ปัญหาสุขภาพจากอวัยวะสืบพันธุ์ภายในที่สามารถเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยกลางคนและสตรีสูงวัย ซึ่งทำให้มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันรวมถึงชีวิตครอบครัวนั้น มีอยู่โรคหนึ่งก็คือ “มดลูกต่ำ” ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคร้ายแต่ก็สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ หากรู้จักสังเกตแล้วรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง
มดลูกต่ำคืออะไร
มดลูกต่ำ (Pelvic Organ Prolapse) คือ อาการที่มดลูกเคยอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน โดยมีกล้ามเนื้ออยู่ระหว่างกระดูกก้นกบกับกระดูกหัวเหน่าที่ทำหน้าที่ยึดมดลูก มีอาการขาดความแข็งแรงหรือถูกทำลายจนส่งผลให้มดลูกหย่อนหรือหลุดต่ำลงมาที่ช่องคลอด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
สาเหตุของมดลูกต่ำ
เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานที่อยู่ในภาวะหย่อนยานเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการคลอดบุตรบ่อยๆ มีบุตรมาก ทารกตัวใหญ่ การเข้าสู่ภาวะวัยทองที่ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ท้องผูกมากจนทำให้เกิดการเบ่งอุจจาระแรงๆ หรือแม้แต่การมีน้ำหนักตัวมาก รวมถึงโรคเนื้องอกในมดลูกแล้วถ่วงจนทำให้มดลูกหย่อนยาน การยกของหนัก และการผ่าตัดมดลูกก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน
อาการของภาวะมดลูกต่ำ
ผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยจนไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ มีอาการปัสสาวะเล็ด ท้องผูกจนต้องเบ่งอุจจาระนานๆ ปวดหน่วงๆ และรู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่บริเวณปากช่องคลอด มีอาการตกขาวและมีเลือดออกหรือรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
บางรายพบว่ามีลักษณะเป็นก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาจากช่องคลอดอย่างชัดเจน การยกของหนักมากๆ หรือการได้รับการผ่าตัดอวัยวะภายในก็เป็นเหตุทำให้มดลูกต่ำได้อีกเช่นกัน ซึ่งการวินิจฉัยว่าอยู่ในภาวะมดลูกต่ำนั้น แพทย์จะทำการตรวจความแข็งแรงของมดลูกด้วยการให้ลองกลั้นปัสสาวะ ไอ เกร็งหรือกดที่บริเวณท้อง และวิธีตรวจด้วยอัลตราซาวด์
การรักษาภาวะมดลูกต่ำ
- ขมิบช่องคลอดบ่อยๆ ปฏิบัติทุกวันอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ยังเป็นไม่มากให้ทำประมาณ 100 ครั้งต่อวัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้อุ้งเชิงกรานแข็งแรงและกระชับมากขึ้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากอาการไม่ดีขึ้นควรจะต้องมาพบแพทย์
- ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงอุ้งเชิงกราน วิธีนี้แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Vaginal Pessary สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อช่วยพยุงมดลูก ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องทำความสะอาดให้ดีและต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ แต่มีข้อเสียคือหากมดลูกหย่อนมากอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง รวมทั้งมีปัญหาขณะมีเพศสัมพันธ์
- การใช้ฮอร์โมน เป็นการช่วยให้มดลูกกลับมากระชับแข็งแรง วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนเท่านั้น
- การผ่าตัด กรณีที่อยู่ในภาวะมดลูกหย่อนระดับรุนแรง อาจจะต้องผ่าตัดมดลูกออก หรือผ่าตัดนำเอาเนื้อเยื่อส่วนอื่นมาปะแทนเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอ หรือผ่าตัดดึงมดลูกให้กลับเข้าตำแหน่งเดิม แต่จะมีข้อเสียคือไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ต้องการมีบุตร เพราะจะทำให้การผ่าตัดไม่ได้ผล
วิธีดูแลตนเองและป้องกันไม่ให้เป็นภาวะมดลูกต่ำ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เน้นรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคท้องผูกและช่วยลดการเบ่งอุจจาระนานๆ หรือการเกร็งท้องอันเนื่องมาจากถ่ายอุจจาระยาก
- สำหรับผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์หรือไม่เคยก็ตาม ควรฝึกการขมิบช่องคลอดให้เป็นประจำสม่ำเสมอ
- ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม หากมีน้ำหนักเกินมาตรฐานมากๆ ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะมดลูกต่ำได้
- ไม่ควรยกของหนักมากเกินไปและหลีกเลี่ยงการยกของด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้มีการเกร็งหน้าท้องมากๆ จนอาจทำให้มดลูกต่ำในภายหลังได้
- เมื่อเข้าสู่วัยทองควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีใช้ฮอร์โมนที่เหมาะสม รวมทั้งต้องรักษาโรคประจำตัวอย่างเช่นโรคหอบหรือโรคไอเรื้อรังให้ดีด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะมดลูกต่ำ
ปัญหาภาวะมดลูกต่ำหากสังเกตพบความผิดปกติตั้งแต่แรกๆ โดยไม่ปล่อยปละละเลย ย่อมทำให้การรักษาเป็นไปได้ง่ายและมีโอกาสหายขาด อีกทั้งภาวะมดลูกต่ำจะมีผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่นั้น ถ้าเป็นระยะที่เล็กน้อยไม่รุนแรงก็ยังคงสามารถทำได้ แต่ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลที่มั่นใจ ก่อนการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียด ซึ่งเป็นการป้องกันและรักษาก่อนจะดีกว่า