ทีมแพทย์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์ HD

เด็กสมาธิสั้น

รู้จักสาเหตุ อาการ ของเด็กสมาธิสั้น ความผิดปกติที่เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม สมาธิสั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่มีแนวทางปฏิบัติซึ่งทำให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้
เผยแพร่ครั้งแรก 29 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
เด็กสมาธิสั้น

เด็กสมาธิสั้น หรือเด็กที่มีอาการซึ่งทางภาษาการแพทย์ว่า Attention deficit and hyperactivity disorder (ADHD) เป็นกลุ่มอาการที่ประกอบด้วยความผิดปกติ 3 ด้าน ได้แก่ ขาดสมาธิ (attention deficit) หุนหันพลันแล่น (impulsivity) และซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) โดยความผิดปกติดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่ควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม และการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม (social interaction) จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า เด็กวัยประถมมีโรคสมาธิสั้นประมาณ 5 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการศึกษาในเด็กจากประเทศอเมริกาและทั่วโลก

เด็กสมาธิสั้น มีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของโรคสมาธิสั้นในเด็ก คล้ายกับโรคพฤติกรรมอื่นๆ คือเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยด้านพันธุกรรม และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยปัจจัยด้านพันธุกรรมเกิดจากการส่งต่อสารพันธุกรรมที่ผิดปกติจากพ่อแม่สู่ลูก หรืออาจเกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรมในตัวของเด็กเองก็ได้ นำไปสู่การขนาดและการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องผิดปกติ โดยเฉพาะสารสื่อประสาท (neurotransmittors) ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยทางกายภาพที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองในวัยเด็ก อาทิ การขาดสารอาหารบางชนิด การติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อในสมองหรือการติดเชื้อในครรภ์มารดา การได้รับควันบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะน้ำหนักตัวน้อยตั้งแต่แรกเกิด รวมถึงการได้รับสารบางชนิด โดยเฉพาะโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูที่ผิดวิธี ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้น แต่เป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นในโรคเป็นรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการของเด็กสมาธิสั้น

อาการส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ปกครองนำเด็กมาพบแพทย์ มักเป็นปัญหาด้านการเรียนหรือปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น การมีผลการเรียนที่ตกต่ำลง ชอบเดินไปเดินมาในห้องเรียน ชวนเพื่อนคุย จนบางครั้งถูกมองว่าเป็น “ตัวกวน” ของชั้นเรียน ซนมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน ใจลอย และขาดสมาธิ โดยทั่วไปแล้วอาการของโรคสมาธิสั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ คือ

  1. อาการขาดสมาธิ (attention deficit) เด็กมักขาดสมาธิในงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ซึ่งจะสังเกตได้ชัดในงานที่ต้องใช้สมาธิมาก เช่น การเรียนหนังสือ หรือการทำการบ้าน โดยอาจแสดงออกมาทางการเหม่อลอย จนในที่สุดไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จได้ นอกจากนี้อาการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือชอบทำของหายบ่อย โดยเฉพาะอุปกรณ์การเรียน เด็กอาจขี้ลืมบ่อย อาจเป็นการลืมทำการบ้านที่ครูสั่ง หรือลืมหยิบสมุดการบ้านกลับมาก
  2. อาการซน (impulsivity) สังเกตได้จากการซนมากกว่าเด็กในวัยเดียวกันคนอื่นๆ อยู่นิ่งไม่ได้ หยุกหยิก ขยับตัวไปมา ชอบเดินรอบห้องหรือชวนเพื่อนคุยขณะครูสอน พูดมาก อาการดังกล่าวมักได้รับการรายงานจากครูประจำชั้น เด็กเหล่านี้มักชอบกิจกรรมที่ต้องออกแรง หรือโลดโผน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
  3. อาการหุนหันพลันแล่น (hyperactivity) เด็กมักรอคอยอะไรไม่ได้ เช่นการต่อแถวซื้ออาหาร ชอบพูดโพล่งในสิ่งที่ตัวเองคิดทันที เช่นการตอบคำถามทันทีทั้งที่ยังฟังไม่จบ ชอบพูดแทรกระหว่างบทสนธนาของคนอื่น อาจสังเกตได้จากการพูดแทรกขณะครูกำลังสอน เวลาเจอของที่สนใจหรือต้องการจะวิ่งตรงเข้าไปหาทันทีโดยไม่ขออนุญาต เช่นเห็นของเล่นที่ชอบในห้าง

อาการทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ ความไม่ใส่ใจ หรือไม่เชื่อฟัง แต่เป็นไปตามการทำงานของสมองและสารสื่อประสาทที่ผิดปกติตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น

ภาวะแทรกซ้อนและภาวะที่พบร่วมกับโรคสมาธิสั้น

เด็กสมาธิสั้นมักมีภาวะขาดสมาธิ ซน และหุนหันพลันแล่น อาจทำให้สังคมมองว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียน ขาดความรับผิดชอบ เหม่อลอยไม่สนใจเรียนจนทำให้ผลการเรียนตกต่ำ พฤติกรรมบางอย่างเช่นการชวนเพื่อนคุยในห้องทำให้ขัดขวางบรรยากาศการเรียน การไม่เชื่อฟังครูอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าว การแกล้งเพื่อน การเข้ากลุ่มเล่นกับเพื่อนทันทีโดยไม่ขออนุญาต อาจทำให้เข้ากับเพื่อนไม่ได้ การไม่สามารถรอคอยคิวได้ หงุดหงิดง่าย ชอบเล่นโลดโผน อาจทำให้ดูเป็นเด็กไม่เรียบร้อย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากคนภายนอกที่ไม่เข้าใจถึงภาวะที่เด็กเป็นจะทำให้รู้สึกว่าเป็นเด็กไม่น่ารัก เกเร ไม่ตั้งใจเรียน แต่แท้จริงเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

ภาวะที่พบร่วมกับโรคสมาธิสั้นจะคล้ายคลึงกับภาวะแทรกซ้อนที่ได้กล่าวไปในข้างต้น โดยส่วนมากจะเป็นโรคหรือปัญหาทางพฤติกรรม เช่น ภาวะดื้อ (oppositional defiant disorders) ซึ่งเป็นภาวะร่วมที่พบได้บ่อยที่สุด ภาวะวิตกกังวล (anxiety disorders) ภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ (learning disorders) ความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorders) พฤติกรรมอันธพาล (conduct disorders) หรือการใช้สารเสพย์ติด เป็นต้น

การวินิจฉัยเด็กสมาธิสั้น?

การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น สามารถทำได้โดยการซักประวัติจากพ่อแม่และครูที่โรงเรียน โดยเกณฑ์ที่วัดว่าเด็กมีโรคสมาธิสั้น ได้แก่ มีอาการขาดสมาธิหรืออยู่ไม่นิ่ง-หุนหันพลันแล่นก่อนอายุ 7 ปี ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน มีอาการอย่างน้อยใน 2 สถานการณ์ขึ้นไป เช่น มีอาการทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน อาการต้องส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง และอาการต้องไม่เข้ากับโรคทางจิตเวชอื่นๆ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มตามลักษณะอาการเด่น ได้แก่ ชนิดขาดสมาธิ ชนิดซน-หุนหันพลันแล่น และชนิดผสม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เด็กสมาธิสั้น รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ และควรมีวิธีการดูแลอย่างไร?

