“ยาชุด” สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

เผยแพร่ครั้งแรก 17 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
“ยาชุด” สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

แม้ว่าจะปากจะบอกอยู่ปาว ๆ ว่าอย่าซื้อยาชุดมาใช้นะจ๊ะ แต่เภสัชกรหลาย ๆ คนในหลาย ๆ สถานบริการสุขภาพกลับจัดยาชุดกันมือเป็นระวิง! หรือถ้า “ไฮเทคโนโลยี” หน่อยก็ใช้เครื่องจัดยาอัตโนมัติมาจัดยาชุดอย่างเป็นล่ำเป็นสัน!!

ว่าแต่เขา... อิเหนาเป็นเองใช่มั้ย?!? (ฮ่า)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อันที่จริงแล้ว “ยาชุด” หรือ “ยาหลายชนิดที่จัดรวมอยู่ในซองเดียว” ซึ่งมีการรณรงค์เรื่อยมาว่าไม่ควรใช้ จะหมายถึง “ยาชุดแห้ง” ค่ะ ก็คือยาชุดที่มีการจัดไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้กับ “ใครก็ได้” ไม่ใช่การจัดเตรียมโดยพิจารณาจากความต้องการและข้อจำกัดของ “ผู้ป่วยเฉพาะราย” อีกทั้งผู้จ่ายหรือผู้ขาย “ยาชุดแห้ง” มักจะไม่ได้ยึดความถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ผู้ใช้เสี่ยงที่จะได้รับอันตรายมากกว่าประโยชน์

แต่ก็ต้องยอมรับกันตรง ๆ นะคะว่า “ยาชุด” มันก็ใช้ได้สะดวกกว่ายาที่จัดแยกซองใครซองมันจริง ๆ แต่เพื่อความปลอดภัย หากจะนำหลักการนี้มาใช้ ก็ต้องขจัดความเสี่ยงที่เป็นข้อเสียของ “ยาชุดแห้ง” ออกไปก่อน โดยต้องทำให้ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ นั่นคือ ถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกเวลา ถูกวิธีใช้ และไม่เสื่อมคุณภาพ จึงเป็นที่มาของการจัด “ยาชุดสด” สำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายนั่นเองค่ะ

นอกจากจะให้ “ยาชุดสด” ช่วยเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยแล้ว ยังหวังผลในการลดความผิดพลาดหรือความคลาดเคลื่อนทางยา รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการปฏิบัติงาน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลก็จะนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยนั่นเองค่ะ

 ตัวอย่างของการจัด “ยาชุดสด” ที่พบเห็นได้ในบ้านเรา

  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการใช้ยาได้ง่าย เช่น ผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับยารักษาโรคเรื้อรังหลายชนิด
  • ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาหลายชนิดรักษาโรคติดเชื้อต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ซึ่งต้องการความร่วมมือสูงในการใช้ยา เพื่อให้การรักษาได้ผลดีและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน เช่น ผู้ป่วยวัณโรค
  • ผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล (บางแห่ง โดยเฉพาะที่มีเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ)

แต่ในกรณีของการรักษาวัณโรคจะเน้นที่การใช้ระบบพี่เลี้ยงควบคุมกำกับการรับประทานยา หรือ Directly Observe Treatment Short course (DOTS) เป็นหลักค่ะ ส่วนการจัดยาชุดสดเพื่อให้ใช้และตรวจสอบการใช้ได้สะดวกจะถือเป็นส่วนเสริมที่อาจมีเพิ่มเติม โดยเฉพาะถ้ามีการใช้ยาเม็ดปกติ ซึ่งจะรับประทานได้ยากกว่ายาสูตรผสม (Fixed dose combination)

แม้จะเป็นการจัดตามหลักวิชาการ และจ่ายโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ข้อเสียที่ยังพบได้ของ “ยาชุดสด” ใหลาย ๆ ที่ก็คือ ผู้ใช้ตรวจสอบได้ยากว่ายาที่จัดเข้าชุดมานั้น มีมาตรฐานตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ เพราะไม่มีรายละเอียดอะไรระบุไว้ในซองยาเลย ดูภายนอกแล้วก็ไม่ต่างจาก “ยาชุดแห้ง” สักเท่าไหร่ แถมการจัดยาแบบอัตโนมือ ก็เสี่ยงที่จะเพิ่มความคลาดเคลื่อนทางยาให้สูงขึ้นในขั้นตอนการจัดเตรียมอีกด้วย (ว่ากันง่าย ๆ ก็คือเสี่ยงที่จะจัดยาผิดนั่นแหละจ้า...)

แต่สำหรับสถานพยาบาลที่มีเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ หรือ Automated dispensing machine ก็คงไม่เป็นปัญหา ทั้งในเรื่องการจัดยาและการระบุข้อมูลบนซอง เรียกได้ว่าสะดวกและง่าย เพราะใช้แค่ปลายนิ้วกดคำสั่ง ก็นั่งสวย ๆ รอ “ยาชุดสด” ที่ต้องการได้ (ฮ่า)

ติดที่ราคาของเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติยังสูงมากอยู่ จึงยังไม่ได้มีใช้โดยทั่วไป แต่อนาคตก็ไม่แน่ค่ะ อาจได้เห็นว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศมีการสั่งเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติมาใช้กันหมดก็เป็นได้ และแม้ว่าร้านยาในบางประเทศ จะมีเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติไว้ใช้งานบ้างแล้ว แต่ในบ้านเรา โดยเฉพาะร้านยาเล็ก ๆ และห่างไกลแสงสีอย่างร้านของดิฉัน คงต้องรอให้เค้าขายเลหลัง ลดราคาซัก 99.99% ค่อยอาจเอื้อมไปสอยมาไว้ใช้สักเครื่องบ้าง ตอนนี้ก็นั่งมองตาละห้อยไปก่อน (ฮ่า)

แต่ที่ดูแล้วน่าสนใจไม่หยอก แถมต้นทุนต่ำกว่ามาก ก็เป็นการจัดยาชุดระบบอัตโนมือนี่ล่ะค่ะ อย่างในภาพตัวอย่างก็ดูสวยงามน่าใช้ แถมมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่ควรมี ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคต หากโครงการ “ระบบเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยาคุณภาพ” ได้รับความนิยมแพร่หลาย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ควบคุมอาการได้ดี เลือกที่จะไปร้านยาใกล้บ้านที่ลงทะเบียนไว้ เพื่อรับยาตามใบสั่งแพทย์ แทนการไปนั่งรอคิวนาน ๆ ในโรงพยาบาล ก็อาจมีการนำระบบการจัดยาชุดสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังมาใช้ในร้านยาบ้างก็ได้นะคะ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Learn About Your Medicines. U.S. Food and Drug Administration (FDA). (https://www.fda.gov/patients/learn-about-your-medicines)
Creating an Accurate Medication List in the Outpatient Setting Through a Patient-Centered Approach - Advances in Patient Safety: New Directions and Alternative Approaches (Vol. 3: Performance and Tools). National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK43679/)
Medication errors: Cut your risk with these tips. Mayo Clinic. (https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/consumer-health/in-depth/medication-errors/art-20048035)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง
สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง

ภาวะนี้คืออะไร อันตรายหรือไม่ และเมื่อไหร่ที่ต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

อ่านเพิ่ม
ประวัติของ การแพทย์แผนโบราณ ในประเทศไทย ในอดีต จนถึงปัจจุบัน
ประวัติของ การแพทย์แผนโบราณ ในประเทศไทย ในอดีต จนถึงปัจจุบัน

ประวัติ และการเปลี่ยนแปลงของแพทย์แผนโบราณในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่ม