยเฉพาะเมื่อต้องพบเจอกับความเครียดบนท้องถนน หากความดันขึ้นสูงมากๆ ก็อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลม หรือที่ร้ายกว่านั้นคือเกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ
4. ผู้ที่เคยรับการผ่าตัดสมอง
การผ่าตัดสมองอาจส่งผลต่อการมองเห็น การทรงตัว การกะระยะ และการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการขับรถทั้งสิ้น เป็นสาเหตุให้ต้องเพิ่มเข้ามาเป็นข้อห้ามอีกข้อหนึ่งนั่นเอง
5. โรคหัวใจ
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจเกิดหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดัน และความตื่นเต้นในระหว่างขับรถ ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อทั้งตนเองและผู้อื่น
นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่ในปัจจุบันนี้ จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์แบบมาตรฐานใหม่ ซึ่งใบรับรองแพทย์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน
- ส่วนที่ 1 เป็นการกรอกข้อมูลทั่วไป โรคประจำตัว ประวัติการรักษา ประวัติอุบัติเหตุและการผ่าตัด ซึ่งต้องกรอกให้ครบตามความเป็นจริง
- ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่แพทย์ต้องกรอกเพื่อยืนยันว่า ผู้เข้ารับการตรวจไม่มีความพิการ หรือทุพพลภาพทางร่างกาย ไม่มีอาการจิตฟั่นเฟือน ไม่มีอาการพิษสุราเรื้อรัง ไม่มีการติดยาเสพติดให้โทษ และไม่มีอาการของโรคเรื้อน วัณโรค และโรคเท้าช้าง จากนั้นจึงให้แพทย์ผู้ตรวจเซ็นกำกับ
คาดว่าใบรับรองแพทย์แบบใหม่ น่าจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยเป็นโรคต้องห้ามสำหรับการขับขี่ได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อการตรวจโรคเพื่อขอทำใบอนุญาตขับขี่เริ่มเข้มงวดขึ้น ในอนาคตอาจต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจภาวะเบาหวาน หรือวัดความดันโลหิต เพิ่มเติมจากการตรวจปกติก็ได้