วิธีรับมือไม่ให้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง

สาเหตุที่ทำให้ลูกเอาแต่ใจตัวเองเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ใช่หรือไม่ แล้วมีวิธีรับมืออย่างไรไม่ให้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง
เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
วิธีรับมือไม่ให้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ จะเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก หรือเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบตัว ไม่สามารถใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาได้
  • หากพ่อแม่ตามใจลูกเวลาลูกร้องไห้งอแงบ่อยๆ ลูกก็จะจดจำว่า หากอยากได้สิ่งไหนจะต้องร้องไห้งอแงก่อน ทำให้กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจได้
  • การรับมือไม่ให้ลูกเอาแต่ใจคือ พ่อแม่จะต้องสอนลูกด้วยเหตุผลเป็นประจำ ไม่ตามใจเมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ลูกก็จะจดจำได้เองว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ควรทำ หรือไม่ควรทำ
  • ตัวอย่างการรับมือเวลาลูกร้องไห้อยากได้ของเล่น ให้พ่อแม่กอดปลอบลูกและพาออกห่างจากของเล่นนั้นๆ ไม่ต้องตื่นตระหนก เมื่อลูกเหนื่อยก็จะหยุดเอง หลังจากนั้นให้อธิบายด้วยเหตุผลว่า ทำไมถึงไม่สามารถซื้อของเล่นชิ้นนั้นให้ลูกได้
  • เด็ก เปรียบเสมือนผ้าขาวที่พ่อแม่เป็นผู้แต่งแต้มสีลงไป หากพ่อแม่ดูแลลูกด้วยความใส่ใจ ความรัก อบรมเลี้ยงดูด้วยเหตุและผล และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา เด็กก็จะซึมซับและเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า (ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนสำหรับเด็กได้ที่นี่)

เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบจะเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก ซึ่งเด็กในช่วงปฐมวัยนี้ยังไม่สามารถใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา แต่จะคอยสังเกตการตอบสนองจากคนรอบข้างทั้งพ่อแม่ และผู้ดูแล 

หากพ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกของตนกำลัง "ลองดี" กับตัวเองแล้วละก็ ลูกก็จะเรียนรู้ว่า "ถ้าทำอย่างนี้แล้วพ่อแม่จะยอม" 

เมื่อเด็กเรียนรู้ไปมากๆ เข้า ก็จะพัฒนากลายเป็นนิสัย และเริ่มรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่ยอมทำในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้วพ่อแม่คงต้องเหนื่อยอีกเยอะเลย เราจึงมีวิธีเตรียมรับมือไม่ให้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง และรับฟังเหตุผลพ่อแม่มาฝากกัน

คุณพ่อคุณแม่เคยเจอลูกมีอาการเหล่านี้บ้างหรือเปล่า?

  1. เวลาที่ลูกต้องการจะให้พ่อแม่ทำอะไรให้ เช่น กินขนม ซื้อของเล่น พาไปเที่ยว เมื่อไม่ได้ดั่งใจ ลูกก็จะร้องไห้งอแง หนักๆ เข้ามีอาการดิ้นลงไปกับพื้น ชักดิ้นชักงอ สุดท้ายพ่อแม่ก็ต้องยอมทำตามที่ลูกต้องการ
  2. เวลาที่ไปขัดใจลูก เช่น ให้หยุดเล่นเพื่อไปทำกิจกรรมอื่น ลูกก็จะร้องไห้งอแง
  3. เวลาที่พ่อแม่สอนหรือบอกลูกให้ทำอะไร ลูกมักจะต่อต้านหรือไม่ยอมทำตาม

สาเหตุที่ทำให้ลูกมีอาการเหล่านี้

นับตั้งแต่ลูกเกิดออกมา ลูกของเราก็จะมีการเรียนรู้ เช่น เมื่อตัวเองรู้สึกหิว เมื่อร้องไห้แล้วมีน้ำนมให้กิน เด็กก็จะเรียนรู้ว่า อ้อ.. ถ้าหิวให้ร้องไห้นะ เดี๋ยวจะมีน้ำนมมาให้กินอิ่มอร่อย

เมื่อลูกเรียนรู้ว่าทำแบบไหนแล้วได้ผล แต่เมื่อทำซ้ำแล้วยังไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ลูกก็จะเพิ่มความรุนแรงของการกระทำขึ้นไปอีก

ตัวอย่างเช่น ครั้งแรกพ่อแม่พาไปเที่ยวแล้วซื้อของเล่นหรือขนมให้ลูกกิน เมื่อพาลูกออกไปอีก ลูกก็จะให้เราซื้อขนมหรือของเล่นเพิ่มให้ เมื่อไม่ได้ลูกก็จะร้องไห้ หากการร้องไห้ครั้งนี้ทำให้พ่อแม่ใจอ่อนจนทำตามสิ่งที่ลูกต้องการ ลูกก็จะเรียนรู้และเข้าใจไปเองว่า ทำแบบนี้แล้วพ่อแม่จะยอม

เมื่อวันต่อๆ ไปอยากจะได้อะไร ลูกก็จะนำกลับไปใช้มุขเดิม คือ ร้องไห้งอแง ถ้าไม่ได้ ลูกก็จะร้องไห้หนักขึ้น ดังขึ้น มีอาการลงไปนั่งชักดิ้นชักงอ หากพ่อแม่ยอมตามใจลูก ลูกก็จะจดจำไปอีกว่า ถ้าทำแบบขั้นที่ 1 ไม่ได้ ก็ทำแบบขั้นที่ 2 นี้ แล้วพ่อแม่จะยอมฉัน

