มาตรการต่างๆ ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้
ดังนั้นควรทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีคลายความกังวล เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นในระหว่างการระบาดของโรค COVID-19
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
สาเหตุที่ทำให้เครียดในช่วงการระบาดของ COVID-19
การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลและความเครียด สาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
1. มีผลกระทบกับกิจวัตรประจำวัน
หลายคนมีกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำร่วมกับคนอื่นๆ อยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกายที่ฟิสเนส หรือสวนสาธารณะ การพบปะพูดคุยกันในร้านกาแฟ การทำงานในบริษัท การออกไปพบลูกค้า
แต่เมื่อรัฐบาลกำหนดให้หลีกเลี่ยงการรวมตัว การเดินทางที่แออัด ด้วยนโยบายการเหลื่อมเวลาเข้า-ออกงาน การทำงานจากที่บ้าน (Work from home) จึงทำให้หลายคนไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ ส่งผลให้รู้สึกสูญเสียอิสรภาพและขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
2. การเสพข่าวร้ายมากเกินไป
ในช่วงที่หลายคนอยู่ในบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงที่ชุมชน ทำให้ใช้เวลาไปกับโทรทัศน์และสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น จึงทำให้ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง
นั่นจึงเห็นภาพในเหตุการณ์เดียวกันหลายๆ ครั้ง เช่น สถิติผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศทั้งในคนไทย แรงงานข้ามชาติ การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศสถิติผู้ติดเชื้อจากทั่วโลก ไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อรายต่างๆ รวมทั้งการเสพข่าวลวงที่สร้างขึ้นมาเพื่อปั่นกระแส ก็ทำให้วิตกกังวลมากขึ้น
3. การเหยียดชนชาติ
เนื่องจากโรค COVID-19 เป็นโรคที่เกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน ทำให้หลายคนกลัวที่จะเข้าหา หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนจีนจนเกิดเป็นความวิตกกังวลในบางท้องที่
ตรวจโควิด-19 (COVID-19) วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 450 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งพบการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติจำนวนกว่าพันราย ส่งผลให้สังคมไทยเริ่มกลัวที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ
4. ไม่ไว้ใจการแพทย์
โรค COVID-19 ไม่ใช่โรคระบาดของโลกที่เกิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยอดีตเองก็เคยเกิดโรคระบาดรุนแรง เช่น ไข้หวัดสเปน (Spanish flu) ไข้ทรพิษ (Smallpox) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) โรคซาส์ (SARS) มาแล้ว
ทุกครั้งที่เกิดโรคระบาดขึ้น หลายคนเกิดความไม่ไว้วางใจการแพทย์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดความวิตกกังวลจนนำไปสู่การป้องกันโรคแบบผิดๆ
ดังในกรณีของโรค COVID-19 ที่มีให้เห็นหลายตัวอย่าง เช่น การดื่มเหล้าวอดก้าเพื่อฆ่าเชื้อ การใช้ผ้าอนามัยปิดจมูกแทนหน้ากากทางการแพทย์ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลเสียมากกว่าเดิม
วิธีจัดการกับความเครียดในระหว่าง COVID-19 ระบาด
หากมีความวิตกกังวลมากขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 อาจลองทำตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา ดังต่อไปนี้
1. ให้โอกาสตัวเองดูข่าวสารในเชิงบวกบ้าง
การดูแต่ข่าวสารในเชิงลบอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมงอาจเพิ่มความวิตกกังวล ดังนั้นควรแบ่งเวลาให้ตัวเองไปดูสื่อประเภทอื่นบ้าง เช่น ภาพยนตร์ สารคดี รายการตลก ภาพยนตร์แนวคอมเมดี้ รายการเกมส์โชว์ที่ตนเองชื่นชอบ
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
แต่หากต้องการรู้ความเคลื่อนไหวของโรค COVID-19 บ้าง ให้เลือกกลับมาดูย้อนหลัง โดยไม่ใช้เวลานานเกินไป หลังจากได้รับข้อมูลที่ต้องการแล้ว ก็ปิดข่าวเหล่านั้น
2. ทำทุกอย่างให้เหมือนกิจวัตรปกติ
โดยการประยุกต์มาทำที่บ้าน เช่น ตื่นนอนและเข้านอนในเวลาเดิม รับประทานอาหารเวลาเดิม หากคุณเป็นคนชอบเข้าสังคมให้หาทางติดต่อกับเพื่อนสนิทอยู่เสมอ อาจวีดีโอคอลเพื่อจะได้คุยกันแบบเห็นหน้า และได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น
