แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยจะไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับอีกนับร้อยประเทศทั่วโลก แต่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ก็ยังคงแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ทุกคนยังคงประมาทไม่ได้
การใช้ชีวิตหลังจากนี้จึงต้องเปลี่ยนไปสู่ความปกติใหม่ (New normal) หรืออย่างน้อยก็จนกว่าจะมีวัคซีนป้องโรคที่มีประสิทธิภาพ
ตรวจโควิด-19 (COVID-19) วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 450 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
HD ได้สัมภาษณ์ พญ. เรณุกา จรัสพงศ์พิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลพญาไท 2 ในหัวข้อ “ทำความสะอาดคอนโดอย่างไร ให้ปลอดเชื้อ COVID-19” เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวเข้าสู่ความปกติใหม่ได้อย่างถูกวิธี เหมาะสม และปลอดภัย
เมื่อกลับจากข้างนอก มีอะไรที่ต้องระวังบ้าง?
หลังจากเชื้อ COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดในไทยอีกครั้ง จึงมีความเสี่ยงที่เชื้อโรคอาจติดตามพื้นผิวต่างๆ เข้ามาในบ้านได้ ดังนั้นจึงควรมีวิธีจัดการก่อนกลับเข้าที่พักอย่างถูกต้องและปลอดภัย
พญ. เรณุกา กล่าวว่า “อย่างแรกเลย ต้องถอดรองเท้าก่อน แล้วก็ต้องเก็บรองเท้าให้เป็นสัดส่วน เพราะรองเท้าอาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากข้างนอกเข้ามาได้”
ถ้ารองเท้าสามารถปนเปื้อนเชื้อโรคเข้ามาได้ ฉะนั้นเสื้อผ้าก็อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้ามา และมีชีวิตอยู่ได้เช่นกันใช่ไหม?
“ส่วนใหญ่จากการศึกษา เชื้อจะอยู่ได้ประมาณ 8-12 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและก็ความชื้นด้วย บางครั้งถ้าเกิดว่า อากาศเย็นมากๆ ก็อยู่ได้ 2-3 วัน ฉะนั้นเมื่อเข้าบ้านมาแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำเลย
ส่วนการซักผ้าตามปกติ ผงซักฟอก หรือน้ำยาฟอกขาว สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดจะเพิ่มความมั่นใจ เราอาจจะปรับอุณหภูมิของเครื่องซักผ้าให้เป็น 70 องศาเซลเซียส นานกว่า 30 นาที
ตรวจโควิด-19 (COVID-19) วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 450 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
สำหรับผ้าปูที่นอนก็เช่นกัน แต่จะซักบ่อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความเปื้อนของมัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง”
ตามที่ พญ. เรณุกา ได้กล่าวไป เชื้อ COVID-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้นานแตกต่างกันออกไป
HD จึงรวบรวมระยะเวลาที่เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้บนพื้นผิวต่างๆ มาให้ เพื่อให้ทุกคนสามารถระวังเชื้อจากการซื้อสินค้าเข้าบ้าน หรือการรับพัสดุ
- เชื้อ COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพลาสติกได้นาน 72 ชั่วโมง
- เชื้อ COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนสแตนเลสได้นาน 72 ชั่วโมง
- เชื้อ COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนกระดาษแข็งได้นาน 24 ชั่วโมง
- เชื้อ COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนเสื้อผ้าได้นาน 12 ชั่วโมง
- เชื้อ COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนทองแดงได้นาน 4 ชั่วโมง
- เชื้อ COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นาน 3 ชั่วโมง
“ปกติเราจะไม่รู้ว่าของที่ส่งมานั้นมีเชื้อโรคมานานเท่าไร หรือว่ามีใครมาจับบ้าง บางทีมันก็ตอบยากมากว่าเชื้อตายไปหรือยัง แล้วต้องทิ้งไว้นานเท่าไร ก็คือตอบยากเหมือนกัน ฉะนั้นดีที่สุดคือ ถ้าจับสิ่งของต่างๆ แล้ว เราต้องล้างมือทุกครั้งค่ะ” พญ. เรณุกา กล่าวเสริม
ต้องล้างมือด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์แบบพ่น?
หน่วยงานด้านสาธารณสุขรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ มักแนะนำให้ล้างมือให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลายคนจึงสงสัยว่า แล้วตัวเลือกที่ดีที่สุดในการฆ่าเชื้อ COVID-19 คือ สบู่ เจลล้างมือ หรือแอลกอฮอล์พ่น
“ทุกชนิดที่ยกตัวอย่างมา สามารถฆ่าเชื้อโควิดได้ ขึ้นอยู่กับว่า มือเรา หรืออุปกรณ์เลอะอะไรบ้าง ถ้าสมมติว่า เลอะเศษดิน เศษสกปรกที่เห็นได้ชัดเจน ควรจะเลือกเป็นสบู่เพื่อล้างออกไปเลย
ตรวจโควิด-19 (COVID-19) วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 450 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
แต่ถ้ามือไม่ได้เปื้อนมาก แล้วตรงบริเวณนั้นไม่มีที่ล้างมือ เราอาจเลือกใช้เป็นเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแทนได้”
“พวกเชื้อไวรัส หรือเชื้อโควิดตายค่อนข้างง่าย เพราะมีเปลือกเป็นโปรตีนกับไขมัน พอเจอกับสบู่ ถึงแม้จะเป็นสบู่ที่ไม่ได้มียาฆ่าเชื้อ เชื้อไวรัสก็ตายเหมือนกัน ดังนั้นล้างมือกับสบู่อะไรก็ได้ แค่ล้างให้ถูกต้อง”
ในกรณีที่เราไม่สามารถล้างมือด้วยน้ำเปล่าได้ เช่น เป็นพนักงานขับรถ การใช้เจลล้างมือบ่อยๆ หรือใช้แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวพวงมาลัยรถ จะเป็นอันตรายไหม? พญ. เรณุกา แนะนำว่า
“เจลแอลกอฮอล์สำหรับผิวหนังจะผสมสารให้ความชุ่มชื้นกับมือ เพื่อไม่ให้มือเราแห้งเกินไป แต่ถ้าเป็นแอลกอฮอล์ที่สำหรับพื้นผิว อาจจะไม่เหมาะกับมือเราเท่าไรคือ เชื้อโรคตาย แต่ว่ามือเราก็อาจจะพังด้วย”
นอกจากนี้ พญ. เรณุกา ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร หรือขนมที่ต้องใช้มือจับ หลังจากใช้เจลแอลกอฮอล์ว่า
“ควรจะรอแอลกอฮอล์แห้งก่อน เพราะกรณีนี้อาจจะมีเปื้อนเข้าปากไปบ้าง แต่ถ้าถามว่า อันตรายไหม ถ้าไม่ได้รับประทานในปริมาณมาก อาจจะไม่ได้ถึงกับเป็นอันตราย แต่ควรจะรอให้มันแห้งก่อน”
ล้างมือแบบ New normal ต้องทำอย่างไร จึงจะปลอดเชื้อ COVID?
องค์การอนามัยโลก (World health organization: WHO) แนะนำว่า การล้างมือที่มีประสิทธิภาพนั้นมีถึง 11 ขั้นตอน ดังนี้
- ทำให้มือเปียกชุ่ม
- กดสบู่ล้างมือ
- ถูฝ่ามือทั้งสองข้างสลับกัน
- ถูหลังมือโดยวางนิ้วสับหว่างทั้งสองข้าง
- ถูหน้าฝ่ามือแบบนิ้วสับหว่างกัน (ท่าพนมมือ)
- กำมือสองข้างซ้อนกัน โดยหันฝั่งฝ่ามือประกบกัน จากนั้นใช้นิ้วของทั้งสองข้างล็อกเข้าหากันและถูด้านใน
- กำมือรอบนิ้วโป้งของอีกข้างหนึ่ง ถูโดยรอบนิ้ว จากนั้นสลับข้าง
- ใช้เล็บถูฝ่ามืออีกข้างหนึ่งเป็นวงกลม สลับข้างกันทำ
- ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- เช็ดมือด้วยกระดาษชำระ
- ทิ้งกระดาษชำระที่เช็ดแล้ว ปิดก็อกน้ำ
แม้ขั้นตอนดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพ แต่จำนวนขั้นตอนที่เยอะเกินไป อาจทำให้หลงลืมและปฏิบัติตามได้ไม่ครบ ดังนั้น พญ. เรณุกา จึงให้คำแนะนำส่วนตัวในการทำความสะอาดมือแบบเข้าใจง่าย ดังนี้
“อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ หน้า หลัง ปั้น โป้ง ปลาย ข้อ ท่องตามนี้แล้วก็ล้างให้ครบทุกส่วน ตรงหลังมือเราก็ล้างรวมถึงตามซอกมือด้วย ปั้นก็เหมือนปั้นข้าวเหนียว
โป้งก็คือ ตามซอกนิ้วโป้งต้องทำความสะอาดด้วย ปลายก็คือ ปลายนิ้ว ทำเป็นขนมจีบแล้วล้างทั้งสองข้าง ข้อ ก็คือข้อมือสองข้าง ล้างสัก 15-20 วินาที หรือถ้าจะร้องเพลง Happy birth day ก็คือจบหนึ่งเพลงพอดี”
ถ้ามีแขกมาที่บ้าน จะทำความสะอาดอย่างไรหลังจากนั้น?
ถึงแม้จะมีวิธีป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ที่พักอาศัยดีแค่ไหน แต่หากมีแขกมาเยี่ยมที่บ้าน หรือคอนโด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อนรับ
แต่อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ได้ ตามคำแนะนำของ พญ. เรณุกา
“ควรจะใส่มาส์กตลอดเวลา ส่วนการทำความสะอาดบ้าน น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ที่เราใช้ก็มีอยู่หลายประเภท สำหรับที่เรารู้จักกันดีคือ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งจะฆ่าเชื้อโควิดได้ ความเข้มข้นจะต้องมากกว่า 70% ขึ้นไป เวลาใช้ไม่ต้องผสมอะไร ฉีด หรือเทใส่ผ้าเช็ดได้เลย”
หากไม่สามารถหาซื้อเอทิลแอลกอฮอล์ได้ มีทางเลือกอื่นอีกไหมที่สามารถใช้ทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของบ้านได้?
“อีกอย่างคือ หากใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ก็ได้เช่นกัน แต่จะมีความแรงขึ้นกว่าเดิม ส่วนใหญ่แล้วจะต้องผสมด้วยน้ำ สมมติว่า ซื้อไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แบบ 3% จะต้องผสมน้ำ 1:5”
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) คือ สารที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อในการผ่าตัดเล็ก โดยปกติจะต้องผสมน้ำเพื่อเจือจางสารลงก่อนใช้ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สามารถกำจัดได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส ยีสต์ และสปอร์แบคทีเรีย
“อีกอย่างที่คิดว่า หาง่ายคือ ผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาว ชื่อทางสารเคมีคือ โซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์ สามารถหาซื้อได้ตามตลาด หรือซูเปอร์มาร์เก็ตได้เหมือนกัน ส่วนใหญ่ตามท้องตลาดความเข้มข้นจะอยู่ที่ประมาณ 5-6%”
โซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์ (Sodium hypochlorite) คือ คลอรีนน้ำประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติฟอกขาว มีฤทธิ์เป็นด่าง (10.8-13 PH) ทำให้สามารถฆ่าเชื้อได้หลากหลายชนิด ปัจจุบันนิยมนำมาใช้กับโรงงานทำน้ำแข็ง ผลิตภัณฑ์ซักผ้า สระว่ายน้ำ รวมถึงทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์
“หากพื้นผิวเลอะมากๆ เช่น มีเสมหะ มีคราบน้ำลาย อาจผสมในอัตราส่วน 1:10 แต่ถ้าพื้นผิวธรรมดาไม่ได้เลอะมาก ก็ผสมในอัตราส่วน 1:100 เช็ดพวกรีโมต หรือลูกบิดที่มีการใช้งานบ่อย”
หากต้องอยู่ร่วมกับคนที่กำลังกักตัวควรทำอย่างไร?
HD ถาม พญ. เรณุกา ถึงเรื่องการอยู่ร่วมกันกับคนใกล้ตัวที่มีอาการ หรือเพิ่งกลับจากพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นแฟน หรือครอบครัว ควรมีอยู่ร่วมกันอย่างไร
“ต้องดูก่อนว่าคนนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน เช่น มีอาการของ CIVID-19 อาการทางระบบทางเดินหายใจ มีไข้ หรือว่ามีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด หรือเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง กรณีนี้ควรจะต้องแยกที่อยู่ไปเลย
ถ้าเกิดอยู่ในบ้านเดียวกันก็ต้องแยกห้องอยู่ อาหารก็ควรแยกกันรับประทาน ส่งข้าวส่งน้ำในห้องของคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องแยกกันชัดเจน”
HD ถามต่อว่า หากไม่ใช่คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาก แต่อยากให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ก็ต้องใช้มาตรการเดียวกันไหม
“ถ้าไม่ได้มีความเสี่ยง หรือไม่มีอาการ เราก็ยังต้องรักษาระยะ Social distancing เหมือนเดิม ต้องห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาได้จะดีที่สุด กินข้าวก็แยกจาน ไม่ควรใช้จานกลางรวมกัน
ส่วนห้องน้ำมีข้อมูลว่า เชื้อไวรัสโควิดสามารถออกมาทางอุจจาระได้ ถ้าต้องเข้าห้องน้ำข้างนอก หรือกับคนในบ้านที่มีความเสี่ยงติดโควิด ควรกดน้ำก่อนและหลังใช้ โดยจะต้องปิดฝาชักโครกเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย ถ้าหากว่า ทำได้ ควรเอาแอลกอฮอล์ไปเช็ดฝาและที่รองนั่งด้วย"
หากไม่แน่ใจว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด ในช่วงที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่นี้ อาจใช้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านไปพบปะคนอื่นๆ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
เปิดหน้าต่างให้แดดส่องทั่วถึง จะช่วยฆ่าเชื้อได้ไหม?
มีการเผยแพร่ข้อมูลกันว่าเชื้อ COVID-19 ไม่สามารถทนความร้อนได้ ในอินเตอร์เน็ตก็มีการเผยแพร่ว่า รังสี UV จากแสงแดดสามารถกำจัดเชื้อ COVID-19 ได้ กรณีนี้คุณหมอคิดอย่างไร?
“ตัวที่มีการศึกษาชัดเจนจริงๆ คือ UVC แต่อันนั้นจะไม่ได้มากับแสงแดด มันไม่ผ่านชั้นโอโซน แต่มีอุปกรณ์ที่ใช้อบจริงๆ สามารถฆ่าเชื้อได้ ตัวแสงธรรมชาติก็เชื่อกันว่าสามารถฆ่าเชื้อได้เหมือนกัน
จากการศึกษาพบว่าต้องอยู่กลางแสงแดดอย่างน้อย 30 นาทีจึงจะฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ว่าก็ตอบยากอยู่ดี เพราะแต่ละพื้นผิวโดนแสงกระทบต่อตารางพื้นที่แตกต่างกัน ให้ชัวร์ที่สุดคือ ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาด”
สรุปประเด็นสำคัญ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ก็ยังคงเป็นการล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่พบปะพูดคุยกับผู้อื่น และหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ภายในบ้าน คอนโด ด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ หรือสูตรผสมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% กับน้ำ 1:5
เสื้อผ้าที่ใส่ออกนอกบ้าน ควรแยกทำความสะอาดกับเสื้อผ้าอื่นๆ ด้วยผงซักฟอก หรือสารฟอกขาวทั่วไป ก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้เช่นกัน เพียงเท่านี้คุณก็สามารถอยู่บ้านและคอนโดได้อย่างปลอดภัยจาก COVID-19
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจโควิด-19 (COVID-19) จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android