ยิ่งพ่อแม่เห็นลูกร้องไห้งอแงแล้วก็ตามใจ หรือพูดโอ๋ลูก ลูกก็จะยิ่งจดจำว่า ทำสิ่งนี้แล้วจะมีคนรัก คนเอาใจ ซึ่งเด็กทุกๆ คนจะเรียนรู้เองตามธรรมชาติ ทำให้ยิ่งโตขึ้น ลูกจะยิ่งเอาแต่ใจมากขึ้น และหากขัดใจ ก็จะร้องไห้หรือมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งลูกต้องการรู้เหตุผล หรือรู้สึกว่าถูกบังคับ มักเกิดขึ้นในครอบครัวที่พ่อแม่ใช้คำสั่งเป็นหลัก โดยไม่มีการอธิบายสั้นๆให้เด็กเข้าใจ  เช่น พ่อแม่ชอบพูดว่า “พ่อ/แม่ สั่งว่าไง ทำไมหนูไม่ทำ”

ทางแก้ไม่ให้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง

  • ทำความเข้าใจกับธรรมชาติของลูกให้มากว่า ลูกในวัยนี้ (ช่วง 6 ขวบแรก) หากสอนและฝึกไม่ตามใจลูกทุกครั้งที่ร้องไห้งอแง ลูกจะโตขึ้นมาโดยไม่ติดนิสัยเหล่านี้
  • ให้ลูกหัดเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง เช่น พ่อแม่อาจจะเริ่มฝึกลูก (เริ่มตอน 2 ขวบ) ให้เริ่มใส่เสื้อผ้าเอง กินข้าวเอง ดื่มน้ำจากแก้วเอง ฯลฯ 
  • ควรพาลูกไปเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน เมื่อลูกไปเจอกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ลูกจะเรียนรู้การแบ่งปัน การได้รับ และการให้
  • เวลาที่ลูกร้องไห้เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำคือ การเข้าไปอุ้มลูก กอดลูกไว้ โดยไม่ต้องไปโวยวาย ไปดุด่าว่าลูก แค่กอดลูกไว้เฉยๆ แล้วพาลูกออกมาจากสิ่งที่เขาต้องการ เช่น ร้านขนม ร้านของเล่น
  • เมื่อลูกอารมณ์เริ่มดีขึ้น พ่อแม่ควรสอนลูกว่าเหตุใดพ่อแม่จึงไม่ซื้อหรือทำสิ่งนั้นให้ลูก แต่ไม่ควรไปดุด่าลูกอีก แค่บอกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ทำหรือซื้อสิ่งนั้นให้ก็พอ
  • โปรดจำไว้ว่า แม้ว่าลูกจะยังเล็ก จะไม่เข้าใจเหตุผลที่พ่อแม่อธิบายไปทั้งหมด แต่ถ้าพ่อแม่ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลูกจะซึมซับถึงการใช้เหตุผล ไม่ใช่การใช้อารมณ์ของพ่อแม่โต้ตอบ พ่อแม่หลายคนมักจะด่าว่าลูกว่า "ร้องทำไม หยุดร้องเดี๋ยวนี้" ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความรัก
  • ตั้งคำถามกับลูกบ่อยๆ ว่า รู้สึกยังไงบ้าง และคิดยังไงกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ทำไมถึงอยากได้สิ่งๆ นั้น และทำไมจะต้องเอาสิ่งๆ นั้นให้ได้
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้หัดตัดสินใจเองบ้าง อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวของลูกเอง เช่น จะเลือกเสื้อผ้าตัวไหนดี มื้อเย็นนี้จะกินอาหารอะไรดี
  • พูดคุยกับลูกให้บ่อย เด็กในช่วงปฐมวัยนั้น พ่อแม่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและเป็น "ของเล่น" ที่ดีที่สุดสำหรับเขา หากพ่อแม่พูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ เล่นกับลูก ให้ความรัก กอดลูกให้มาก ลูกจะไม่ใช้ความก้าวร้าวเป็นตัวต่อรองกับพ่อแม่
  • ถ้าลูกสามารถเถียงได้ตลอดเวลา พ่อแม่ควรทำการเตือนแล้วตามด้วยผลที่ตามมา เช่น “ถ้าหนูยังเถียงแม่อีก วันนี้แม่จะงดให้หนูดูทีวี”
  • ถ้าลูกปฏิเสธสิ่งที่แกไม่อยากทำ พ่อแม่ควรมีทางเลือก เช่น ถ้าเด็กไม่อยากทำความสะอาดห้อง แทนที่พ่อแม่จะบังคับ พ่อแม่อาจพูดว่า “หนูอยากจะทำความสะอาดห้องตอนนี้หรืออีก 10 นาทีถัดไป” แทนการออกคำสั่งว่า “หนูต้องทำความสะอาดห้องตอนนี้”

เด็กนั้นเปรียบเสมือนผ้าขาวที่พ่อและแม่เป็นผู้แต่งแต้มสีลงไป หากพ่อแม่ดูแลลูกด้วยความใส่ใจ ความรัก อบรมเลี้ยงดูด้วยเหตุและผล และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา เด็กก็จะซึมซับและเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า

ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
10 Signs You Are Raising a Strong-Willed Child. Verywell Family. (https://www.verywellfamily.com/signs-raising-a-strong-willed-child-1094963)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
จะสอนให้เด็กวัยรุ่นเป็นคนขับรถที่มีความรับผิดชอบได้อย่างไร?
จะสอนให้เด็กวัยรุ่นเป็นคนขับรถที่มีความรับผิดชอบได้อย่างไร?

ลักษณะนิสัยการขับขี่รถยนต์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มขับรถ

อ่านเพิ่ม
10 ความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการรังแก
10 ความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการรังแก

ทดสอบตัวคุณเองเพื่อดูว่าคุณรู้เกี่ยวกับการรังแกดีแค่ไหน

อ่านเพิ่ม