รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับ “เครื่องช่วยฟัง”

เครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์ช่วยสำหรับผู้มีปัญหาการได้ยิน เครื่องช่วยฟังมีหลายชนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำชนิดที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน
เผยแพร่ครั้งแรก 25 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับ “เครื่องช่วยฟัง”

บทความนี้เขียนโดย นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล

ในผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาในการได้ยิน แต่จะพบผู้สูงอายุเพียงบางท่านเท่านั้นที่ใส่เครื่องช่วยฟัง จากการสำรวจในประเทศเยอรมนีพบว่า มีผู้สูงอายุที่ต้องใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อช่วยในการได้ยินประมาณ 60% ของผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการได้ยินทั้งหมด และผู้ใช้เครื่องช่วยฟังมีเพียง 15% เท่านั้น นอกจากนี้เครื่องช่วยฟังยังถูกนำมาใช้ในเด็กบางคนที่มีปัญหาด้านการได้ยินอีกด้วย เพื่อป้องกันปัญหาด้านพัฒนาการ การสื่อสาร และการเข้าใจภาษา ดังนั้นเครื่องช่วยฟังจึงมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการได้ยิน ใครบ้างที่ควรใช้เครื่องช่วยฟัง เครื่องนี้ช่วยในภาวะใด มีแบบไหนบ้าง ทำงานอย่างไร สามารถหาคำตอบได้จากบทความดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยภาวะใดได้บ้าง?

เครื่องช่วยฟังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยขยายเสียงจากภายนอกเข้าไปในอวัยวะรับเสียง จึงทำให้ผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยินรับเสียงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถสื่อสารด้วยเสียงได้เหมือนกับบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ในเด็กบางคนที่มีปัญหาด้านการได้ยิน เครื่องช่วยฟังสามารถช่วยไม่ให้เด็กมีภาวะพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าหรือบกพร่องได้

โดยทั่วไปแล้วปัญหาในการได้ยินมักจะไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าการสูญเสียการได้ยินนั้นถือเป็นความพิการอย่างหนึ่ง ผู้ที่สูญเสียการได้ยินเป็นระยะเวลานานๆ หากขาดการดูแลรักษา และไม่ได้ใส่เครื่องช่วยฟังในกรณีที่จำเป็น จะมีผลกระทบต่อสมองส่วนที่รับเสียงและแปลความหมายได้ ทำให้สมองบริเวณนั้นฝ่อลงเรื่อยๆ จากการไม่ได้ใช้งาน จนในที่สุดจะมีปัญหาในการเข้าใจภาษาพูด แม้จะกลับมาได้ยินเสียงชัดเจนเหมือนเดิม

ใครบ้างที่ต้องใช้ เครื่องช่วยฟัง?

การพิจารณาใช้เครื่องช่วยฟังควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก เนื่องจากสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน บางรายอาจรักษาให้หายได้โดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง ดังนั้นไม่ควรหาซื้อเครื่องช่วยฟังมาใช้เอง และการใช้เครื่องช่วยฟังอย่างไม่เหมาะสมอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อแก้วหูได้

ผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟังและมีข้อบ่งชี้ในการใช้เครื่องนี้ ได้แก่

  1. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยให้การได้ยินดีขึ้นด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด ซึ่งหมายรวมถึงผู้ที่สามารถผ่าตัดแล้วการได้ยินดีขึ้นได้ แต่ด้วยภาวะโรคในขณะนั้นไม่สามารถผ่าตัดได้
  2. ผู้ป่วยที่ปัญหาการได้ยินนั้นมีผลต่อการเข้าใจภาษาพูดหรือการสื่อความหมายด้วยเสียง
  3. ผู้ป่วยเด็กสูญเสียการได้ยิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษา

เครื่องช่วยฟังมีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบทำงานอย่างไร ราคาประมาณเท่าไร?

เครื่องช่วยฟังมีหลายประเภท ซึ่งจะพิจารณาแบ่งตามเทคโนโลยีเสียงและลักษณะรูปร่าง ดังนี้

