การเดิน เป็นกิจกรรมทางกายง่ายๆ ที่ให้อะไรมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ ถือว่าเป็นยาขนานเอกสำหรับร่างกายที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป การเดิน เป็นกิจกรรมทางกายประเภทหนักปานกลาง ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น มีสุขภาพจิตดี ลดความวิตกกังวล และลดอาการซึมเศร้าได้ อีกทั้งยังช่วยลดน้ำหนักตัวได้โดยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาล ลดระดับไขมันในเลือด และลดความดันโลหิต อีกทั้งยังช่วยลดภาวะกระดูกบางหรือผุกร่อนได้
เหตุผลที่ควรจะลุกขึ้นมาเดิน
- สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
- ทำร่างกายแข็งแรงได้ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์
- มีสุขภาพดี แบบไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
- ใช้แรงไม่มาก แต่ได้การเผาผลาญที่ดี
- จะได้สามแข็ง คือ ร่างกายแข็งแรง กระดูกแข็งแรง และมีกล้ามเนื้อแข็งแรง
- สะดวกปลอดภัยไร้กังวล
- จะมีสามดี คือ ควบคุมน้ำหนักได้ดี หุ่นดี และผิวพรรณที่ดี
- สามารถลดความเครียดได้ อีกทั้งยังช่วยเสริมอารมณ์ให้เบิกบาน
- สามารถทำได้ทุกที่ และทุกเวลาไม่กะเกณฑ์
เราควรเริ่มเดินอย่างไรดี
ควรเดินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากเดินช้าๆ ประมาณ 3-5 นาที และเมื่อรู้สึกชิน ก็ค่อยเพิ่มความเร็วในระดับที่พอรู้สึกว่าเหนื่อย แล้วเดินอีก 25-30 นาที จากนั้นชะลอความเร็วลงในช่วงท้าย แล้วเดินอีก 3-5 นาที จึงหยุด หากรู้สึกเหนื่อยหอบ ควรชะลอความเร็วในการเดินลง ถ้าหากมีอาการเป็นมากให้หาที่นั่งพักก่อน
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
การเดินอย่างถูกวิธี
- ขณะเดินตาต้องมองตรงไปข้างหน้า ศีรษะและลำตัวต้องตั้งตรง ไหล่ทั้งสองข้างควรอยู่ในระดับตรง
- ให้แกว่งแขนซ้ายขวาสลับหน้าหลังขนานลำตัว มือทั้งสองข้างควรกำหลวมๆ โดยให้มือแกว่งอยู่ในระดับอก ในลักษณะที่ผ่อนคลาย งอศอกเล็กน้อย ทำมุมประมาณ 90 องศา ระหว่างแขนท่อนบนกับแขนท่อนล่าง
- จังหวะการเดินควรก้าวเท้าอย่างสม่ำเสมอ
- เวลาเดิน ควรก้าวเท้าออกไปประมาณครึ่งก้าวโดยให้ส้นเท้าแตะพื้น แล้วถ่ายน้ำหนักไปที่ฝ่าเท้า สำหรับขาอีกข้างให้ยกส้นเท้าแล้วถ่ายน้ำหนักตัวลงที่ปลายเท้า ซึ่งการเดินเช่นนี้จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อหน้าแข้งและ เป็นการเดินเพื่อสุขภาพที่ถูกต้อง อีกทั้งยังส่งเสริมบุคลิกภาพอีกด้วย
- ความยาวของช่วงก้าวจะขึ้นอยู่กับการเดิน แต่ที่สำคัญไม่ควรก้าวยาวมากเกินไป เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อต้นขาและสะโพกรู้สึกเมื่อยล้าได้
- ในการเดินขึ้นเนินควรเดินช้าลง และควรเอนตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย เมื่อเดินลงเนินให้พยายามควบคุมความเร็วด้วยก้าวสั้นๆ และวางเท้าให้เบากว่าเดิม
ควรเดินที่ไหน และเดินมากแค่ไหนจึงจะพอ
- ไม่ควรเดินในจุดที่ใกล้กับถนน เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สำหรับสถานที่เดินควรจะมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป เพราะร่างกายจะเกิดอาการอ่อนเพลีย อีกทั้งไม่เดินในที่สูง ลาดชัน หรือลื่น จะทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มหรือได้รับอันตรายได้
- โดยปกติคนเราควรเดินให้ได้ในระยะ 2.5-3.5 กิโลเมตรต่อวัน วันละ 10,000 ก้าว แต่ถ้าหากรู้สึกว่าการนับก้าวยากเกินไปก็ควรเดินนาน 30 นาที
- เดินเพื่อออกกำลังกายจาก 3 วันต่อสัปดาห์ และเพิ่มไปถึง 5-6 วัน
แม้การเดิน จะเป็นวิธีการออกกำลังที่ปลอดภัยและดีที่สุด แต่การระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและลดการบาดเจ็บเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรใส่ใจกับสัญญาณเตือนของร่างกายที่เกิดขึ้นหากออกกำลังหนักเกินไป และควรรีบปรึกษาแพทย์หากเกิดปัญหาสุขภาพ
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ลองก้าวเท้าเดินหรือชวนเพื่อน หรือคนในครอบครัวมาเดินด้วยกัน ก็ยิ่งจะทำให้การเดินไม่น่าเบื่อ และสุขภาพแข็งแรงไปด้วยกัน