โรคสมาธิสั้นเป็นโรคประจำตัว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม สมอง และสารสื่อประสาท โดยทั่วไปอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูที่ถูกต้องร่วมกับการรักษาที่เหมาะสมสามารถทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ จนสามารถใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

วิธีการดูแลรักษาโรคสมาธิสั้นต้องอาศัยบุคคลหลายฝ่ายร่วมมือกัน ได้แก่ แพทย์และสหวิชาชีพบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่น พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว รวมถึงครูที่โรงเรียน

ในส่วนของแพทย์ เป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยหาภาวะแทรกซ้อนและโรคร่วมที่เกิดขึ้น ให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ปกครองและครู รวมถึงการใช้ยาชนิดรับประทานในการรักษา โดยการรักษาด้วยยานั้นเป็นการรักษาเพื่อควบคุมอาการให้ผู้ป่วยสามารถฝึกทักษะในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น เช่น มีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น เข้ากับเพื่อนคนอื่นๆ ได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้อาการหายขาดได้ โดยองค์การอาหารและยาอนุญาตให้ใช้ยาดังกล่าวในเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้การใช้ยาต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ เนื่องจากมีเป็นยาที่อาจมีผลข้างเคียงรุนแรงได้

พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวมีส่วนอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น โดยต้องเริ่มจากการเข้าใจในตัวโรคของผู้ป่วย เข้าใจว่าผู้ป่วยไม่ได้แกล้งทำหรือเรียกร้องความสนใจ รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านในเหมาะสมกับการฝึกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น กำหนดเวลาทำกิจวัตรประจำวันให้ชัดเจน ในตัวบ้านควรมีสภาพแวดล้อมที่สงบ ใช้สีที่สบายตา ไม่มีของรกรุงรัง หากต้องการสั่งงานให้ทำ ต้องบอกล่วงหน้าด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน และต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยกำลังให้ความสนใจกับคำสั่ง งานที่สั่งให้ทำควรเริ่มต้นงานที่ใช้เวลาไม่นานเกินไป ในส่วนของงานที่ต้องใช้เวลานานควรแบ่งงานเป็นหลายๆ ช่วง ให้ทำทีละช่วง เมื่อทำงานเสร็จให้ชมทันที หากเริ่มมีอาการของโรค ให้ลองเบี่ยงเบนความสนใจและดึงกลับเข้ามาในงานที่ทำอีกครั้ง สามารถมีบทลงโทษได้ แต่ต้องเป็นบทลงโทษที่ตกลงกันมาก่อน และไม่รุนแรงเป็นเพียงการเตือนว่าทำผิดเท่านั้น อีกเรื่องที่สำคัญเช่นกันคือ พ่อแม่ต้องจำกัดเวลาการดูสื่อหน้าจอให้เหมาะสมตามอายุของเด็ก นอกจากนี้พ่อแม่ต้องแสดงพฤติกรรมที่ดี เป็นแบบอย่างให้แก่เด็กที่กำลังฝึก

ที่โรงเรียน ควรให้เด็กนั่งแถวหน้าใกล้ครู มีกฎระเบียบชัดเจน ครูต้องชื่นชมทันทีที่เด็กทำตามหน้าที่ตนเองได้ หากเริ่มมีพฤติกรรมก่อกวน ครูควรเตือน หรือเบี่ยงเบนความสนใจโดยให้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงาน เช่น ให้ช่วยแจกสมุดให้เพื่อน กิจกรรมดังกล่าวจะทำให้เด็กลดพลังงานลงและควบคุมตัวเองได้มากขึ้น

โดยสรุป โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่ไม่หายขาดเนื่องจากมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง การเลี้ยงดูที่ผิดวิธีไม่ได้ทำให้เป็นโรค แต่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น แต่สามารถทำให้โรคดีขึ้นได้จากการร่วมมือของบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ตัวเด็กที่สุด


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วิฐารณ บุญสิทธิ และคณะ, แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น ระดับโรงพยาบาลจังหวัดสําหรับกุมารแพทย์. 2553.
Wacharasindhu A, Panyayong B. Psychiatric Disorder in Thai School-Aged Children : I Prevalence. J Med Assoc Thai 2002;85(suppl1): S125-S136.
Polanczyk G, Silva de Lima M, Horta BL, Biederman J, Rohde LA. The Worldwide Prevalence of ADHD: A Systematic Review and Metaregression Analysis. Am J Psychiatry 2007; 164:942– 948.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป