กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

ควรใช้เจลล้างมือเมื่อไร ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี?

ใช้เจลล้างมือให้ถูกที่ถูกเวลา ลดโอกาสติดเชื้อ COVID-19 ได้
เผยแพร่ครั้งแรก 18 มี.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 30 มี.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ควรใช้เจลล้างมือเมื่อไร ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ควรใช้เจลล้างมือหลังจากสัมผัสสิ่งแปลกปลอม ของใช้สาธารณะ หลังจากเข้าใกล้ผู้ที่มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
  • ควรเลือกเจลล้างมือที่มีระดับเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) 70% ขึ้นไป เพราะจะสามารถกำจัดเชื้อโรค หรือไวรัสได้ดีกว่า
  • กดเจลล้างมือปริมาณพอเหมาะที่จะถูต่อเนื่องได้นาน 20 วินาที โดยเน้นที่ซอกนิ้ว ซอกเล็บ และข้อมือ
  • เจลล้างมือเหมาะกับการกำจัดเชื้อโรคปริมาณเล็กน้อย หรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีอ่างล้างมือ แต่หากมีคราบสกปรกเห็นชัด ควรใช้น้ำสะอาดและสบู่มากกว่า
  • จากการทดลองในต่างประเทศพบว่า เชื้อ COVID-19 สามารถมีชีวิตได้นานสูงสุดถึง 9 วัน การหมั่นล้างมือทั้งด้วยน้ำ สบู่ และเจลล้างมือ จึงเป็นสิ่งสำคัญ (ดูแพ็กเกจบริการตรวจเชื้อโควิด-19 ระบบไดร์ฟทรู ได้ที่นี่)

การระบาดของ COVID-19 ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ทุกคนจึงควรป้องกันตนเองจากการติดเชื้อตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

หนึ่งในการป้องกันที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำความสะอาดมือด้วยเจลล้างมือ (Hand sanitizer, Alcohol gel) อย่างสม่ำเสมอ

ควรใช้เจลล้างมือเมื่อไร?

เจลล้างมือสามารถใช้ได้ตลอดเวลาหากสัมผัส หรือเข้าใกล้ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อ โดยเฉพาะข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • หลังจากสัมผัสกับผู้อื่น
  • หลังจากเข้าใกล้ผู้ที่มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด เช่น ไอ จาม
  • หลังจากขึ้น-ลง รถโดยสารสาธารณะ
  • หลังจากสัมผัสปุ่มลิฟต์
  • หลังจากสัมผัสของใช้สาธารณะอื่นๆ
  • ก่อนและหลังรับประทานอาหาร
  • ก่อนและหลังใช้บริการฟิตเนส

การใช้เจลล้างมือขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเหมาะสม หากอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปจากข้อความข้างต้น แต่มีเหตุที่สมควรใช้ก็สามารถใช้ได้โดยไม่เกิดอันตรายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เจลล้างมือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น หลีกเลี่ยงการให้เด็กเก็บเจลล้างมือไว้กับตัว เพราะสีสันและกลิ่นหอมของเจลล้างมือ อาจทำให้เด็กหลงผิดคิดว่า เป็นขนมได้

ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิดขณะที่เด็กใช้เจลล้างมือ

วิธีเลือกเจลล้างมือให้มีประสิทธิภาพ

เจลล้างมือที่ดีควรมีเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) หรือเอทานอล (Ethanol) ตั้งแต่ 70-95% จึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคได้มากกว่า เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสได้ดี

ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for disease control and prevention: CDC) ได้ให้ไว้ว่า 

หากเจลล้างมือมีระดับแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 70% หรือเจลล้างมือแบบไม่มีแอลกอฮอล์ จะทำได้เพียงแค่ลดการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบนฝ่ามือมากกว่าจะกำจัดเชื้อโรค (แต่ 70% ขึ้นไปสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่า)

วิธีใช้เจลล้างมือให้มีประสิทธิภาพ

เจลล้างมือสามารถยับยั้งจุลินทรีย์ (Microbes) ได้หลายประเภท แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธี ดังนี้

  • กดเจลล้างมือลงบนฝ่ามือให้เหมาะสม ปริมาณ 2-3 มิลลิลิตร ขนาดประมาณเหรียญ 10 บาท แต่ขึ้นอยู่กับความหนืดของเจลด้วย
  • ถูกับมือทั้ง 2 ข้างจนกว่าเจลจะแห้งสนิท ห้ามเช็ดออกก่อน (เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำงานฆ่าเชื้อเมื่อแห้ง) โดยเน้นตามซอกมุมต่างๆ ของมือ เช่น ซอกนิ้ว ซอกเล็บ
  • การถูเจลล้างมือทั้งสองข้างควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 วินาที จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่หากใช้เจลล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 95% ขึ้นไป จะทำให้ระเหยเร็วมาก

มือที่ถูเจลแอลกอฮอล์แต่ยังไม่แห้งสนิท ไม่ควรสัมผัสตา จมูก หรือปาก เพราะอาจเกิดอันตรายได้

เจลล้างมือกับน้ำและสบู่ แบบไหนดีกว่ากัน?

ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ดีกว่าเพราะสามารถกำจัดเชื้อโรคได้มากกว่า โดยเน้นการล้างอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20-30 วินาที และเน้นบริเวณที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เช่น ซอกเล็บ ซอกนิ้ว ข้อมือ

แต่เจลล้างมือ มักใช้เป็นทางเลือกสำรองหากไม่สามารถล้างมือด้วยน้ำและสบู่ได้ทันที เช่น ขณะอยู่บนรถโดยสาร 

นอกจากนี้เจลล้างมือยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ไม่สามารถกำจัดสารพิษหรือสิ่งสกปรกที่เห็นได้ชัดออกจากมือได้

ดังนั้นหากเป็นคราบสกปรกที่เห็นได้ชัด หรือเปรอะเปื้อนสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ควรใช้น้ำสะอาดและสบู่ล้างจึงจะเหมาะสมกว่า

โดยสรุปแล้ว เจลล้างมือถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำความสะอาดมือ พกพาง่าย และลดโอกาสในการติดเชื้อ COVID-19 ลงได้มาก 

จากการทดลองในต่างประเทศพบว่า เชื้อ COVID-19 สามารถมีชีวิตได้นานสูงสุดถึง 9 วัน

ดังนั้นหากสัมผัสปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่กล่าวไป แล้วไม่สามารถหาห้องน้ำล้างมือได้ การใช้เจลทำความสะอาดฆ่าเชื้อจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการลดความเสี่ยงติด COVID-19

ดูแพ็กเกจบริการตรวจเชื้อโควิด-19 ระบบไดร์ฟทรู เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WHO, First Global Patient Safety Challenge Clean Care is Safer Care (https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/44102/9789241597906_eng.pdf;jsessionid=73378D7C9E52F7E85E12CEFD443E625C?sequence=1), 25 March 2020.
Medical news today, COVID-19: What you can do right now to stay safe (https://www.medicalnewstoday.com/articles/covid-19-what-you-can-do-right-now-to-stay-safe#How-to-stay-safe-where-you-live), 25 March 2020.
Hirose R, Nakaya T, Naito Y, Daidoji T, Bandou R, Inoue K, Dohi O, Yoshida N, Konishi H, Itoh Y. 2019, Situations leading to reduced effectiveness of current hand hygiene against infectious mucus from influenza virus-infected patients (https://msphere.asm.org/content/4/5/e00474-19), 23 March 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)