การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ให้นมบุตร ไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ที่ดื่มเองเท่านั้น แต่แอลกอฮอล์ยังสามารถกระจายผ่านทางน้ำนมและส่งผลกระทบต่อทารกที่ดูดนมได้ค่ะ โดยแอลกอฮอล์ในระดับที่เข้มข้นมากจะทำให้เด็กหลับลึก ไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น หรือมีการตอบสนองที่ผิดปกติ และมีปัญหาด้านพัฒนาการในช่วงต้นได้
อีกทั้ง มารดาที่อยู่ในอาการมึนเมา อาจมีความสามารถในการตัดสินใจและความสามารถในการดูแลบุตรลดลง ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยโดยตรงของทารกได้ค่ะ
แนะนำคุณแม่มือใหม่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 297 บาท ลดสูงสุด 59%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
แอลกอฮอล์จะพบในน้ำนมได้นานแค่ไหน?
จะพบว่าความเข้มข้นแอลกอฮอล์ในน้ำนมขึ้นสูงสุดภายใน 30 – 60 นาทีหลังดื่ม และพบได้อีกนานหลายชั่วโมงตามปริมาณของแอลกอฮอล์ที่มารดารับเข้าไปในร่างกาย เช่น พบ 2 – 3 ชั่วโมงสำหรับ 1 ดื่มมาตรฐาน, 4 – 5 ชั่วโมงสำหรับ 2 ดื่มมาตรฐาน และ 6 – 8 ชั่วโมงสำหรับ 3 ดื่มมาตรฐาน เป็นต้น
“ดื่มมาตรฐาน” คืออะไร?
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด “1 ดื่มมาตรฐาน” ไว้เท่ากับแอลกอฮอล์ 10 กรัม (หรือประมาณ 12.5 มิลลิลิตร) การคำนวณดื่มมาตรฐานจึงต้องทราบความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ (เปอร์เซ็นต์ หรือ ดีกรี) ในเครื่องดื่มดังกล่าว และปริมาณที่ดื่ม (มิลลิลิตร) รวมทั้งหมดในวันนั้น
(หมายเหตุ : 0.789 เป็นค่าคงที่ในการเปลี่ยนหน่วยของแอลกอฮอล์จากมิลลิลิตรเป็นกรัม)
ยกตัวอย่างเช่น เบียร์กระป๋อง ขนาด 330 มิลลิลิตร ยี่ห้อหนึ่งที่มีดีกรี 6% จะมีจำนวนดื่มมาตรฐาน = (330 x 0.06 x 0.789) / 10 หรือเท่ากับ ประมาณ 1.5 ดื่มมาตรฐาน
ปริมาณของเครื่องดื่มที่เทียบเท่ากับ 1 ดื่มมาตรฐาน
- เบียร์ (สูตรไลท์) 3.5% จำนวน 1 กระป๋อง/ขวดเล็ก
- เบียร์ (สูตรธรรมดา) 5% จำนวน ¾ กระป๋อง/ขวดเล็ก
- เบียร์ (สูตรธรรมดา) 6% จำนวน ½ กระป๋อง/ขวดเล็ก
- เหล้าแดง 35% จำนวน 2 ฝา
- เหล้าขาว 40% จำนวน ¾ เป๊ก
- ไวน์ 12% จำนวน ¾ แก้ว
นอกจากแอลกอฮอล์จะพบในเครื่องดื่มประเภทมึนเมาแล้ว ยังพบในยาบางชนิดด้วยนะคะ เช่น ยาธาตุน้ำขาว, ยาธาตุน้ำแดง, ยาจิบแก้ไอ รวมไปยาสตรี ซึ่งหญิงหลังคลอดบางรายใช้เพื่อขับน้ำคาวปลาหรือแทนการอยู่ไฟ ก็มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ
การใช้ยาใด ๆ โดยเฉพาะหากต้องใช้ปริมาณมากและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จึงไม่ควรมองข้ามปริมาณของแอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตรตำรับด้วยนะคะ
การปั๊มนมทิ้งจะช่วยลดแอลกอฮอล์ในน้ำนมหรือไม่?
แอลกอฮอล์ในเลือดสามารถกระจายตัวไปสู่น้ำนมได้ตลอดเวลาค่ะ ดังนั้น การปั๊มนมทิ้ง ไม่ช่วยให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในน้ำนมแม่ลดลงได้เร็วขึ้นนะคะ
เมื่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของมารดาลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ระดับแอลกอฮอล์ในน้ำนมก็จะลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้น แค่หลีกเลี่ยงการให้นมในเวลาที่มีความเสี่ยงก็เพียงพอแล้วค่ะ
ควรมีการเว้นระยะห่างในการให้นมอย่างไร?
ศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) เผยแพร่ข้อมูล ที่มีการปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 21 มีนาคม 2561 โดยแนะนำให้มีการเว้นระยะการให้นมไปอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ต่อ 1 ดื่มมาตรฐาน
ดังนั้น หากมารดามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณรวมที่มากกว่านั้น ก็ต้องมีการเว้นระยะการให้นมนานขึ้นยิ่งไปตามลำดับค่ะ