ปัญหาที่คุณแม่ที่กำลังให้นมลูกจะต้องเจอบ่อยๆ นั้นก็คือ ปัญหาคัดเต้านม, เจ็บปวดจากการบวมพอง หรือหัวนมอาจจะเป็นแผลหรือแตก ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่เราจัดตำแหน่งการให้นมเจ้าตัวเล็กของเราไม่ถูกต้องเท่าไรนัก วันนี้เรามีเคล็ดลับการดูแลและป้องกันปัญหาเหล่านี้
ทำไมเต้านมถึงบวมหรือคัดหน้าอก
สาเหตุใหญ่มาจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง โดยจะเกิดขึ้นหลังจากที่คุณแม่คลอดลูกออกมา โดยหน้าอกจะขยายตัวเพื่อเตรียมตัวสำหรับการผลิตน้ำนมให้ลูก (เป็นกลไกตามธรรมชาติ) สำหรับกรณีที่เกิดอาการบวม ให้บรรเทาอาการปวดด้วยการใช้ผ้าอุ่นประคบก่อนให้นมลูก และใช้ผ้าเย็นประคบในระหว่างให้นม ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการปวดแล้วยังช่วยให้ลูกดูดนมได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย แต่บางกรณีมีอาการบวมมากจนอาจจะเป็นไข้ร่วมด้วยนั้น ขอให้ไปพบคุณหมอ อย่าได้ซื้อยาลดไข้หรือยาใดๆ มาทานเองในช่วงที่เราให้นมลูกเด็กขาด เพราะยาจะมีผลส่งต่อไปยังลูกของเราผ่านน้ำนมแม่ด้วย
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ทำไมหัวนมแตกหรือเป็นแผล
ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ลูกของเราไม่งับหัวนมเข้าไปทั้งหมด การแก้ไขจึงแก้ไขได้ง่ายๆ นั้นคือการจัดท่าให้นมลูกให้ถูกต้อง คือ ให้จัดตำแหน่งหัวนมของเราอยู่ตรงตำแหน่งด้านบน บริเวณกลางลิ้นของลูก และลูกจะต้องงับหัวนมเข้าไปจนริมฝีปากบนและล่างมิดฐานนมพอดี
นอกจากนั้นยังอาจจะเกิดในช่วงที่ลูกอายุประมาณ 3 เดือนเป็นต้นไป เพราะเด็กในวัยนี้จะเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมตัวเองมากขึ้น บ่อยครั้งเวลาที่คุณแม่กำลังให้นมอยู่ ลูกก็กลับหันหน้า (ทั้งที่ยังงับหัวนมอยู่) ไปมอง ทำให้การหันหน้าไปมาขณะที่กำลังดูดนมแม่นั้น จะสร้างความเจ็บปวดและอาจจะทำให้เกิดแผลแตกของหัวนมได้
ทางแก้ไขคือ ให้อุ้มลูกโดยให้ลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวแม่ จัดท่าให้ศีรษะของลูกอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย (เพื่อง่ายในการดูดนม) บริเวณท้ายทอยของลูกวางอยู่บริเวณแขนของแม่ โดยใช้มือและแขนคนละข้างกับเต้านมที่ลูกจะดูดประคองตัวลูกไว้ และใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกจะดูดประคองเต้านม
จากในรูปจะเห็นว่า คุณแม่ใช้มือซ้ายอุ้มลูกและประคองตัวลูกไว้ (เพราะว่าใช้เต้านมข้างขวาให้นมลูก) และใช้มือขวาประคองส่วนหัวของลูกให้แนบกับเต้านมมากขึ้น (ซึ่งถ้าเรามีหมอนก็สามารถเอามาหนุนศีรษะลูกแทนแล้วเอามือข้างขวามาช่วยประคองเต้านมไว้เผื่อลูกดูดนมแล้วหันหน้าหนี จะได้ไม่เกิดการดึงรั้งหัวนม
การป้องกันและรักษาอาการหัวนมแตกหรือเป็นแผล
การป้องกันเบื้องต้นสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องเสียเงินใดๆ ก็คือ หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้ว ให้คุณแม่ใช้น้ำนมของคุณแม่เองทาละเลงลงบริเวณหัวนมและปล่อยให้แห้งทุกครั้งหลังลูกดูดนม น้ำนมจะช่วยป้องกันการแห้งแตกของผิวบริเวณหัวนมได้ พอเวลาจะให้นมครั้งต่อไปคุณแม่ก็แค่ทำความสะอาดหัวนมอีกครั้งก็ให้ลูกดูดนมต่อได้ทันที
แต่หากเป็นแผลแตกแล้ว ควรจะงดให้ลูกดูดนมในเต้านมด้านที่เป็นแผล และแนะนำให้ไปพบคุณหมอ คุณหมอจะให้ครีมมา ซึ่งจะช่วยรักษาแผลแตกได้ดี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วันอาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้น (แต่ระหว่างนี้ควรงดให้ลูกดูดนมข้างที่มีแผลแตกนี้อย่างเด็ดขาด) นอกจากนั้นหากเกิดอาการคัดเต้านม (ข้างที่เป็นแผล) คุณแม่ก็ควรจะบีบน้ำนมข้างนั้นออกเพื่อลดอาการคัดและปวดหน้าอก
นอกจากนั้นในกรณีที่เป็นผื่นแดง หรือรอยช้ำ หรือรู้สึกว่าบริเวณหน้าอกร้อนผิดปกติ ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นอาการบ่งบอกว่ากำลังติดเชื้อ อาการติดเชื้อเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้ในเวลารวดเร็วถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ดังนั้นอย่าได้ชะล่าใจปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านไป