วิธีนี้จะทำให้ชีวิตประจำวันไม่เปลี่ยนไปมาก สามารถปรับตัวได้มากขึ้น และยังมีเวลามากขึ้นจากการลดเวลาเดินทางอีกด้วย
3. ดูข้อมูลจากหน่วยงานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือ
ติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น องค์การอนามัยโลก (World health organization: WHO) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for disease control and prevention) ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข
HD ได้จัดทำแหล่งรวมข้อมูลโรค COVID-19 ไว้เช่นกัน สามารถกดดูได้ที่นี่
การรู้วิธีป้องกันตัวเองจากโรค COVID-19 จะทำให้รู้สึกว่า คุณสามารถควบคุมสถานการณ์ที่อาจเกิดกับคุณ หรือคนในครอบครัวได้ ซึ่งจะลดความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี
4. อย่าตั้งสมมติฐานด้วยตัวเองมากเกินไป
แม้จะเป็นเรื่องที่ดีในการวางแผนป้องกัน แต่หลายคนมักคิดถึงกรณีร้ายแรงที่สุดเสมอ ดังนั้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เพราะจะทำให้คุณสามารถรับรู้ความเสี่ยงได้ดี เพียงแต่คุณอาจไม่ใช่ผู้ประเมินความเสี่ยงที่ดีเสมอไป
5. ทำกิจกรรมที่วางแผนไว้แต่ยังไม่เคยได้ทำ
หลายคนสร้างเงื่อนไขในการไม่ทำตามเป้าหมายของตนเอง เช่น ไม่จัดระเบียบบ้านเพราะไม่มีเวลา ไม่ได้อ่านหนังสือเพราะเหนื่อย
ดังนั้นในช่วงที่ต้องอยู่บ้านต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์จึงเป็นโอกาสที่ดีในการทำตามเป้าหมาย เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรี่ส์ เรียนภาษา สิ่งเหล่านี้จะทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้น
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
นี่คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่หลายคนละเลย มีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายดีขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้
ดังนั้นหากคุณไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกกำลังกาย ควรถือโอกาสในช่วงนี้เริ่มออกกำลังกาย
7. หากมีเด็กเล็กในบ้านให้บอกกล่าวกันด้วยเหตุผล
หลายครอบครัวที่มีเด็กเล็กซึ่งมักไม่เข้าใจสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และสงสัยว่า ทำไมจึงต้องหยุดเรียน ทำไมจึงต้องเรียนออนไลน์ ทำไมจึงไม่สามารถออกไปเล่นกับเพื่อนได้ ฯลฯ
ดังนั้นการสื่อสารจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความกังวลของเด็กลงได้ ควรอธิบายถึงสถานการณ์ และเหตุผลที่ต้องอยู่บ้านให้เด็กได้เข้าใจ เช่น การติดเชื้อ COVID-19 อาจทำให้ทั้งตัวเด็ก ครอบครัว และเพื่อนๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย
เด็กบางคนยังอาจเกิดความเครียดที่ไม่ได้ใช้ชีวิตตามปกติ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์แต่ละวันเร็วเกินไป พ่อแม่ควรเฝ้าดูและสังเกตว่า ลูกมีความผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่
8. รักษาสุขภาพจิตของตนเอง
นักจิตวิทยามักให้คำแนะนำว่า สุขภาพจิตก็เหมือนลำไส้ของตนเอง หากป้อนอาหารที่ดีให้กับลำไส้ ตัวคุณก็จะสุขภาพดี แต่หากป้อนอาหารที่ไม่ดี คุณก็อาจเจ็บป่วยได้เช่นกัน
ดังนั้นจึงควรบริหารจัดการอารมณ์ด้วยวิธีที่ทำให้ตนเองสบายใจ เช่น นั่งสมาธิ ใช้เวลากับคนในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ทำงานความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ทำขนม ทำสวนในบ้าน ปลูกต้นไม้ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย
หากมีความเครียดมาก หาทางออกไม่ได้ เริ่มมีอาการข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร ซึม เก็บตัว แนะนำให้ลองปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไข หากมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วยอาจเข้ารับการตรวจการนอน (Sleep Test) เพื่อหาทางแก้ไขเรื่องการนอน
นอกจากนี้ยังอาจโทรสายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต 1323 หรือใช้บริการปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์จากที่บ้านก็เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจเช่นกัน
ผู้ป่วยจิตเวชควรทำอย่างไรในช่วงกักตัว?
หากผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ที่มีอาการทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล กำลังอยู่ในช่วงกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการ หรือทำงานจากที่บ้าน อาจทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลมากกว่าคนปกติ
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ควรทำตามคำแนะนำของกรมสุขภาพจิต ดังนี้
- มีวินัยในการรับประทานยา อาจปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อรับยามารับประทานในระยะยาวเพื่อไม่ให้มีการขาดยา หากกำลังกักตัวอยู่แล้วยาหมด อาจให้ญาติไปคุยกับจิตแพทย์เพื่อรับยาแทน
- หากมีอาการหนักควรไปพบแพทย์ ในกรณีที่อาการทางจิตรุนแรงขึ้นในระหว่างกักตัว ควรให้ญาติโทร.แจ้งสถานพยาบาลที่รักษาอยู่ประจำ เพื่อประเมินความเสี่ยง และเตรียมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมหากต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
- โทรปรึกษาสายด่วน หากไม่สบายใจจะแจ้งกับญาติสนิท สามารถโทรสอบถามอาการเกี่ยวกับโรค COVID-19 ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้เนื่องจากผู้ป่วยโรคจิตเวชมักมีความกังวลมากขึ้นในช่วงโรค COVID-19 เพราะมีความลำบากในการปรับตัว ดังนั้นญาติ หรือคนใกล้ชิดควรพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้โรค COVID-19 จะเป็นโรคระบาดที่มีการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดโรคระบาดขึ้นในโลก บุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จึงพยายามหาทางรักษาและป้องกันได้ในที่สุด
สถานการณ์วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ล่าสุด
ล่าสุดหลายบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกทั้งในจีน สหรัฐอเมริกา สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพออกมาใช้กับมนุษย์ได้สำเร็จและเริ่มทยอยฉีดให้บุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง บ้างแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทยายักษ์ใหญ่ในสหราชอาณาจักร รัสเซีย ก็เตรียมรับการอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพออกมาใช้กับมนุษย์ได้แล้วเช่นกัน
ส่วนในไทยนั้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้แจ้งช่องทางการรับวัคซีนเข้ามาในประเทศซึ่งมีด้วยกัน 3 ช่องทางได้แก่
- วิธีแรก ร่วมมือวิจัยกับสถาบันวิจัยวัคซีนระดับโลกเพื่อให้ได้มา ซึ่งยังต้องรอต่อไป
- วิธีที่สอง สั่งซื้อจาก AstraZeneca 26 ล้าน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คาดว่า จะได้วัคซีนประมาณกลางปีหน้า และคงต้องหาทางต่อรองจัดซื้อกับ บริษัทอื่นๆ ด้วย
- วิธีที่สาม พัฒนาวัคซีน-19 ในประเทศไทย
ในช่วงที่คนไทยรอวัคซีนโควิด-19 เป็นช่วงที่แต่ละองค์กรพัฒนาวัคซีนก็ได้ประกอบชิ้นส่วนวัคซีน พร้อมทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์ โดยคณะกรรมการจริยธรรมทางการแพทย์ และองค์การอาหารและยา (อย.)
ดังนั้นในระหว่างนี้คนไทยควรปรับตัวเข้ากับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐบาล และองค์การอนามัยโลก เพื่อชะลอการระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจเชื้อ COVID-19 จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android