อาการเท้าเย็น มักเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อเราอยู่ในสภาพอากาศที่หนาวเย็น แต่บางครั้งเรากลับมีอาการเท้าเย็น ขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ โดยที่คนอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันไม่มีอาการเหมือนเราสักคน
ในบางครั้งอาการเท้าเย็นอาจมาพร้อมความรู้สึกชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงอีกด้วย ซึ่งทำให้เรายิ่งกังวลไปกันใหญ่ มาไขข้อสงสัยกันว่า อาการเท้าเย็น เกิดจากอะไรได้บ้าง
เท้าเย็น เกิดจากอะไรได้บ้าง?
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเท้าเย็น มีดังนี้
1. สภาพอากาศหนาวเย็น
ร่างกายของเรามีระบบประสาทที่คอยควบคุมอุณหภูมิร่างกายอยู่
ดังนั้น เมื่ออยู่ในอากาศหนาว เช่น ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือไปสัมผัสหิมะ เลือดจะสูบฉีดไปเพิ่มความอบอุ่นแก่หัวใจและสมอง ทำให้เลือดที่ไหลเวียนตามผิวหนังลดลง ส่งผลให้เท้าเราเย็นเฉียบนั่นเอง ซึ่งถ้าเราสวมอุปกรณ์กันหนาวที่เหมาะสม อาการเท้าเย็นก็จะหายไป
สภาพอารมณ์จิตใจล้วนส่งผลต่ออุณหภูมิร่างกายด้วย เมื่อเราอยู่ในภาวะเครียด กังวล ตื่นเต้น หรือตื่นกลัว จึงมักมีความรู้สึกว่าเท้าเย็น มือเย็น และมีเหงื่อเย็นๆ ไหลออกมา ซึ่งเป็นอาการตอบสนองตามปกติของร่างกาย เมื่ออารมณ์เครียด ตื่นตระหนกหายใจ อุณหภูมิร่างกายก็จะกลับมาปกติ
3. ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ
หรือที่เรียกว่า ภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้หญิง ทำให้ร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ และส่งผลให้มีอาการเท้าเย็น มือเย็น ขี้หนาว รวมถึงรู้สึกเซื่องซึม อ่อนเพลีย ขาดความกระฉับกระเฉง น้ำหนักตัวขึ้น และสมรรถภาพทางเพศลดลงด้วย
4. เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี
หากเกิดภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านทางเส้นเลือดฝอยได้ จะทำให้เกิดอาการเท้าเย็น มือเย็น ร่วมกับอาการชาตามปลายมือปลายเท้า และกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย ซึ่งพบได้บ่อยในโรคหรือความผิดปกติต่างๆ เช่น
- หลอดเลือดตีบ จากการสูบบุหรี่
- เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดี และหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น
- เป็นโรคเบาหวาน
- มีภาวะโลหิตจาง
- เป็นอัมพาต
วิธีแก้อาการเท้าเย็นด้วยตนเอง
- สวมอุปกรณ์ให้ความอบอุ่น เช่น ถุงเท้าหนา รองเท้า หรือห่มผ้า เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น
- แช่เท้าในน้ำอุ่น เพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิร่างกาย และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- นวดเท้า การนวดที่เท้าเบาๆ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณเท้า ทำให้เรารู้สึกว่าเท้าอุ่นขึ้น รวมถึงช่วยลดอาการเมื่อยล้า ปวดเกร็ง และทำให้รู้สึกผ่อนคลายด้วย
- ดื่มเครื่องดื่มสมุนไพร เช่น น้ำขิง ซึ่งช่วยกระตุ้นอัตราการไหลเวียนเลือด และช่วยเพิ่มความร้อนแก่ร่างกาย หรือชาเขียวร้อน ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของหลอดเลือด เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบินและการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดีขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น ธัญพืชและผักใบเขียว เนื่องจากแมกนีเซียมเป็นสารชนิดสำคัญที่ช่วยควบคุมการไหลเวียนเลือด
การรักษาสาเหตุของอาการเท้าเย็น
หากอาการเท้าเย็นเกิดจากโรคเรื้อรังที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยร่วม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะโลหิตจาง และภาวะไฮโปไทรอยด์ ก็จำเป็นต้องรับการรักษาทางการแพทย์
แนวทางการรักษานั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์อาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการและควบคุมโรค ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย
การป้องกันอาการเท้าเย็น
- รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยการสวมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้เลือดสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ได้ดี และเพื่อให้กล้ามเนื้อที่เท้าแข็งแรงด้วย
- ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและแมกนีเซียมสูงเป็นประจำ เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ นม ไข่ ผักใบเขียว และธัญพืช เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางและกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดี
- ป้องกันความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
อาการเท้าเย็น เป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น แต่หากมีอาการเท้าเย็นเป็นประจำโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือลองแก้อาการเท้าเย็นด้วยวิธีที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วไม่หาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นสัญญาณผิดปกติในร่างกายได้
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android