  • แบ่งตามเทคโนโลยีเสียง
    1. แบบอนาล็อก (Analog hearing aids) ในรูปแบบนี้จะขยายคลื่นเสียงที่เข้ามาในตัวรับเสียงทั้งหมดเข้าไปในอวัยวะรับเสียง ทั้งเสียงพูดและเสียงรบกวนรอบข้าง เช่น เสียงเครื่องปรับอากาศ เสียงลมพัด ไปพร้อมๆ กัน แบบอนาล็อกบางรุ่นมีไมโครชิพสามารถตั้งค่าสิ่งแวดล้อมในโหมดต่างๆได้ เช่น ในโหมดเงียบใช้กับห้องสมุด โหมดในที่มีคนพลุกพล่านใช้กับร้านอาหาร โหมดที่มีเสียงรบกวนมากใช้ในสนามกีฬา เป็นต้น เครื่องช่วยฟังแบบนี้ปัจจุบันได้รับความนิยมต่ำเพราะมีปัญหาด้านเสียงรบกวน และต้องคอยเปลี่ยนโหมดการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันออกไป
    2. แบบดิจิทัล (Digital hearing aids) ในรูปแบบนี้จะมีหน่วยประมวลผลอยู่สามารถวิเคราะห์แยกเสียงพูดกับเสียงจากสิ่งแวดล้อมออกจากกันได้ ซึ่งจะเปลี่ยนคลื่นเสียงภายนอกเป็นสัญญาณดิจิทัลก่อนเพื่อวิเคราะห์สัญญาณ และเปลี่ยนกลับเป็นคลื่นเสียงที่เหมือนกับต้นกำเนิดเสียงเข้าไปในอวัยวะรับเสียง ทำให้แก้ปัญหาเสียงรบกวนได้ แบบดิจิทัลสามารถตั้งโปรแกรมให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ รวมถึงในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยี AI (Artificial intelligence) เข้ามาใช้ในอุปกรณ์รูปแบบนี้ทำให้เรียนรู้และปรับสภาพเครื่องช่วยฟังให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงขึ้นด้วย
  • แบ่งตามลักษณะรูปร่าง
    1. แบบแขวนหลังใบหู (Behind-the-ear: BTE) ตัวเครื่องวางอยู่บริเวณหลังใบหู เป็นแบบที่นิยมใช้กันทั่วไปทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากทำความสะอาดได้ง่าย และปรับขนาดเครื่องช่วยฟังได้เมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ
    2. แบบวางบนหู (Mini BTE หรือ On-the-ear) ลักษณะคล้ายแบบแขวนหลังใบหู แต่มีขนาดเล็กกระทัดรัดกว่า
    3. แบบใส่ในช่องหู (In-the-ear, In-the-canal, Completely-in-the-canal) เครื่องช่วยฟังจะมีขนาดเล็กใส่เข้าไปในรูหูทั้งเครื่อง ทำให้มีประโยชน์ทางด้านความสวยงาม แต่ก็ดูแลรักษาได้ยากกว่าแบบอื่น

ราคาของเครื่องช่วยฟังนั้นขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเสียง รูปร่างและการออกแบบ รวมถึงในปัจจุบันมีการนำมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนหูฟังไร้สาย (True wireless stereo: TWS) เช่น การเชื่อมต่อฟังเพลงดูหนัง และการโทรในมือถือ การรับเสียงจากโทรทัศน์ทำให้ดูร่วมกับคนอื่นๆ ในบ้านได้ การติดไมโครโฟนที่ห้องประชุมให้เชื่อมต่อกับเครื่องช่วยฟัง เป็นต้น ซึ่งก็จะทำให้ราคาเครื่องช่วยฟังสูงขึ้นตามไปด้วย โดยปกติสิทธิ์เบิกสวัสดิการประกันสังคม สิทธิ์ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานต้นสังกัด จะสามารถซื้อเครื่องช่วยฟังราคาสูงสุดได้ประมาณ 12,000-13,000 บาทต่อข้าง ซึ่งราคานี้สามารถซื้อแบบแขวนหลังใบหูและใส่ในช่องหูได้

การใช้และเก็บรักษาเครื่องช่วยฟังที่ถูกต้องทำอย่างไร

การปรับใช้เครื่องช่วยฟังควรที่จะได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก ใช้ใส่เพื่อช่วยฟังและเก็บดูแลรักษาเสมือนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วๆ ไป คือ หลีกเลี่ยงการโดนน้ำ และความชื้นต่างๆ ไม่ใส่อาบน้ำ ไม่ใส่ตากฝน ระมัดระวังการกระทบกระเทือน การทำหล่น วิธีทำความสะอาดให้ใช้ผ้านุ่มๆแห้งๆเช็ดทำความสะอาด ไม่ใช้ของแหลมเขี่ยสิ่งสกปรกในเครื่องช่วยฟัง ควรถอดแบตเตอรี่ออกเมื่อไม่ได้ใช้เป็นเวลานานๆ และซื้อแบตเตอรี่จากบริษัทผู้ผลิตเท่านั้น เพราะแบตเตอรี่เป็นแบบพิเศษ จ่ายกระแสไฟฟ้าสม่ำเสมอ ซึ่งต่างจากแบตเตอรี่กลมแบนของนาฬิกาทั่วไป


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย, เครื่องช่วยฟัง (HEARING AIDS) (http://www.rcot.org/2016/People/Detail/81).
U.S. Food and Drug Administration, Types of Hearing Aids, (https://www.fda.gov/medical-devices/hearing-aids/types-hearing-aids), 16 January 2018.
Ulrich Hoppe, Hearing aids: indications, technology, adaptation, and quality control, (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5738937/), 18 December 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป