รับประทานยาแล้วควรดื่มน้ำตามเท่าไหร่?!?

เผยแพร่ครั้งแรก 21 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
รับประทานยาแล้วควรดื่มน้ำตามเท่าไหร่?!?

เคยสังเกตมั้ยคะว่าเวลาที่รับประทานยาเม็ด คุณผู้อ่านดื่มน้ำตามมากแค่ไหน? ...เหมือนกันทุกครั้งหรือไม่?? ...แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น???

  • บางคนอาจดูจากจำนวนเม็ดยาที่ต้องใช้
  • บางคนก็ดูจากขนาดของเม็ดยา
  • บางคนดูจากการเคี้ยวหรือไม่เคี้ยวก่อนกลืน
  • บางคนดูจากคำแนะนำพิเศษบนฉลากยา
  • บางคนดูจากปริมาณน้ำลายในปาก (อี๋...)
  • หรือบางคนก็อาจไม่ดูจากอะไรเลย แล้วแต่อารมณ์จะนำพา ...ว่างั้น!?!

และนอกจากจะดื่มน้ำตามหลังการรับประทานยาแล้ว บางคนยังดื่มน้ำก่อนเพื่อเป็นการเปิดทาง ให้ยาที่กำลังจะใช้เดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย (ฮ่า)

ทำไมเราต้องดื่มน้ำตามหลังรับประทานยาด้วยล่ะ??? 

จุดประสงค์หลักก็คือเพื่อพายาเคลื่อนผ่านหลอดอาหารลงไปสู่กระเพาะได้โดยสวัสดิภาพค่ะ ไม่ใช่เพื่อความปลอดภัยของเม็ดยานะคะ แต่เพื่อความปลอดภัยของคุณเองนั่นแหละ เพราะหากเม็ดยาติดค้างอยู่ในหลอดอาหาร เมื่อแตกตัวอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบตามมาได้

และเมื่อมีน้ำหรือของเหลวในกระเพาะอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะละลายยาและทำให้เกิดการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ไปออกฤทธิ์รักษาตามที่ต้องการนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ การดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ ตามหลังการรับประทานยาบางชนิดซึ่งละลายได้ยาก จะป้องกันการตกตะกอนของยาและเกิดเป็นนิ่วในไตได้ด้วยนะคะ

แล้วควรดื่มน้ำเท่าไหร่ ในการรับประทานยาแต่ละครั้ง???

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องจำกัดน้ำ เมื่อใช้ยาทั่วไปที่ไม่มีคำแนะนำเป็นพิเศษ ควรรับประทานพร้อมกับน้ำในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่า 100 – 150 มิลลิลิตรนะคะ เนื่องจากมีการศึกษาที่ชี้ว่าปริมาณน้ำดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการพายาผ่านหลอดอาหารได้สำเร็จมากกว่า 80% แม้แต่ผู้ป่วยที่อยู่ในท่านอน

ส่วนยาที่แนะนำให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ ควรรับประทานพร้อมกับน้ำในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่า 1 แก้วขนาด 8 ออนซ์ หรือประมาณ 240 มิลลิลิตรค่ะ

แล้วคุณล่ะ... ดื่มน้ำมากพอหรือยัง???

มีงานวิจัยของเยอรมนี ศึกษาว่าผู้ป่วยที่มารับบริการในร้านยา ทั้งที่ซื้อยาตามใบสั่งแพทย์และยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ซึ่งประสงค์จะรับประทานยาทันที จะดื่มน้ำมากหรือน้อยแค่ไหนเมื่อได้รับแก้วที่บรรจุน้ำ 150 มิลลิลิตร

และพบว่า ในจำนวนผู้ป่วย 136 คน มี...

  • 15.4% ดื่มน้ำ 0 – 60 มิลลิลิตร (หนึ่งในนั้นกลืนยาโดยไม่รอน้ำจากเภสัชกรค่ะ …อั๊ยย่ะ!)
  • 20.6% ดื่มน้ำ 61 – 100 มิลลิลิตร
  • 64.0% ดื่มน้ำ 101 – 150 มิลลิลิตร

อายุและเพศของผู้ป่วย (หญิงและชายอายุตั้งแต่ 15 – 83 ปี), สภาพอากาศ (ร้อนและเย็น), ลักษณะของเม็ดยา (เม็ดยาเคลือบ, เม็ดยาไม่เคลือบ, เม็ดแคปซูล) ไม่มีผลต่อการดื่มน้ำค่ะ แต่สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าควรดื่มน้ำมากหรือน้อยก็คือขนาดของเม็ดยา โดยผู้ป่วยที่ใช้เม็ดยาที่มีขนาดใหญ่จะดื่มน้ำมากกว่าผู้ป่วยที่ใช้เม็ดยาที่มีขนาดเล็ก

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า... เม็ดยาใหญ่ ๆ ใคร ๆ ก็กลัว ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ใหญ่ หรือว่าเด็ก (ฮ่า)

จากงานวิจัยดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ดื่มน้ำตามหลังรับประทานยาได้เหมาะสม แต่ก็มีประมาณ 15% ที่ดื่มน้ำน้อยมาก จนอาจเกิดอันตรายจากยาหรือไม่ได้ผลที่ดีในการรักษา

แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะ... ดื่มน้ำมากพอหรือไม่ในเวลาที่ต้องรับประทานยา???


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
The amount of liquid patients use to take tablets or capsules. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4139049/)
How much water should you drink?. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/how-much-water-should-you-drink)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป